ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะเปิดให้องค์กรนิติบุคคล หรือหน่วยงานทั้งภาครัฐ องค์กรการกุศลและหน่วยงานเอกชน ขอรับการจัดสรรหรือสั่งจองวัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์ม ระยะที่ 1 ทางระบบออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 14 มิ.ย.นี้เป็นต้นไป ซึ่งที่ผ่านมา มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ไม่ว่าจะเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) เทศบาล และ องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) ให้ความสนใจการสั่งจองวัคซีนเพื่อให้บริการแก่ประชาเสริมจากระบบวัคซีนหลักที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด รวมทั้งการเร่งฟื้นระบบเศรษฐกิจและสังคมให้ได้โดยเร็ว

อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลโดยศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) จะกำหนดแนวทางให้อปท.สามารถจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชน แต่อปท.ต่างๆ ก็ยังมีข้อกังวลในทางปฏิบัติโดยเฉพาะระเบียบการจัดซื้อซึ่วมีข้อกำหนดที่ค่อนข้างเคร่งครัด โดยนายสมศักดิ์ กิตติธรกุล นายก อบจ. กระบี่ ในฐานะนายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย กล่าวถึคงข้อกังวลสำคัญคือการสั่งจองผ่านระบบออนไลน์หรือเว็บไซต์ และมีกระบวนการดำเนินการขั้นตอนต่างๆผ่านทางเว็บไซด์ทั้งหมด ซึ่งระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของทางราชการไม่เอื้ออำนวยให้ทำได้ ซึ่งสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย ได้มีหนังสือถามไปยัวกระทรวงมหาดไทยแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการตอบกลับมา

ล่าสุดเทศบาลนครยะลาเป็นอปท.รายแรกที่ประกาศว่าได้ทำหนังสือสั่งจองวัคซีนชิโนฟาร์มจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ไปแล้วตั้งแต่ปลายเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา โดยกระบวนการสั่งจองวัคซีนดังกล่าวได้มีการหารือกับศบค.จังหวัดยะลา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา และโรพยาบาลศูนย์ยะลาแล้ว

นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา และนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย

กล่าวว่า การซื้อวัคซีนครั้งนี้ได้หารือกับทุกฝ่าย โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาลศูนย์ยะลา เป็นเครือข่ายในการช่วยเก็บรักษาจนถึงขั้นตอนการฉีด โดยได้สั่งซื้อจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จำนวน 25,000 โดส ใช้เงินสะสมของเทศบาลที่ผ่านการอนุมัติมาแล้วตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ม.ค. จำนวน 40 ล้านบาท เพื่อเตรียมการสั่งซื้อวัคซีน ก่อนที่จะหมดวาระจากการดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครยะลา เมื่อได้รับความไว้วางใจเลือกตั้งให้กลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้ง พอดีมีการระบาดของไวรัสโควิด ระลอกที่ 3 และมีโอกาสจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ที่เสนอให้มีทางเลือกในการสั่งซื้อวัคซีน ก็เลยใช้การอนุมัติสภาซึ่งก็ได้อนุมัติไว้แล้วตั้งแต่เดือน ม.ค. นำมาใช้ในการซื้อวัคซีน

นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวด้วยว่า หน่วยงานภาครัฐใน จ.ยะลา นอกจากเทศบาลนครยะลาจะทำการสั่งซื้อวัคซีนเข้ามาแล้ว ในส่วนของ อบจ. ยะลา ก็ได้มีการสั่งซื้อเพื่อเข้ามาช่วยเติมเต็มให้กับ อบต. และเทศบาลใกล้เคียงก็มีการซื้อเพิ่มเติมด้วยเช่นกัน ซึ่งแม้จะเป็นการใช้งบประมาณคนละส่วนแต่ก็เป็นการทำงานร่วมกัน ภายใต้การดูแลดำเนินการของผู้ว่าราชการจังหวัด

ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เป็นข้อกังวลว่าการให้ อปท.สั่งซื้อวัคซีนเองอาจทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างอปท.ที่มีงบประมาณมาก หรืออปท.ระดับบน เช่น อบจ.และ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีงบประมาณน้อยกว่าเช่น เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) นั้น นายพงษ์ศักดิ์เห็นว่า สำหรับเทศบาลและอบต.ที่มีงบประมาณอาจไม่คล่องตัว อบจ.ก็สามารถเข้ามาเสริมเพื่อเติมเต็มในส่วนนี้ได้

ส่วนกรณีที่ทาง อบจ. มีปัญหาติดขัดเรื่องระเบียบการปฏิบัติการจัดซื้อในบางประเด็นนั้น นายกเทศมนตรีนครยะลา ให้ความเห็นว่า ในระเบียบการจองที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ให้ลงทะเบียนจองวัคซีน นั่นคือการจอง แต่การจัดซื้อจัดจ้างต้องใช้ระเบียบราชการ และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ก็เป็นระบบราชการอีกอย่างหนึ่ง โดยหลักการแล้วคิดว่าไม่น่ามีปัญหา

นายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าวว่า ได้สั่งจองวัคซีนชิโนฟาร์มจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค.ที่่ผ่านมา ขณะนั้นได้ทำเป็นหนังสือส่งไปถึงราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จนกระทั่งสัปดาห์ที่ผ่านมาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ประกาศเปิดให้สั่งจองผ่านระบบออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 14 มิ.ย. ซึ่งเทศบาบนครยะลาก็จะสั่งจองทางออนไลนืด้วย แต่ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ระบุไว้ว่าหากได้สั่งจองล่วงหน้าไว้แล้วก็จะนำข้อมูลการสั่งจองเข้าไปสู่ระบบออนไลน์ให้เช่นกัน

“คิดว่าน่าจะได้วัคซีนชุดแรกประมาณวันที่ 20 มิ.ย.นี้ โดย 25,000 โดส ไม่ได้ส่งมาทีเดียว 25,000 โดส เพราะซิโนฟาร์มแต่ละคนต้องฉีด 2 โดส ในรอบแรกคือฉีด 12,500 แล้วหลังจากนั้นอีก 1 เดือนก็ฉีดอีก 12,500 เพราะฉะนั้นทุกคนที่สั่งก็คือหารสองหมด เหมือนซิโนแวคที่ต้องฉีดคนละ 2 โดส ส่วนจะเพียงพอหรือไม่จะประเมินสถานการณ์ก่อนว่าภาพใหญ่ รัฐบาลในเรื่องของการ supply วัคซีนจะมีความคล่องตัวขนาดไหน ถ้ายังมีปัญหาซึ่งบางครั้งปัญหาอาจจะไม่ได้เกิดจากตัวรัฐบาล แต่เกิดขึ้นจากภายนอกประเทศที่เราเองก็ควบคุมไม่ได้ เช่นตอนนี้ก็มีข่าวว่าวัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสันก็มีปัญหาในบัลติมอร์ จนต้องทำลายวัคซีนไปหลายสิบล้านโดส ก็อาจจะมีผลกับประเทศไทยในการสั่งซื้อในเร็วๆ นี้" นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

แนวทางดังกล่าวของเทศบาลนครยะลาน่าจะเป็นต้นแบบให้อปท.อื่นๆ ทั่งประเทศใช้เป็นแนวทางในการสั่งจองวัคซีนฉีดให้กับประชาชนในพื้นที่เสริมกับวัคซีนหลักที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด และดำเนินกิจกรรมทางสังคมให้กลับมาสู่ปกติได้เร็วที่สุด ซึ่งจะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการฟื้นเศรษฐกิจโดยรวม