ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากนโยบาย “คนไทยทุกครอบครัว มีหมอประจำตัว 3 คน” หรือ นโยบาย 3 หมอ ที่เริ่มเดินหน้ามาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน ซึ่งถือเป็นนโยบายที่ดี และเป็นการปฏิรูประบบสุขภาพด้วยการส่งเสริมสุขภาพแบบปฐมภูมิ สำหรับพื้นที่อำเภอทรายทองวัฒนา และ อำเภอชากังราว ได้มีแนวทางการจัดการและพัฒนานโยบายดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

นพ. สุธีร์ ช่างเจรจา หัวหน้าคลินิกหมอครอบครัวชากังราว กล่าวว่า สำหรับทีมหมอครอบครัวชากังราว เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่เปิดคลินิกหมอครอบครัว โดยประกอบไปด้วยแพทย์เวชศาสตร์จบเฉพาะทาง แล้วก็อาจารย์ที่เกษียณโดยผ่านการอบรมแล้ว เข้ามาช่วยกระจายอยู่ตาม รพ.สต. หรือจุดต่างๆ เพื่อประสานงานส่งต่อคนป่วย ตามคลินิกหมอครอบครัว

สำหรับเรา โครงการ 3 หมอ เราเริ่มดำเนินการจากการมีคลินิกหมอครอบครัว ซึ่งเกิดขึ้นมาก่อน ดังนั้นจึงเหมือนเป็นโครงการที่พัฒนาต่อเนื่องโดยมีโครงการ 3 หมอ เข้ามา ซึ่งหมอคนที่ 1 คือ หมอประจำบ้านหรือประจำตัว (อสม.) คนที่ 2 คือพยาบาลและนักวิชาการสาธารณสุข และคนที่ 3 คือ แพทย์ ก่อนหน้านี้เวลาเราอยู่สถานีอนามัย บุคลากร 1 คน จะรับผิดชอบงาน 1 เรื่อง เช่น พยาบาลคนนี้อาจจะดูแลเรื่องแม่และเด็ก

เมื่อมีเรื่องคลินิกหมอครอบครัวขึ้นมา เราได้แบ่งออกเป็น 4 ทีม โดย 1 ทีม จะประกอบด้วย พยาบาลจับคู่กับนักวิชาการสาธารณสุขและนักวิชาการ ทำหน้าที่รับผิดชอบประชากรในพื้นที่ของตัวเอง ซึ่งเป็นชุมชนประมาณ 2500 คน จะให้บริการแบบดูแลทั้งคน ดูแลทั้งโรคและดูแลต่อเนื่อง รวมถึงดูแลทุกเรื่องของประชากรตั้งแต่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นต้น หากมีปัญหา ทีมอาจจะต้องส่งผ่านข้อมูลมาสู่ทีมแพทย์อีก เพื่อช่วยแก้ปัญหาต่อไป

      

                       นพ.สุธีร์ ช่างเจรจา

นพ. สุธีร์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของพื้นที่ดูแลเราจะดูแลทั้งหมด 9 ชุมชนในเขตเมือง และเราได้มีการลงข้อมูลของประชาชนเป็นที่เรียบร้อย รวมถึงการติดป้ายตามบ้าน และข้อมูลในป้ายจะประกอบไปด้วย ชื่อหมอ พยาบาล อสม. พร้อมเบอร์โโทรติดต่อ ซึ่งเรามองว่าโครงการที่เราทำอยู่ มีความคล้ายกับโครงการ 3 หมอ ที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้มอบเป็นของขวัญปีใหม่ในปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ลักษณะของการให้บริการได้ปรับเปลี่ยนระบบการให้บริการ  โดยเป็นการให้บริการ 5 วันต่อสัปดาห์ โดยแพทย์ ออกให้บริการ 4 วัน 
อีก 1 วัน พยาบาลวิชาชีพ พยาบาลเวชปฏิบัติ เป็นผู้ตรวจ และปรึกษาแพทย์ในรายที่มีปัญหาซับซ้อน มีการตรวจบริการอย่างน้อย 2 ห้อง ห้องที่ 1 เป็นห้องที่มีปัญหาซับซ้อนจะได้รับการตรวจโดยแพทย์ และห้องที่ 2 จะเป็นของพยาบาลวิชาชีพหรือพยาบาลเวชปฏิบัติประจำชุมชนนั้นๆที่ตนเองดูแล ทำให้เจ้าหน้าที่มีความผูกพันแล้วก็มีการดูแลคนไข้ในชุมชนของตนเองในระยะยาว และที่สำคัญเรามีการรายงานแนวทางในการดูแลรักษาทุกปีอยู่แล้ว

ด้าน นพ.วัชรพงษ์ วิศาลศักดิ์ ผอ. รพ.ทรายทองวัฒนา กล่าวว่า เมื่อต้นปี 64 ที่ผ่านมา ท่าน นพ.ปริญญา นากปุ​ณบุตร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกำแพงเพชร ได้ทำการมอบเกียรติบัตรให้กับหมอคนที่ 1 ในการดูแลผู้ป่วยผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง นอกจากนั้นยังมีการเพิ่มทักษะให้กับอสม. ในการดูแลผู้ป่วยอีกด้วย พร้อมบอกวิธีการรายงานผ่านแอปพลิเคชั่นให้กับหมอคนที่ 3 ได้ทราบ ถือว่าเป็นการแนะนำตัวกับประชาชนได้รับทราบเกี่ยวกับนโยบาย 3 หมอในเบื้องต้น และยังมีการเข้าไปเยี่ยมผู้ป่วยเพื่อเป็นการให้ประชาชนได้รับรู้เกี่ยวกับโครงการดังกล่าวด้วย

                                                                                 นพ.วัชรพงษ์ วิศาลศักดิ์

สำหรับการแบ่งทีมการดูแลประชาชนจะแบ่งเป็น 2 ทีม โดยแต่ละทีมจะมีแพทย์ 2 คน เพื่อดูแลประชากรในพื้นที่ของตนเองที่ได้รับผิดชอบ โดยมีประชากรที่ต้องดูแลประมาณ 12,000 คน แต่ละคนจะมีรพ.สต. ประจำที่จะออกตรวจอาทิตย์ละ 1 ครั้ง ทำให้ผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลจะได้เจอกับหมอประจำตัวของตนเอง ในส่วนการจัดระบบการดูแลในพื้นที่นั้น สำหรับบุคลากรในอาชีพพยาบาล 1 ต่อ 1,200 คน นักวิชาการ 1 ต่อ 1,000 คน และอสม. 1 ต่อ 18 หลังคาเรือน รวมทั้งมีแพทย์แผนไทย เภสัชกร แล้วก็จะมีพนักงานทันตสาธารณสุข ของพื้นที่ เพื่อเข้ามาดูแลในเขตรับผิดชอบของตนเอง

จากปัญหาสุขภาพในพื้นที่ได้กำหนดขอบเขตไว้ 3 อย่าง คือ 1) เรื่องของกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) 2) เรื่องของผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง 3) เรื่องของโรคระบาดโควิด แต่เรายกตัวอย่างปัญหาที่พบคือ เรื่องของกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมอาหารได้ และไม่มีความรู้ในเรื่องของโรคดังกล่าว เราจึงมีแนวทางการอบรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับชาวบ้านในชุมชนได้มีความเข้าใจในเรื่องสุขภาพเกี่ยวกับโรคเรื้อรังว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เกิดโรคนี้ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและมีความรู้ในการรับมือมากยิ่งขึ้น

“เรายังมีการให้ความรู้กับอสม. ที่ได้รับผิดชอบดูแลผู้ป่วยของตนเองอีกด้วย โดยการเพิ่มทักษะและแรงจูงใจในการสร้างเสริมสุขภาพและการปฏิบัติงานที่ดี เพื่อให้ประชาชนเป็นที่พึ่งได้มากที่สุด เมื่ออสม. มีความรู้และความเข้าใจแล้ว ก็จะสามารถอธิบายหรือบอกกล่าวให้กับหมอคนที่ 3 ได้รับทราบปัญหาดังกล่าวได้นั่นเอง”

นพ.วัชรพงษ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่รพ.สต. ยังเข้ามาช่วยในเรื่องของการวัดความดัน ชั่งน้ำหนัก ให้กับผู้ป่วยที่มาใช้บริการอยู่แล้ว รวมถึงการบันทึกและเช็คประวัติสอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับผู้ป่วย เพื่อจะรายงานให้พยาบาลหรือหมอคนที่ 2 ได้รับข้อมูล

ทั้งนี้ ยังมีค่านิยมระดับอำเภอ “ประชารัฐร่วมใจ คนทรายทองวัฒนา ลดเสี่ยงลดโรค” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เราได้ทำตามพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น บ้าน วัด โรงเรียน ร้านอาหาร เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการดูแลสุขภาพทำให้ประชาชนสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยเราได้การร่วมมือจากอำเภอเป็นอย่างดี จากกิจกรรมดังกล่าวผลลัพธ์พบว่า ผู้ป่วยมีแนวโน้มพฤติกรรมการกินที่ดีขึ้น และในปี 62-63 ที่ผ่านมา ผู้ป่วยก็ควบคุมความดัน เบาหวาน ได้ดีขึ้นด้วย

"3 หมอ ก็คือเมื่อเกิดการเชื่อมโยงระหว่าง 3 หมอ จะทำให้ระบบบริการปฐมภูมิสุขภาพองค์รวม สามารถสร้างความตระหนักทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของโรคติดต่อเรื้อรัง (NCD) และได้รับสนับสนุนจากผู้ช่วยชุมชนหรือ อสม. ที่เอื้อต่อการดูแลสุขภาพ เหล่านี้จะนำไปสู่ความยั่งยืนในการดูแลผู้ป่วยในชุมชนอย่างแท้จริง” นพ.วัชรพงษ์ กล่าว

                                               

                                                                                พญ.ขจีรัตน์ ปรักเอโก

ด้าน พญ.ขจีรัตน์ ปรักเอโก ผอ. สำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ กล่าวว่า เนื่องจากพื้นที่ที่เราเลือกไม่ได้มีต้นทุนเยอะ แต่เขามีความยืดหยุ่นในการปรับตัว ทำความเข้าใจและมีพื้นฐานเข้าใจในหลักการเชิงลึก ทำให้ไม่ต้องอ่านคู่มือหรืออธิบาย แต่เป็นการใช้ต้นทุนเดิมเดินหน้าได้ค่อนข้างเร็ว จึงขอชื่นชมจริงๆ

“พื้นฐานจริง ๆ แล้วคือเรื่องของระบบสุขภาพปฐมภูมิ ซึ่งทุกสิ่ง ทุกอย่าง ที่ทั้ง 2 ทีมได้เล่ามาเป็นเครื่องมือต่างๆนั้น แต่สิ่งที่สามารถบูรณาการในการจัดการได้ทุกเรื่องนี้ก็ขอชื่นชมจริงๆในการทำงานครั้งนี้” พญ.ขจีรัตน์ กล่าว

 

*ติดตามการขับเคลื่อนนโยบาย 3 หมอในพื้นที่ได้ดังนี้ 

ตอนที่ 1 ถอดบทเรียน การดำเนินนโยบาย “คนไทยทุกครอบครัว มีหมอประจำตัว 3 คน” ใน 4 จังหวัดของประเทศไทย

ตอนที่ 2 การขับเคลื่อนนโยบาย 3 หมอ ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกำแพงเพชร

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org