ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ จุฬาฯ เผยการฉีดวัคซีนโควิด19 เข็มแรกอย่างหนึ่ง ตามด้วยเข็มสองอีกยี่ห้อ..ได้หรือไม่

เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2564 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์เฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ระบุถึงการให้วัคซีนเข็มแรกและเข็มสอง ต้องยี่ห้อเดียวกันหรือไม่ ว่า

เข็มแรกอย่างหนึ่ง ตามด้วยเข็มสองอีกยี่ห้อ

อาจไม่มีความจำเป็นต้องวิตกเพราะการฉีดคนละยี่ห้อ มีการศึกษาทั้งที่สเปน และเยอรมัน และเป็นหัวข้อขององค์การอนามันโลก ที่เริ่มด้วย แอสตร้าเซนเนก้า ตามด้วยไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา

ประโยชน์ ของ mix and match หรือ prime and boost ปนกันคนละขั้วหรือเทคนิค คือ

1-มีภูมิคุ้มกันในน้ำเหลืองสูงขึ้นกว่าธรรมดา ตามการศึกษาดังข้างต้น

2-และในกรณีของแอสตร้าฯที่ส่วนของโควิดที่ฝากไว้กับไวรัสตัวอื่นคือ อดิโนไวรัส (adenovirus) เข็มถัดมา เกรงว่าร่างกายจะรับรู้ และทำลายไวรัสไปก่อน ทำให้ประสิทธิภาพลดลงบ้าง ซึ่งหมายถึงการใช้เข็มที่สามด้วย

3-นอกจากนั้น หวังว่า วัคซีนคนละเทคนิคดังกล่าวอาจจะช่วยเสริมสร้างภูมิข้ามสายพันธุ์ให้ดียิ่งขึ้นโดยเฉพาะเดลต้าอินเดีย

ทั้งนี้ ในประเทศไทย แม้จะเป็นเชื้อตาย ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม กับแอสตร้า ควบรวมกัน ไม่น่ามีปัญหาและอาจได้ประโยชน์เพิ่ม

ในด้านผลข้างเคียง ไม่ชัดเจนว่าเกิดผลร้ายมากขึ้นกว่า การใช้ ยี่ห้อเดียว

รายงานแรกๆ อาจมีต่อมน้ำเหลืองโตที่รักแร้บ้าง และในประเทศสิงคโปร์ถ้าแพ้รุนแรง จากไฟเซอร์ โมเดอร์นา เข็มสองเป็น ซิโนแวคได้

ข้อสำคัญ การมีผลข้างเคียงไม่ใช่เรื่องดี และ ไม่ทำให้ภูมิสูงขึ้นกว่าธรรมดา

สรุป ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า ต่อจากนี้ จงใจเปลี่ยนยี่ห้อ แต่ถ้าคนละยี่ห้อก็ไม่เสียหาย