ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศบค.เห็นชอบเกณฑ์จัดสรรวัคซีนโควิด 10 ล้านโดส เดือน ก.ค. 64 กระจายตามกลุ่มพื้นที่ มี 5 จังหวัดได้มากสุดรวม 3.3 ล้านโดส พื้นที่กรุงเทพฯสูงสุด 2.5 ล้าน เหตุระบาดสูงสุด นอกนั้นได้ตามสัดส่วนความเป็นจริง ขณะที่ 23 จังหวัดได้ 2.5 ล้านโดสเฉลี่ยจังหวัดละ 1 แสน อีก 49 จังหวัดได้ 3.5 ล้านโดสเฉลี่ยจังหวัดละ 7 หมื่นโดส พร้อมสำรองส่วนกลางตอบโต้การระบาดอีก 1 ล้านโดส

เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 18 มิ.ย. 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19(ศบค.) กล่าวถึงการจัดสรรและจัดหาวัคซีนโควิด-19 ว่า ที่ประชุม ศบค.พิจารณาแผนการจัดสรรและจัดหาวัคซีนโควิดในแต่ละจังหวัดตามที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เสนอ โดยเริ่มจากการจัดสรรวัคซีนเดือนกรกฎาคม 2564 โดยเป้าหมายให้บริการวัคซีน 10 ล้านโดส โดยพิจารณาจัดสรรวัคซีนดังกล่าวให้แก่ผู้ที่จองฉีดวัคซีนล่วงหน้าในระบบ “หมอพร้อม” คือ กลุ่มผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ต้องได้รับก่อน ขณะที่กรุงเทพมหานครได้รับการจัดสรรวัคซีนอย่างน้อย 5 ล้านโดสภายในเดือนกรกฎาคม และพิจารณาให้ภูเก็ตได้รับวัคซีนเข็ม 2 อย่างน้อยร้อยละ 70 ภายในกรกฎาคมเช่นกัน

โดยพื้นที่แดงเข้ม จะเน้นจังหวัดที่มีการระบาดโควิดสูง คือ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด มีกรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี และปทุมธานี และบวกอีก 1 จังหวัด คือ ภูเก็ต ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีแผนเปิดการท่องเที่ยว ดังนั้น 5 จังหวัดจะได้รับก่อน

ส่วนพื้นที่สีส้ม มี 23 จังหวัด จะได้รับวัคซีนลดหลั่นลงมา ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือมีความเร่งด่วนในการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ภายหลังการระบาด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ตาก หนองคาย สระแก้ว ระนอง นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา ตรัง ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี นครปฐม พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี บุรีรัมย์ สุราษฎร์ธานี(อ.เกาะสมย) พังงา และกระบี่ ส่วนจังหวัดที่เหลือ 49 จังหวัดจะได้อีกระดับหนึ่ง

ทั้งนี้ เกณฑ์การจัดสรรวัคซีนในแต่ละจังหวัด ข้อมูล ณ วันที่ 18 มิ.ย. 2564 จากเป้าหมายวัคซีน 10 ล้านโดสในเดือนกรกฎาคม 2564 ประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1 เป็นจังหวัดที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดในระดับควบคุมสูงสุด เข้มงวด และจังหวัดเศรษฐกิจท่องเที่ยว 5 จังหวัด ได้วัคซีนร้อยละ 30 แยกย่อยดังนี้

-กรุงเทพมหานคร(รวมทปอ. และประกันสังคม) จำนวน 2.5 ล้านโดส

-นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ จำนวน 6 แสนโดส

-ภูเก็ต จำนวน 2 แสนโดส

กลุ่มที่ 2 จังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือมีความเร่งด่วนในการเตรีรยมความพร้อมรอง รับสถานการณ์ภายหลังการระบาดจำนวน 23 จังหวัด ได้ร้อยละ 25 รวม 2.5 ล้านโดส(เฉลี่ยจังหวัดละ 1 แสนโดส)

กลุ่มที่ 3 จังหวัดที่เหลือของประเทศไทย 49 จังหวัด ร้อยละ 35 จำนวน 3.5 ล้านโดส (เฉลี่ยจังหวัดละ 7 หมื่นโดส)

กลุ่มที่ 4 อื่นๆ ได้แก่หน่วยฉีดส่วนกลาง องค์กรภาครัฐ และสำรองส่วนกลางสำหรับตอบโต้การระบาด ร้อยละ 10 จำนวน 1 ล้านโดส

“ อย่างไรก็ตาม การจัดสรรวัคซีนขึ้นอยู่กับบริษัทผู้ผลิตส่งมอบ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์การระบาดของโรคด้วยเช่นกัน ” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

โฆษกศบค. กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ในเรื่องการจัดหาวัคซีนโควิด เดิมตั้งกรอบการจัดหาวัคซีน 10 ล้านโดสภายในปี 2564 ซึ่งขณะนี้อาจไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องมีการขอจัดสรรเพิ่มเป็น 150 ล้านโดสภายในปี 2565 โดยต้องครอบคลุมและเพิ่มกลุ่มเป้าหมายให้มากขึ้น เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันของโรค หรือกรณีอื่นใดที่ต้องมีการใช้วัคซีนเพิ่มเติม ขณะนี้มีการจัดหาและเจรจาจองวัคซีนแล้ว 105.5 ล้านโดส แบ่งเป็นแอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส ซิโนแวค 19.5 ล้านโดส ไฟเซอร์ 20 ล้านโดส และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 5 ล้านโดส

“ดังนั้น ประเทศไทยต้องเตรียมงบประมาณจัดหาจัดซื้อวัคซีนเพิ่มเติมให้ครบ 150 ล้านโดส โดยภาครัฐจัดหาวัคซีน ดังนี้ วัคซีนซิโนแวค ประมาณ 28 ล้านโดส และวัคซีนโควิด19 อื่นๆ อีกประมาณ 22 ล้านโดส รวมเป็น 50 ล้านโดส ทั้งนี้ ขึ้นกับผลการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีน และสถานการณ์ของเชื้อกลายพันธุ์ เพราะอาจต้องมีเข็ม 3 หรือเข็ม 1 และ 2 สลับกัน ซึ่งตอนนี้นักวิจัยกำลังคิดค้น เพื่อความมั่นคงก็ต้องเตรียมพร้อมและขยายเพดานมากขึ้น” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

 

ข่าวเกี่ยวข้อง : 

แอสตร้าฯ เผยวัคซีนมีประสิทธิภาพป้องกันไวรัสสายพันธุ์เดลต้า (สายพันธุ์อินเดีย)

กรมวิทย์เผยไทยยังพบโควิดสายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) ส่วนเดลต้า(อินเดีย) ล่าสุดพบ 496 คน มากสุดกทม.

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org