ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สบส.เตือนบริการตรวจหาภูมิคุ้มกันโควิด 19 หลังรับวัคซีนโดยใช้ชุดตรวจหรือน้ำยาฯ ไร้การรับรองเข้าข่ายโฆษณาเกินจริง

 

เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในขณะนี้ รัฐบาลได้เร่งฉีดวัคซีนโควิด 19 เพื่อการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งจะทำให้สังคมและเศรษฐกิจสามารถเดินหน้าหรือนำไปสู่การเปิดประเทศ โดยมีผู้เข้ารับวัคซีนโควิด 19 เข็มที่ 1 แล้วมากกว่า 3.3 ล้านราย และเข็มที่ 2 มากกว่า 1.4 ล้านราย ซึ่งประชาชนบางส่วนที่ผ่านการฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มที่ 2 แล้วก็อาจจะมีข้อสงสัยถึงสภาพร่างกายของตนว่ามีปริมาณภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิด 19 มากน้อยเพียงใด แต่การตรวจหาภูมิคุ้มกันนั้นจะต้องตรวจหาด้วยวิธีการที่เป็นมาตรฐาน อาทิ Plaque Reduction Neutralization Test (PRNT) ซึ่งมีขั้นตอนที่ซับซ้อน

 

เพราะฉะนั้นการตรวจโดยวิธีอื่นจึงได้ผลที่ไม่แน่นอนและไม่อาจรับรองได้ว่ามีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นหรือไม่ ด้วย ณ ปัจจุบันยังไม่มีผลิตภัณฑ์ชุดตรวจและน้ำยาตรวจตรวจหาปริมาณภูมิคุ้มกัน (Quantitative antibody) ที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่สามารถนำมาให้บริการตรวจภูมิคุ้มกันหลังได้รับวัคซีนโควิด 19 จึงขอประชาสัมพันธ์ให้สถานพยาบาลทุกแห่ง หากมีการโฆษณาหรือประกาศเกี่ยวกับกรณีนี้ จะเข้าข่ายการโฆษณาอันเป็นเท็จ โอ้อวดเกินจริง ฝ่าฝืนกฎหมายพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

นพ.ธเรศ กล่าวต่อว่า ทางภาครัฐมีการศึกษาวิจัยผลลัพธ์หลังการฉีดวัคซีนโควิด 19 ในภาพรวมอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว การตรวจภูมิคุ้มกันจึงยังไม่มีความจำเป็นสำหรับบุคคลทั่วไป เพราะข้อมูลตัวเลขที่ได้รายบุคคลนั้นก็ไม่สามารถนำมาแปลผลได้ ทั้งยังเป็นการเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น และอาจจะสร้างความเข้าใจผิดต่อผลลัพธ์ของวัคซีนอีกด้วย อย่างไรก็ดี แม้จะได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว แต่โอกาสที่จะติดเชื้อโควิด 19 ยังคงมีอยู่จึงขอให้ประชาชนใส่ใจต่อพฤติกรรมสุขภาพ มีการเว้นระยะห่างทางสังคม สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกจากที่พัก และล้างมือให้บ่อย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโควิด 19 ให้ตนเองอย่างยั่งยืนโดยมิต้องเสียทรัพย์สินแต่อย่างใด

 

ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส.กล่าวต่อว่า สำหรับบทกำหนดโทษของการโฆษณาอันเป็นเท็จ โอ้อวดเกินจริงหรือน่าจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับการประกอบกิจการของสถานพยาบาล ตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาทจนกว่าจะระงับการโฆษณา ซึ่งต้องขอเน้นย้ำกับประชาชนว่าการรับบริการทางการแพทย์ประเภทใดก็ตามจะต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน อย่าด่วนตัดสินใจด้วยคำโฆษณา เพราะหากได้รับบริการทางการแพทย์ที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐานแล้วนอกจากจะเสียทรัพย์สินโดยไม่จำเป็นแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพร่างกายได้ด้วย

 

ทั้งนี้ หากพบเห็นหรือมีข้อสงสัยว่าการโฆษณาของโรงพยาบาลเอกชนหรือคลินิกใดเข้าข่ายการโฆษณาอันเป็นเท็จ โอ้อวดเกินจริง สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วนกรม สบส. 1426 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่เพื่อดำเนินการตรวจสอบตามกฎหมาย ต่อไป