ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รวมข้อชี้แจงแผนกระจายวัคซีนโควิด “แอสตร้าเซนเนก้า” พื้นที่ กทม. ได้เกือบ 1 ล้านโดสเฉพาะ 2 สัปดาห์แรกเดือน มิ.ย. แบ่งเป็น กทม. 5 แสนโดส(แอสตร้าฯ 3.5 แสนโดส +ซิโนแวค 1.5 แสนโดส) สำนักงานประกันสังคม 3 แสนโดส และทปอ. 1.5 แสนโดส จุดฉีดให้องค์กรภาครัฐอื่นๆ เช่น ระบบขนส่ง ครูอีก 1 แสนโดส รวมทั้งพื้นที่ระบาดอื่นๆอีกราว 5 หมื่นโดส ขณะที่ตจว.ได้ 1.1 ล้านโดสเน้นคนจองผ่านหมอพร้อม ส่วนล็อตหลังเดือน มิ.ย. มาอีก 3.5 ล้านโดส

จากประเด็นโรงพยาบาลพื้นที่กทม.ประกาศเลื่อนฉีดวัคซีนโควิดออกไปนั้น จนทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า ใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบ การจัดสรรครั้งนี้ “กรุงเทพมหานคร” หรือ “กระทรวงสาธารณสุข” มาพิจารณาข้อชี้แจงประเด็นดังกล่าว รวมทั้งแผนกระจายวัคซีนโควิดในพื้นที่กทม.รวมเดือนมิ.ย. 6.5 ล้านโดส แบ่งออกเป็น 2 ล็อต ล็อตละ 2 สัปดาห์

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าว “Hfocus” ได้สรุปประเด็นข้อชี้แจงของทั้งกระทรวงสาธารณสุข และทางกรุงเทพมหานคร ภายหลังโรงพยาบาลในพื้นที่ กทม. เลื่อนการฉีดวัคซีนโวคิด 19 ออกไป โดยให้เหตุผลว่าไม่ได้รับการจัดสรรจากกระทรวงสาธารณสุข

 

* ข้อชี้แจงฝั่งกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขปฏิบัติตามนโยบายของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ขออย่ามาบอกว่ากระทรวงไม่ทำอะไร เพราะกระทรวงได้ทำทุกอย่างตามบทบาทที่ได้รับมอบหมายไปแล้ว และในรอบไม่ถึง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงฯ ได้ส่งวัคซีนโควิด 19 ให้กทม.ตามโควต้าที่มีการตกลงกันไว้ และหลังจากนี้ จะส่งเพิ่มอีก ทั้งนี้ ฝ่ายที่รับวัคซีน แล้วนำไปจัดสรรต่อคือกรุงเทพมหานคร ซึ่งต้องคำนวนว่าเมื่อได้วัคซีนมาแล้ว จะจัดการอย่างไรให้เหมาะสม จะฉีดต่อวันเท่าไร ต้องวางแผนในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ ทางกระทรวงฯ ไม่มีบทบาทดูแลตรงนั้น

.

นายอนุทิน ชาญวีรกูล

(ภาพจากสำนักสารนิเทศ กระทรวงสาธารณสุข)

 

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข อธิบายการจัดสรรวัคซีนโควิดว่า พื้นที่กทม. เป็นพื้นที่ที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนโควิดมากที่สุด เนื่องจากพบการติดเชื้อจำนวนมาก ซึ่งในเดือนมิ.ย. กำหนดการจัดสรรวัคซีนให้กทม. อยู่ที่ 1 ล้านโดส แบ่งเป็นเฉพาะกทม. 5 แสนโดส แยกเป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 3.5 แสนโดส และซิโนแวคอีก 1.5 แสนโดส ซึ่งตัวเลขนี้ไม่รวมกับสำนักงานประกันสังคม และ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทป.) 11 สถาบัน และล็อตหลัง กทม.ก็จะได้รับอีกเช่นกัน

“ดังนั้น ประเด็นที่มีการสื่อสารในสังคมออนไลน์ของโรงพยาบาลในพื้นที่กทม. ที่ระบุว่าเลื่อนฉีดวัคซีนต้องไปสอบถามทาง กรุงเทพมหานคร เนื่องจากเป็นผู้บริหารจัดการวัคซีนโดยตรง ทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการจัดสรรให้ตาม ศบค. ทุกอย่างเป็นไปตามกฎกติกาแล้ว ส่วนในเรื่องการบริหารของแต่ละพื้นที่ ต้องอยู่ที่พื้นที่เป็นผู้สื่อสาร” นพ.โอภาส กล่าว

ภาพจากสำนักสารนิเทศ กระทรวงสาธารณสุข

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า การพิจารณาการจัดสรรวัคซีนโควิด19 เป็นหน้าที่ของทางพื้นที่ หรือจังหวัดนั้นๆ พิจารณา ผ่านคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด โดยระดับนโยบายประเทศกำหนดการฉีดวัคซีนโควิดตั้งแต่ช่วงเดือน ก.พ. - เม.ย. เน้นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข บุคลากรด่านหน้าดูแลผู้ป่วย เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย อสม. ฯลฯ ขณะที่เมื่อถึงเดือน มิ.ย. ก็ขยับมากลุ่มเป้าหมายที่สอง คือ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง เพราะมีโอกาสป่วยแล้วรุนแรง จากนั้นก็ขยับตามความสำคัญต่างๆ ควบคู่กันไป 

“ดังนั้น เมื่อสธ.ได้รับนโยบายจากรัฐบาล และ ศบค.เห็นชอบ ทางกรมควบคุมโรค ก็จะส่งมอบวัคซีนให้กลุ่มต่างๆ ตามที่แต่ละพื้นที่ได้มีการพิจารณาและเสนอตัวเลขความต้องการวัคซีนเข้ามา อย่างประกันสังคมก็จะได้รับ เพราะมีคลัสเตอร์โรงงานระบาด แต่ทั้งหมดวัคซีนเกือบครึ่งลงกทม. กล่าวคือ มีการจัดสรรวัคซีนทั้งหมดให้แต่ละพื้นที่ก่อนวันที่ 7 มิ.ย. เพื่อให้ฉีดปูพรมไปแล้วนั่นเอง สรุปภาพรวมการจัดสรรวัคซีนโควิด เดือน มิ.ย. แยกเป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 3.5 ล้านโดส และวัคซีนซิโนแวคอีก 3 ล้านโดส ดังนั้น รวมเดือนมิ.ย.นี้จะมีวัคซีน 6.5 ล้านโดส ” นพ.โสภณ กล่าว

กล่าวโดยสรุป คือ วัคซีนโควิดเดือนมิ.ย. มี 6.5 ล้านโดส โดยการจัดสรรจะแบ่งเป็น 2 ล็อตของเดือนมิ.ย. โดยล็อตแรกช่วง 2 สัปดาห์ คือ ประมาณวันที่ 7-18 มิ.ย. (เริ่มปูพรมฉีดทั่วประเทศ 7 มิ.ย.) มีการจัดสรรวัคซีนโควิด 3 ล้านโดส แบ่งเป็นซิโนแวค 1 ล้านโดส และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 ล้านโดส โดยวัคซีนแอสตร้าฯ กระจายไปพื้นที่ต่างจังหวัด 1.1 ล้านโดสเป็นกลุ่มจองผ่าน “หมอพร้อม” และกทม.อีกเกือบ 1 ล้านโดส ซึ่งเฉพาะกทม.รับจัดสรรวัคซีน 5 แสนโดส (แอสตร้าฯ 3.5 แสนโดส +ซิโนแวค 1.5 แสนโดส) สำนักงานประกันสังคมอีกราว 3 แสนโดส และทปอ. 1.5 แสนโดส นอกจากนี้ ยังมีจุดฉีดให้องค์กรภาครัฐอื่นๆ เช่น ระบบขนส่ง ครูอีก 1 แสนโดส รวมทั้งพื้นที่ระบาดอื่นๆอีกราว 5 หมื่นโดส

ส่วนล็อตที่ 2 ในช่วง 2 สัปดาห์ต่อมา คือ วันที่ 21 มิ.ย. – 2 ก.ค. 2564 จะได้รับวัคซีนเพิ่มเติมอีก 3.5 ล้านโดส เป็นซิโนแวค 2 ล้านโดส และแอสตร้าฯ 1.5 ล้านโดส รวมทั้งเดือนมิ.ย. จะมีวัคซีนกระจายยังพื้นที่ต่างๆ 6.5 ล้านโดส

ภาพจากสำนักสารนิเทศ กระทรวงสาธารณสุข

*********************************

 

* ข้อชี้แจงฝั่งกรุงเทพมหานคร

เฟซบุ๊ก กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ โพสต์แจงแผนวัคซีนโควิด เดือน มิ.ย. 64 โดยระบุว่า 1. ตามแผนการจัดสรรวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุข กทม. ได้รับการแจ้งว่าจะได้รับการจัดสรร AstraZeneca 2.5 ล้านโดส ซึ่งให้กทม.ไปทำแผนการฉีดให้สอดคล้อง 2. สำหรับวัคซีนที่ใช้ในวันที่ 7-14 มิ.ย 64 กทม.ได้รับวัคซีน AstraZeneca จำนวน 350,000 โดส Sinovac 150,000 โดส แบ่งการใช้วัคซีน AstraZeneca เป็น ระบบหมอพร้อม 181,400 โดส เข็มที่สอง 52,600 โดส ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียง 8,000 โดส ประชาชนทั่วไป 100,000 โดส และสำรองสำหรับควบคุมโรค 8,000 โดส ส่วน Sinovac แบ่งการใช้เป็นเข็มที่สอง สำหรับการควบคุมโรค (พื้นที่ระบาดรุนแรง) 128,000 โดส และควบคุมโรคพื้นที่ระบาดใหม่ 26,000 โดส

3. การจองผ่านระบบหมอพร้อม เป็นการเปิดให้ รพ.ทุกแห่งในกรุงเทพฯ มาช่วยกันฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงที่เปิดพร้อมกันทั้งประเทศ ดังนั้น กทม. จึง ไม่ใช่ผู้ควบคุมและผู้ที่จัดสรรวัคซีน ซึ่งในเดือน มิ.ย.นี้ ผู้ที่ลงหมอพร้อมในกรุงเทพฯ มีทั้งสิ้น 450,000 ราย 4. กทม.ยืนยันว่า กทม.พร้อม สถานที่พร้อม บุคลากรพร้อม และหาก "วัคซีนพร้อม" ตามแผน กทม.พร้อมจะดำเนินการฉีดให้กับประชาชนทันที

***********************************

 

ขณะที่แหล่งข่าวแวดวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเด็นที่เกิดขึ้นไม่แน่ใจว่ามีการหารือกันอย่างไร เนื่องจากแผนการกระจายวัคซีนต้องผ่านการพิจารณาจาก ศบค. และในศบค.ก็จะมีผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ยิ่งขณะนี้มีศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กรุงเทพฯและปริมณฑล ก็น่าจะมีการพิจารณาร่วมกันอย่างบูรณาการ อย่างไรก็ตาม มีการพิจารณาหารือกันว่า การจัดสรรวัคซีนช่วงเดือน มิ.ย. ควรฉีดให้แก่บุคคลตามกลุ่มเป้าหมายที่วางไว้คือ ผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ก่อน เพราะมีการจองไว้ใน “หมอพร้อม” แล้ว ส่วนประชาชนกลุ่มต่างๆ สามารถฉีดในส่วนของสำนักงานประกันสังคม ซึ่งเปิดบริการจุดฉีดรองรับ อย่างไรก็ตาม แม้วัคซีนแอสตร้าฯ จะยังไม่ชัดเจนว่า จะมาทันวันที่ 14 มิ.ย.หรือเลื่อนไป 2 วัน หรือไม่อย่างไร แต่ตามสัญญาของทางบริษัทและทางกระทรวงสาธารณสุขต้องส่งให้ทันภายในเดือน มิ.ย.นี้ ขณะเดียวกันก็ยังมีวัคซีนซิโนแวคใช้ควบคู่ และเร็วๆนี้ก็จะมีวัคซีนอื่นๆที่มีการเจรจาทำสัญญาเพิ่มเติมอีก เช่น ไฟเซอร์ เป็นต้น

ส่วนวัคซีนทางเลือกอย่างซิโนฟาร์ม ก็จะเป็นช่องทางขององค์กร บริษัท อปท.ในการประสานกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ต่อไป ขณะที่วัคซีนทางเลือก “โมเดอร์น่า” ของทางรพ.เอกชน ก็เป็นอีกทางเลือกสำหรับประชาชนที่ต้องการเสียค่าใช้จ่ายเอง ที่ไม่ใช่ของทางภาครัฐ โดยภาคเอกชนคาดว่าจะเข้ามาได้ประมาณเดือน ต.ค.-ธ.ค.2564

ภาพจากสำนักสารนิเทศ กระทรวงสาธารณสุข