ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองอธิบดีกรมควบคุมโรคเผยข้อเท็จจริงการจัดสรรวัคซีนโควิด19 พื้นที่กทม. ย้ำ! การบริหารจัดสรรต้องเป็นหน้าที่กรุงเทพมหานคร ไม่ใช่สธ. เพราะสธ.ดูนโยบาย จัดสรรวัคซีนตามข้อเสนอเมื่อส่งมอบอยู่ที่พื้นที่ ขออย่าเข้าใจผิด หลังเฟซบุ๊กโรงพยาบาลนมะรักษ์ โพสต์ทำเข้าใจคลาดเคลื่อน บริหารวัคซีนไม่พอ ไม่ใช่ รมว.สธ. หรือกระทรวงฯ เป็นคนจัดสรร พร้อมเผยตัวเลขวัคซีน มิ.ย.นี้ภาพรวม 6.5 ล้านโดส

จากกรณีโรงพยาบาลนมะรักษ์ โพสต์เฟซบุ๊ก นมะรักษ์ Namarak เมื่อช่วงค่ำวันที่ 12 มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา ระบุว่า สืบเนื่องด้วยสำนักอนามัย กรุงเทพมหานครไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีนโควิดจากกระทรวงสาธารณสุข เพื่อการฉีดให้กับผู้ลงทะเบียนผ่านระบบหมอพร้อมในพื้นที่กรุงเทพทั้งหมด สำหรับรอบวันที่ 14-20 มิถุนายน ทำให้โรงพยาบาลนมะรักษ์ฯ ไม่สามารถจัดการฉีดวัคซีนให้กับท่านที่มีการจองไว้ในช่วงดังกล่าวได้

ทั้งนี้หากโรงพยาบาลได้รับการจัดสรรวัคซีนมาเมื่อใด จะได้แจ้งให้ท่านได้รับทราบทางหน้าเว็บไซด์หรือเพจโรงพยาบาลเพื่อมารับการฉีดวัคซีนต่อไป

จึงขออภัยทุกท่านมา ณ.โอกาสนี้

หากท่านมีข้อสงสัย โปรดสอบถาม Call Center 02-7922333 ระหว่างเวลา 09.00 น.- 22.00 น. หรือติดต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสอบถามสาเหตุความไม่พร้อมของวัคซีน สำหรับผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง

ต่อมาเฟซบุ๊ก นมะรักษ์ Namarak ได้มีการปรับแก้ช่องทางการติดต่อสอบถามความไม่พร้อมของวัคซีนโควิดใหม่ จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็น "หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง" แทนนั้น เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันมาก

(ข่าวเกี่ยวข้อง : คร. ย้ำ! กทม.ได้วัคซีนมากที่สุดล็อตแรก 5 แสนโดส ครึ่งเดือนมิ.ย.ได้อีก 5 แสนโดส รวม 1 ล้านโดส)

ความคืบหน้าล่าสุดวันที่ 13 มิ.ย. นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว " Hfocus"   ถึงเรื่องนี้ว่า อาจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน เนื่องจากการพิจารณาการจัดสรรวัคซีนเป็นหน้าที่ของทางพื้นที่ หรือจังหวัดนั้นๆ พิจารณา ผ่านคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ซึ่งการระบุว่าการจัดสรรพื้นที่ กทม.ต้องสอบถามรัฐมนตรีว่าการ สธ.นั้น อาจทำให้เกิดความสับสน เนื่องจากไม่ใช่หน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการ สธ. ในการจัดสรรรายละเอียดระดับโรงพยาบาล หรือศูนย์ฉีดใดๆ เพราะรัฐมนตรีฯจะดูระดับนโยบาย และมอบหมายให้สธ.จัดสรรให้เชิงพื้นที่ โดยการบริหารจัดการวัคซีนของพื้นที่ เป็นเรื่องของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด  ดังนั้น ในส่วน กทม. เมื่อจัดสรรให้แล้ว กทม.ก็ไปกำหนดเป้าหมายย่อย หลักๆ คือผู้สูงอายุ และ ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง และกลุ่มเป้าหมายอื่นที่มีความสำคัญในพื้นที่ เช่น กลุ่มพื้นที่ระบาด หรือการฉีดให้ครู เพื่อเตรียมพร้อมเปิดเทอม เปิดภาคเรียน เป็นต้น ส่วนกลุ่มอื่นๆ ก็มีลำดับความสำคัญลดหลั่นตามกันไป เพราะเจ้าของพื้นที่จะรู้ดีที่สุด

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า ในเรื่องการจัดสรรวัคซีนนั้น มอบหน้าที่กันชัดเจน โดยระดับนโยบายประเทศกำหนดการฉีดวัคซีนโควิดตั้งแต่ช่วงเดือน ก.พ. - เม.ย.เน้นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข บุคลากรด่านหน้าดูแลผู้ป่วย เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย อสม. ฯลฯ ขณะที่เมื่อถึงเดือน มิ.ย. ก็ขยับมากลุ่มเป้าหมายที่สอง คือ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง เพราะมีโอกาสป่วยแล้วรุนแรง จากนั้นก็ขยับตามความสำคัญต่างๆ ควบคู่กันไป

“ดังนั้น เมื่อสธ.ได้รับนโยบายจากรัฐบาล และ ศบค.เห็นชอบ ทางกรมควบคุมโรค ก็จะส่งมอบวัคซีนให้กลุ่มต่างๆ ตามที่แต่ละพื้นที่ได้มีการพิจารณาและเสนอตัวเลขความต้องการวัคซีนเข้ามา อย่างประกันสังคมก็จะได้รับ เพราะมีคลัสเตอร์โรงงานระบาด แต่ทั้งหมดวัคซีนเกือบครึ่งลงกทม. กล่าวคือ มีการจัดสรรวัคซีนทั้งหมดให้แต่ละพื้นที่ก่อนวันที่ 7 มิ.ย. เพื่อให้ฉีดปูพรมไปแล้วนั่นเอง โดยภาพรวมมิ.ย. แยกเป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 3.5 ล้านโดส และวัคซีนซิโนแวคอีก 3 ล้านโดส ดังนั้น รวมเดือนมิ.ย.นี้จะมีวัคซีน 6.5 ล้านโดส” นพ.โสภณ กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ในช่วง 2 สัปดาห์แรกนับตั้งแต่วันที่ 7-18 มิ.ย.มีการจัดสรรวัคซีนแอสตร้าลงไปแล้วราว 2 ล้านโดส เป็นพื้นที่ต่างจังหวัด 1 ล้านโดส และกทม.อีก 1 ล้านโดส ส่วนใน 2 สัปดาห์ต่อมา คือ ช่วงวันที่ 21 มิ.ย. – 2 ก.ค. 2564 จะได้รับวัคซีนเพิ่มเติมอีก ดังนั้น การฉีดวัคซีนให้ประชาชนจะต้องขึ้นอยู่กับการบริหารของพื้นที่นั้นๆ

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่าได้มีการจัดสรรวัคซีนในกทม. มากน้อยแค่ไหน นพ.โสภณ กล่าวว่า กทม.เป็นพื้นที่ที่ได้รับวัคซีนมาก โดยก่อนวันที่ 7 มิ.ย. ได้มีการจัดสรรวัคซีนแอสตร้าฯ ผ่านกรุงเทพมหานคร 3.5 แสนโดส และซิโนแวคอีก 1.5 แสนโดส ส่วนสำนักงานประกันสังคมได้อีกกว่า 3 แสนโดสฉีดกทม.เป็นหลัก และยัง อธิการบดีแห่งประเทศไทยหรือ ทปอ. รวม 11 สถาบันอีกประมาณ 1.5 แสนโดส และยังมีวัคซีนสำหรับองค์กรภาครัฐ อย่างการขนส่ง ครู อีกกว่า 1 แสนโดส ก็ได้รับวัคซีนไปเสริมช่วยในพื้นที่กทม. ทั้งหมดเป็นตัวเลขวัคซีนที่ฉีดในช่วง 2 สัปดาห์แรกนับตั้งแต่วันที่ 7-18 มิ.ย. แต่อีกครึ่งเดือนหลังวัคซีนแอสตร้าฯจะมาอีกเพิ่มเติมอีก 1.5 ล้านโดส และซิโนแวคอีก 2 ล้านโดส

“สธ.ดูภาพใหญ่ในการจัดสรรวัคซีนจะได้มาจากตัวเลขที่พื้นที่เสนอขึ้นมาตามสูตรตามเงื่อนไขที่กำหนด เน้นพื้นที่ระบาดหนักจะได้มากที่สุด ซึ่งเมื่อเราให้พื้นที่ไปแล้วก็จะเป็นหน้าที่ของพื้นที่หรือจังหวัดนั้นๆ บริหารจัดการ สิ่งสำคัญขณะนี้อยากให้มีการฉีดวัคซีนให้แก่กลุ่มที่มีการจองไว้ก่อนแล้ว คือ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง ซึ่งเป็นกลุ่มที่เสี่ยงรุนแรงหากได้รับเชื้อ ” นพ.โสภณ กล่าว

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org