ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรคกระจายวัคซีนโควิดให้สถานพยาบาล จุดฉีดต่างๆ คิกออฟ 7 มิ.ย. ฉีดพร้อมกันทั่วประเทศ กทม.ได้มากสุด เหตุจำนวนประชากรและการระบาดสูงสุด ด้าน สปสช.พร้อมจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นกรณีฉีดแล้วมีอาการไม่พึงประสงค์ ไม่ต้องรอการตรวจสอบ เพิ่มความมั่นใจปชช. ด้าน “หมอนคร” เดินหน้าเป้าหมายวัคซีน 100 ล้านโดสในปี 64

เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 2 มิถุนายน 2564 องค์การอนามัยโลก องค์การยูนิเซฟ กระทรวงสาธารณสุข สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) จัดบรรยายสรุปสำหรับนักข่าวไทย เรื่อง ข้อมูลโควิดและการกระจายวัคซีนในประเทศไทย โดยมีผู้แทนองค์การอนามัยโลก ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข และผู้เกี่ยวกับในการบริหารจัดการการกระจายวัคซีนมาให้ข้อมูลผ่านออนไลน์ทาง Zoom

(ข่าวเกี่ยวข้อง : องค์การอนามัยโลกอัปเดตข้อมูลสื่อมวลชนไทย หลากหลายคำถาม “วัคซีนโควิด-19”)

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในวันที่ 7 มิ.ย.นี้จะเป็นวันที่เริ่มต้นการฉีดจำนวนมากในทุกพื้นที่ ซึ่งครั้งนี้จะมีวัคซีนทั้งแอสตราเซเนกา และซิโนแวค การจัดการจะมีทั้งการเตรียมการพื้นที่กรุงเทพมหานคร ร่วมกับกทม. และต่างจังหวัดจะมีโรงพยาบาลระดับจังหวัด โรงพยาบาลรัฐสังกัดอื่นๆ ร่วมดำเนินการ ทั้งนี้ จุดใหญ่เช้าวันที่ 7 มิ.ย.นี้จะอยู่ที่สถานีกลางบางซื่อ ที่ผ่านมาได้มีการทดสอบระบบแล้ว โดยครั้งนี้จะเป็นการฉีดให้กลุ่มที่ 2 คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปและผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ซึ่งคนที่จองสิทธิฉีดและขึ้นทะเบียนผ่าน “หมอพร้อม” ตั้งแต่พ.ค.ที่ผ่านมาก็จะได้รับการฉีดวัคซีนตามนัดหมายของสถานพยาบาล ส่วนการลงทะเบียนเพิ่มเติมอื่นๆก็จะเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ของแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนมีความสะดวกมากขึ้น

“ลักษณะการฉีดวัคซีนวันที่ 7 มิ.ย. จะทำให้เห็นว่าการเข้าถึงการฉีดวัคซีนเป็นอย่างไร โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่มคือผู้สูงอายุ และผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง และมีระบบการติดตามอาการไม่พึงประสงค์ด้วย ซึ่งขณะนี้ทุกโรงพยาบาลได้ทยอยรับวัคซีนเพื่อเตรียมการแล้ว และจะคิกออฟพร้อมกันในวันที่ 7 มิ.ย.นี้ ส่วนชาวต่างชาติเข้าถึงได้เช่นกัน แต่เป็นการลงทะเบียนล่วงหน้า” นพ.โสภณ กล่าว และว่า การกระจายวัคซีน จะส่งเป็นงวด 4 งวดในเดือนมิ.ย.นี้ โดย 1-2 วันนี้ได้ส่ง 240,000 โดส และจะส่งวัคซีนแอสตราฯ อีกล้านกว่าโดสช่วงท้ายสัปดาห์ ดังนั้น ทั้งเดือน มิ.ย.จะมีการส่งวัคซีนไปยังรพ.ต่างๆประมาณ 5-6 ล้านโดส ส่วนจังหวัดที่ห่างออกไปและไม่มีการระบาดมากก็จะได้รับจำนวนวัคซีนลดลง แต่จะได้ครบแน่นอนทุกจังหวัดและครบทุกคนภายใน 4-5 เดือนนี้

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร

นพ.โสภณ กล่าวย้ำว่า ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และ ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค ที่ลงทะเบียนหมอพร้อม มีแนวโน้มได้รับวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าเป็นหลัก แต่ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ด้วย โดยคาดว่าในวันที่ 7 มิ.ย. นี้ อาจมีการฉีดวัคซีนได้มากถึง 5 แสนโดส ทั้งนี้การฉีดวัคซีนในปัจจุบันที่พบว่าฉีดได้ในจำนวนคนที่ไม่มากนักเนื่องจากเพราะยังมีวัคซีนจำนวนที่น้อยอยู่แต่ศักยภาพในการฉีดหากมีปริมาณวัคซีนมากพอสามารถฉีดได้ถึง เดือนละ 10 ล้านโดส ส่วนสัดส่วนการกระจายวัคซีนในพื้นที่กทม. ยอมรับว่า เนื่องจากกทม.เป็นพื้นที่ที่มีประชากรจำนวนมาก และ เป็นพื้นที่ระบาด ในเบื้องต้น 2 สัปดาห์แรก จะมีการจัดสรรวัคซีนให้ 5 แสนโดส จากเดิมที่ขอไว้ 1 ล้านโดส

ผู้สื่อข่าวถามย้ำกรณีคนที่จองฉีดวัคซีนผ่าน “หมอพร้อม” จะได้วัคซีนชนิดใด นพ.โสภณ กล่าวว่า คนที่จองผ่านระบบหมอพร้อม ที่จะฉีดตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.เป็นต้นไป จะได้รับการฉีดวัคซีนแอสตราฯ เป็นหลัก แต่ก็ขึ้นอยู่กับข้อบ่งชี้ทางการแพทย์และสาธารณสุขด้วย ส่วนจำนวนวัคซีนนั้น เนื่องจากเราได้ส่งมอบเป็นระยะนั้น ในส่วนกทม. จะได้สัดส่วนสูงกว่าจังหวัดอื่นๆ เพราะประชากรมากกว่าจังหวัดอื่นและสถานการณ์การแพร่ระบาด น่าจะได้ประมาณ 1 ล้านโดส โดยส่งครั้งแรก 5 แสนกว่าโดสใน 2 สัปดาห์แรก มีทั้งแอสตราฯและซิโนแวค

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เราสนับสนุนค่าบริการฉีดวัคซีนโควิด ซึ่งจุดเด่นของการฉีดวัคซีนครั้งนี้คือ สามารถฉีดนอกรพ.ได้ โดยสปสช.มีกระบวนการสนับสนุนค่าบริการฉีดวัคซีนตรงนี้ นอกจากนี้ ในส่วนอาการไม่พึงประสงค์ สปสช. ก็เตรียมงบประมาณสำหรับค่าเสียหายเบื้องต้น โดยไม่ต้องรอการตรวจสอบ คือ หากฉีดแล้วมีอาการไม่พึงประสงค์ ผู้เสียหายสามารถยื่นเรื่องมาที่สปสช. จะมีคณะกรรมการพิจารณาให้แล้วเสร็จใน 5 วัน ซึ่งตรงนี้จะเพิ่มความมั่นใจให้กับประชาชนที่มาฉีดทุกคน

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีอาการหลังรับวัคซีนมีข้อบ่งชี้หรือไม่ต้องอาการลักษณะใดจึงยื่นเรื่องขอเยียวยาได้ นพ.จเด็จ กล่าวว่า ไม่ได้มีการกำหนดว่าอาการใดยื่นได้ หรือยื่นไม่ได้ แต่หากผู้รับวัคซีนสงสัยว่า มีอาการ เกี่ยวข้องกับวัคซีนก็ให้ยื่นเรื่องมาได้ตลอด หรือง่ายที่สุดไปปรึกษากับแพทย์ ว่า หากเกี่ยวกับวัคซีนก็จะช่วยดำเนินการเยียวยาให้ ซึ่งวัคซีนที่ใช้ทั้งหมดเป็นการใช้ภาวะฉุกเฉิน หากมีอาการแล้วสงสัยให้รีบแจ้ง ซึ่งทางรัฐบาลมีการเตรียมการรองรับช่วยเหลือตรงนี้ บางกรณีไม่ต้องรอผลจนถึงที่สุด เราสามารถช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้นได้ หลังจากนั้นก็จะมีทีมลงไปดูอีก ทั้งนี้ หากได้รับความเสียหายจากวัคซีน แม้จะมีประกันเอกชนก็สามารถยื่นเรื่องได้เช่นกัน

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี

เมื่อถามว่ามีการชดเชยค่าเสียหายไปแล้วกี่ราย นพ.จเด็จ กล่าวว่า ตั้งแต่เปิดเรื่องให้ยื่นชดเชยมา 2 สัปดาห์ มียื่นเรื่องมาแล้ว 250 ราย และมีการชดเชยไปแล้ว 150 ราย โดยอาการไม่พึงประสงค์ส่วนใหญ่นอนรพ. และเกิน 50 รายมีอาการชา และมีบางส่วนอาการนานเกิน 2 เดือน นอกนั้นก็จะมีอาการคลื่นไส้ อ่อนเพลียจนต้องนอนพัก รพ. ก็มีการชดเชยไป

นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีข่าวฟิลิปปินส์ที่ระบุว่า อาจได้รับวัคซีนแอสตราฯล่าช้า ว่า อาจเข้าใจผิด หากได้รับช้าน่าจะจากแอสตราฯ ไม่ใช่สยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งก็จะเป็นเรื่องของบริษัทแอสตราฯ กับประเทศนั้นๆ ตอบแทนไม่ได้ แต่ส่วนของเราก็เป็นไปตามกำหนด ดังนั้น การผลิตและกระจายวัคซีนบนสถานการณ์ตอนนี้ เป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ได้มีวัคซีนในคลัง แต่เป็นการผลิตและส่งมอบไป จึงขึ้นอยู่กับสถานการณ์การผลิตในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งทุกขั้นตอนจะมีการตรวจสอบอย่างครบถ้วน

“การใช้เวลาการผลิตอาจนานก็อาจเกิดขึ้นได้ แต่ในส่วนของต่างประเทศ เราคงรับฟัง แต่การจัดการจะเป็นของบริษัทแอสตราฯ แต่ของไทยเราก็ต้องพูดคุยว่า จะส่งมอบให้เราในช่วงเวลาอย่างไรต่อไป ซึ่งการผลิตเริ่มแล้ว มีวัคซีนส่งมอบแล้ว แต่ก็ต้องมาดูในเรื่องของช่วงเวลา หลายคนอาจคับข้องใจ แต่หากเราเข้าใจสถานการณ์ก็จะเข้าใจได้ เพราะทุกอย่างเป็นเรื่องฉุกเฉิน เป็นการผลิตไปใช้ไป แต่กระบวนการจัดสรรจะอยู่ที่การเจรจาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไทยเรามีการดำเนินการเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีวัคซีนส่งมอบได้ แต่ข้อตกลงที่เรามีกับแอสตราฯ คือ เราจะไม่ห้ามการส่งออกวัคซีน แต่การส่งออกจะอยู่ที่การปรึกษาหารือร่วมกัน เพราะความต้องการวัคซีนจะมีมากขึ้น จึงต้องเข้าใจสถานการณ์” นพ.นคร กล่าว

นพ.นคร กล่าวถึงการจัดหาวัคซีนอื่นๆ ว่า สำหรับนโยบายเตรียมการวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดสครอบคลุมประชากร 50 ล้านคน หรือ 70% ของประชากรภายในปี 2564 โดยขณะนี้เราจัดหา 2 ส่วน คือ วัคซีนซิโนแวคและแอสตราเซเนกา โดยแอสตราฯทยอยส่งมอบตั้งแต่เดือน มิ.ย.นี้ ผู้ดำเนินการคือสถาบันวัคซีนและกรมควบคุมโรค ส่วนซิดนแวค ทำสัญญาเรียบร้อยลแวจัดหา 10-15 ล้านโดส และได้รับบริจาคจากรัฐบาลจีน 1 ล้านโดส ส่งมอบแล้ว 6 ล้านโดส ที่เหลือทยอยส่งมอบเดือนละ 3 ล้านโดส ตั้งแต่ มิ.ย.เป็นต้นไป ซึ่งจะมีองค์การเภสัชกรรมและกรมควบคุมโรคดำเนินการ ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ อยู่ระหว่างต่อรองเงื่อนไขในสัญญาจัดหา 20 ล้านโดส คาดว่าภายในไตรมาส 3 ของปี 2564 และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน อยู่ระหว่างต่อรองเงื่อนไขในสัญญาจัดหา 5 ล้านโดส คาดว่าภายในไตรมาส 3 ของปี 2564 นอกนั้นก็อยู่ระหว่างดำเนินการ

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า ยังมีวัคซีนที่เจรจาอยู่ทั้งไฟเซอร์ สปุตนิก โดยอยู่ในเงื่อนไขต้องได้ภายในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ก่อนสิ้นปีจะมีวัคซีนตัวอื่นมาให้บริการคนในประเทศไทยเพิ่มเติม