ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มหันตภัยด้านสุขภาพที่กำลังคุกคามมนุษยชาติอยู่ในขณะนี้ กำลังบอกกับเราว่า โลกใบเก่าที่เราคุ้นชินอยู่ในขณะนี้จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป และในอนาคตอันใกล้ อาจเกิดวิกฤตการณ์ครั้งใหม่ขึ้นได้ทุกเมื่อ

โควิด-19 คือภาพสะท้อนของ One World, One Destiny หรือ “โลกที่มีชะตากรรมเดียวกัน” ทุกคนถูกผูกติดกันอย่างไม่อาจแยกขาด ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในซีกโลกหนึ่งสามารถส่งผลกระทบมาถึงอีกซีกโลกหนึ่งได้อย่างทันทีทันใด

การดำรงอยู่ในยุคสมัยที่อนาคตกำลังไล่ล่าจึงไม่ง่าย การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือวิกฤตการณ์ในทุกระดับคือหนทางเดียวที่จะช่วยให้เราหยัดอยู่บนโลกใบใหม่นี้ต่อไปได้ ซึ่งแน่นอนว่า คงไม่ใช่การดำเนินการโดยใครหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เพราะนั่นมีขนาดเล็กเกินไป เมื่อเทียบกับขนาดของปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่

โควิด-19 จึงเรียกร้องให้เกิดการสานพลังความร่วมมือ หนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือโครงการ COVAX ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ระดมสรรพกำลังในการผลิต-กระจายวัคซีนอย่างเป็นองค์รวม ตลอดจนการเปิดโครงการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวัคซีนภายในโครงการ COVAX ซึ่งเป็นกลไกการเยียวยาระดับโลก

ภาพเล็กลงมาระดับประเทศ เราได้เห็นรูปธรรมการข้ามผ่านสถานการณ์อันเลวร้ายของ “ชุมชนแออัดคลองเตย” คลัสเตอร์การแพร่ระบาดขนาดใหญ่ใจกลางกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งก็เป็นผลพวงมาจากจับมือร่วมแรงร่วมใจกันในการสู้วิกฤตของทุกภาคส่วน ทั้งชุมชน ประชาสังคม เอกชน และรัฐบาล

ในห้วงยามที่เราต้องหันกลับมาพูดเรื่อง “กระบวนการการมีส่วนร่วม” เพื่อฝ่าฟันวิกฤต ปรากฏชื่อของ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) องค์กรสานพลังที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มีหน้าที่ชักชวนภาคีเครือข่ายเข้ามาร่วมขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ เพื่อทำให้เรื่องที่ดูเหมือนว่าจะเป็นไปไม่ได้-ให้เป็นไปได้

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) บอกว่า โควิด-19 ทำให้เรามองเห็นสภาพความเป็นจริงของประเทศไทย มองเห็นโอกาสและข้อจำกัด ที่สำคัญคือมองเห็นความสำคัญของกระบวนการการมีส่วนร่วมอย่างที่ถึงที่สุด

“ทุกวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในอดีตมาจนถึงโควิด-19 เราจะพบว่าประชาชน-ภาคีระดับพื้นที่คือกำลังสำคัญในการหนุนเสริมให้มาตรการของรัฐบาลประสบผลสำเร็จ เพราะลำพังรัฐบาลหรือการสั่งการแบบบนลงล่างเพียงอย่างเดียว อาจไม่สอดคล้องกับความจริงในปัจจุบันสักเท่าใดนัก” เลขาธิการ คสช.ระบุ

นพ.ประทีป ยกตัวอย่างโดยอ้างอิงการดำเนินการใน 2 พื้นที่ชุมชนแออัด ได้แก่ ชุมชนคลองเตย และชุมชนวังทองหลาง ซึ่ง สช. ได้มีส่วนเข้าไปช่วยสนับสนุนและสานพลังความร่วมมือในสถานการณ์วิกฤต

“ในขณะที่ชุมชนคลองเตยเกิดการระบาดเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ เรารับรู้ทันทีว่าหากไม่สามารถตัดวงจรการระบาดได้ สถานการณ์จะบานปลายเกินกว่าการควบคุม เราจึงชักชวน กทม. กระทรวงสาธารณสุข สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ภาคประชาสังคม และผู้นำชุมชนคลองเตยมาวางแผนกันอย่างเป็นระบบ

“สิ่งแรกที่ต้องทำคือการแยกตัวผู้ติดเชื้อโควิด-19 ออกมาจากครัวเรือนก่อน ทางชุมชนก็ได้ใช้พื้นที่ในวัดสะพานตั้งเป็นศูนย์พักคอยใกล้บ้านใกล้ใจ ทำหน้าที่เป็นจุดรับรองผู้ติดเชื้อเพื่อรอการส่งต่อไปรักษาต่อในโรงพยาบาล ศูนย์แห่งนี้บริหารงานโดยคณะกรรมการชุมชน มีการจัดระบบการสื่อสาร จัดระบบการประสานเตียง เก็บข้อมูล ขณะเดียวกันก็มีการประสานความร่วมมือจากองค์กรภายนอกเพื่อขอรับการสนับสนุน เช่น อาหาร อุปกรณ์ป้องกันโรค

“การเกิดขึ้นของศูนย์พักคอยฯ จึงเป็นการหนุนเสริมให้ภาครัฐทำงานได้สะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถจัดรถพยาบาลเข้ามารับตัวผู้ป่วยออกไปรักษาต่อได้ทันที โดยที่ไม่ต้องฝ่าเข้าไปในชุมชน มากไปกว่านั้นคือสามารถประสานงานกับชุมชนได้อย่างรวดเร็ว ทราบสถานการณ์และความต้องการที่แท้จริง นำไปสู่การวางแผนหรือตระเตรียมมาตรการในลำดับต่อไปได้” นพ.ประทีป อธิบาย

นพ.ประทีป บอกเล่าต่อไปถึงการดำเนินงานของชุมชนวังทองหลาง ซึ่งมีจุดแข็งคือความพร้อมของ “ระบบฐานข้อมูลชุมชน” โดยชุมชนแห่งนี้ได้จัดทำฐานข้อมูลขึ้นมาตั้งแต่เกิดการระบาดในระลอกแรก และถึงแม้ว่าสถานการณ์จะเริ่มคลี่คลาย แต่ทางชุมชนยังได้ติดตามและอัพเดทฐานข้อมูลให้เป็นปัจจุบันเสมอ

“ฐานข้อมูลเหล่านั้นมีทั้งที่ตั้งของครัวเรือน จำนวนประชากร อายุ อาชีพ รายได้ ฉะนั้นทันทีที่เกิดการระบาดในระลอก 3 ชุมชนวังทองหลางจึงนำฐานข้อมูลเหล่านั้นมาต่อยอดไปสู่การกำหนดมาตรการต่างๆ ตลอดจนการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกเพื่อขอรับการสนับสนุนอย่างตรงจุดจากที่ได้คุยกับผู้นำชุมชนวังทองหลาง ท่านบอกว่าฐานข้อมูลคือสิ่งสำคัญที่สร้างความเชื่อมั่นให้คนภายนอกสามารถเข้ามาสนับสนุน และยังเป็นเครื่องมือสำหรับใช้จัดสรรงานให้กับจิตอาสาได้ตรงตามความชำนาญของแต่ละคนด้วย นี่เป็นอีกตัวอย่างของความเข้มแข็งชุมชนที่ช่วยหนุนเสริมการทำงานของรัฐบาลในภาวะวิกฤตได้เป็นอย่างดี” นพ.ประทีป อธิบาย

เลขาธิการ คสช. กล่าวต่อไปว่า นอกเหนือจากการรับมือวิกฤตการณ์แบบเฉพาะหน้าโดยมีชุมชนเป็นฐานที่มั่นสำคัญดังที่ได้ยกตัวอย่างแล้ว ในระยะยาวจำเป็นต้องมีการพัฒนานโยบายสาธารณะขึ้นมา ซึ่งในปี 2564 สช.ได้ชักชวนภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนเข้ามาถกแถลงและร่อนตะแกรงความคิด เพื่อร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์และความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

สุดท้ายตกผลึกมาเป็น 3 เรื่องสำคัญ หรือ 3 ระเบียบวาระ ที่จะเข้าสู่การพิจารณาในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 ประกอบด้วย 1. การสร้างเสริมสุขภาวะสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนในวิกฤตโควิด-19 2. การคุ้มครองการเข้าถึงบริการสุขภาพของกลุ่มประชากรเฉพาะในภาวะวิกฤตอย่างเป็นธรรม 3. การจัดการการสื่อสารอย่างมีส่วนร่วมในวิกฤตสุขภาพ

ทั้งสามประเด็นนี้ จะได้รับการพิจารณาและได้รับข้อเสนอแนะจากสมาชิกสมัชชาสุขภาพฯ และผู้เข้าร่วม ทั้งในห้องประชุม (On-site) และผ่านทางระบบ Online จากทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 15-16 ธันวาคมนี้ ณ ห้องประชุมใหญ่ ทีโอที ถนนแจ้งวัฒนะ กทม. ก่อนแสวงหาฉันทมติร่วมกัน

“เมื่อความเข้มแข็งของชุมชนคือยุทธศาสตร์ในการตอบโต้วิกฤตการณ์ ผมคิดว่าเวทีสมัชชาสุขภาพฯ จะทำหน้าที่เชื่อมร้อยการทำงานและถักทอความสัมพันธ์ระหว่าง “ระดับชาติ-ส่วนกลาง” เข้ากับ “ระดับพื้นที่-ชุมชน” อย่างเป็นเนื้อเดียวกันได้” นพ.ประทีป ระบุ

ที่สุดแล้ว หากที่ประชุมให้ฉันทมติร่วมกัน และมีพันธะสัญญาร่วมกันในการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพฯ ทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ เชื่อมั่นว่า ชุมชนและประเทศไทยจะมีความเข้มแข็ง และมีความพร้อมในการรับมือวิกฤตการณ์ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต