ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ช่วงที่ผ่านมามีหลายคนอาจยังไม่เข้าใจว่า วัคซีนรัฐบาล วัคซีนตัวเลือก ทั้งของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และของรพ.เอกชนที่กำลังดำเนินการนั้น มีตัวไหนที่สามารถจองและใช้บริการได้แล้วบ้างนั้น ล่าสุด “Hfocus” สรุปข้อมูลเพื่อความเข้าใจอย่างง่าย

 

สืบเนื่องจากนโยบายรัฐบาลที่เดินหน้าฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แก่ประชาชนทุกคนในประเทศไทย และตั้งเป้าฉีดให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 70 หรือประมาณ 50 ล้านคนในปี 2564 โดยต้องนำเข้าวัคซีนโควิด 100 ล้านโดสในปีนี้ และล่าสุดเปลี่ยนเป็นต้องได้ถึง 150 ล้านโดสในปี 2565

ซึ่งปัจจุบัน(ข้อมูล ณ วันที่ 20 มิ.ย.2564) มีการนำเข้ามาใช้ และมีการเจรจาเพื่อทำสัญญาซื้อขายรวม 6 ยี่ห้อ ได้แก่ ซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และซิโนฟาร์ม ส่วนยี่ห้ออื่นๆ ยังอยู่ระหว่างทยอยยื่นเอกสาปรระเมินคำขอขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) มี วัคซีนสปุตนิค วี นำเข้าโดย บริษัท คินเจน ไบโอเทค จำกัด และวัคซีนโควาซิน นำเข้าโดยบริษัทไบโอจีนีเทค จำกัด

อย่างไรก็ตาม เพื่อความเข้าใจว่าใคร หรือกลุ่มใด สามารถฉีดวัคซีนกลุ่มไหนได้ หรือมีช่องทางใดที่สามารถประสานหรือลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิดได้บ้างนั้น

ล่าสุดผู้สื่อข่าว “Hfocus” ได้รวบรวมข้อมูลและสรุปเบื้องต้นเกี่ยวกับประชาชนกลุ่มไหนที่สามารถใช้วัคซีนแต่ละชนิด ดังนี้

 

** วัคซีนจากรัฐบาล

ข้อมูล ณ ปัจจุบันวันที่ 20 มิ.ย.2564 รัฐบาลได้นำเข้าและให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด19 จำนวน 2 ชนิด คือ วัคซีนซิโนแวก และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า

-  เริ่มจากการฉีดวัคซีนโควิด19 ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 2564 โดยกลุ่มเป้าหมายแรก คือ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ด่านหน้า อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน

-  ต่อมาตามแผนฉีดวัคซีน มิ.ย.-ก.ค. ฉีดให้แก่ 2 กลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ประกอบด้วย โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง เบาหวาน และโรคอ้วน ซึ่ง 2 กลุ่มนี้เมื่อรับเชื้อแล้วมีความเสี่ยงอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้

-  ระหว่างนั้นในช่วงเดือนเม.ย. มีการระบาดระลอกใหม่ขึ้น ทำให้หลังจากนั้นมีความจำเป็นต้องนำวัคซีนมาฉีดให้แก่ประชาชนทั่วไปในพื้นที่ระบาดหนัก โดยเฉพาะพื้นที่กทม.   โดยมีกรุงเทพมหานคร  สำนักงานประกันสังคม  ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.)  11 สถาบันมาช่วยฉีดวัคซีน อีกทั้ง ยังมีศูนย์ฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อ ฯลฯ

* ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ขณะนี้มีการเจรจาเตรียมนำเข้าประเทศไทย แบ่งเป็นวัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส และวัคซีนจอห์นสันฯ อีก 5 ล้านโดส แต่ปัจจุบันยังไม่มีการนำเข้ามา

   อย่างไรก็ตาม หากมีข้อสงสัยหรือสอบถามข้อมูลการลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิดของรัฐบาล ติดต่อ ดังนี้ 

-  หากเป็นส่วนภูมิภาคหรือต่างจังหวัด ติดต่อข้อมูลได้ผ่านทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดของพื้นที่ตนเอง หรือสอบถามทาง อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) หรือโทรสายด่วนกรมควบคุมโรค  1422

-  หากเป็นพื้นที่กทม. ติดต่อทางกรุงเทพมหานคร หรือเว็บไซต์ไทยร่วมใจ https://www.xn--82c3a4adfy1rc3b.com/ 

-  ทั้งนี้ กรณีผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และบุคคลที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ที่จองคิวผ่าน “หมอพร้อม” และถูกเลื่อนนัดหมายเฉพาะเดือน มิ.ย. 2564 หากท่านต้องการฉีดวัคซีนที่สถานีกลางบางซื่อ กรุณานัดหมายล่วงหน้าผ่านช่องทางต่อไปนี้

1. ติดต่อ Call Center > 02-792-2333

2. ลงทะเบียนผ่าน Google Forms > QR-Code ตามภาพ หรือ คลิกที่ https://forms.gle/649P1ddWKA9p9VaN9 จากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับตามเบอร์โทรศัพท์ที่ท่านให้ไว้

เมื่อท่านนัดหมายเรียบร้อยแล้วจะได้รับ SMS ยืนยันเวลาไปรับวัคซีนพร้อมแจ้งสถานที่ฉีดวัคซีน ให้ท่านนำบัตรประจำตัวประชาชนและ SMS ที่ได้ไปแสดง ณ ศูนย์ฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อ

หมายเหตุ: ศูนย์ฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อไม่สามารถรับผู้ที่ Walk-in ได้ เนื่องจากจัดเตรียมวัคซีนตามจำนวนผู้ที่นัดหมายล่วงหน้าเท่านั้น

 

** วัคซีนตัวเลือก “ซิโนฟาร์ม”

วัคซีนซิโนฟาร์ม เป็นวัคซีนตัวเลือกที่ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นผู้แทนในการจัดซื้อในนามรัฐ กับทางผู้ผลิต และนำเข้ามา โดยมีข้อกำหนดตามประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ซึ่งมีกฎหมายรองรับให้ดำเนินการได้ โดยกำหนดผู้ที่สามารถขอรับการจัดสรรวัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์ม ต้องเป็น

-  องค์กรนิติบุคคล หรือหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ (องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น) องค์กรการกุศล และหน่วยงานเอกชน โดยการพิจารณาการจัดสรรในระยะที่ 1 ตามประเภทการดำเนินงานของหน่วยงาน (ความสำคัญด้านความมั่นคงทางสังคม เศรษฐกิจ และความเหลื่อมล้ำ) ระดับความเสี่ยงของโอกาสในการแพร่เชื้อให้กับสังคม และระดับความเสี่ยงโควิดบนพื้นที่ของทำเลที่ตั้งสถานประกอบการ

-  โดยวัคซีนที่ทางองค์กร หรือหน่วยงานตามข้อกำหนด ศบค. เมื่อได้รับการจัดสรรจากทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ต้องนำไปฉีดให้แก่บุคลากรหรือกลุ่มคนภายใต้หน่วยงาน หรือองค์กร โดยห้ามนำไปจำหน่ายหรือคิดมูลค่าใดๆ

-   องค์กรนั้นๆ ต้องประสานจัดหาโรงพยาบาลเพื่อรองรับการฉีดวัคซีนตัวเลือก โดยโรงพยาบาลดังกล่าวจะต้องได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสถานพยาบาลให้บริการฉีดวัคซีนตัวเลือกกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เพื่อควบคุมมาตรฐานความปลอดภัย โดยค่าบริการฉีดวัคซีนนั้น สถานพยาบาลสามารถเรียกเก็บค่าใช้จ่ายได้กับองค์กร/หน่วยงานนั้นได้ แต่ห้ามเรียกเก็บจากผู้รับการฉีดเป็นอันขาด

-   องค์กรและบริษัทที่ตรวจสอบสถานะการจัดสรรวัคซีนที่ https://vaccine.cra.ac.th และได้รับการจัดสรรวัคซีนแล้ว แต่ยังไม่ได้รับอีเมลเพื่อรับรหัส log in เข้าระบบลงทะเบียน โปรดตรวจสอบที่ Junk mail ของท่าน หรือหากไม่พบอีเมลจากราชวิทยาลัยฯ แจ้ง ศูนย์ประสานงานวัคซีนตัวเลือก “ซิโนฟาร์ม” ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์  ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โทร. 02576-6000 ต่อ 7016  

-  ณ ขณะนี้ไม่ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปทำการจองฉีดวัคซีนตัวเลือก “ซิโนฟาร์ม” หรือติดต่อสอบถามข้อมูลโครงการวัคซีนตัวเลือก "ซิโนฟาร์ม"  โทร.  02576-6833 - 35   

ซิโนฟาร์ม

** วัคซีนทางเลือกของ รพ.เอกชน

-  ณ ขณะนี้ยังไม่มีการนำเข้ามา และยังไม่เปิดให้ฉีดในรพ.เอกชน เบื้องต้นมีการพิจารณาว่า วัคซีนโมเดอร์น่า จะเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ที่มีกำลังจ่าย และจัดบริการโดยรพ.เอกชน ทั้งนี้ ยังไม่กำหนดชัดเจนว่าเข้ามาช่วงไหน แต่คาดว่าจะเข้ามาช่วงเดือน ต.ค. -ธ.ค. 2564

-  สำหรับการจองวัคซีนตัวเลือกของภาคเอกชนนั้น ขณะนี้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) ประกาศให้รพ.เอกชนรายใดต้องการโฆษณาหรือประกาศที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการวัคซีนโควิด 19 ยื่นคำขออนุมัติโฆษณาหรือประกาศให้ถูกต้องทุกครั้ง โดยโฆษณาหรือประกาศฯ ที่ผ่านการอนุมัติแล้ว ย่อมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้รับบริการ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.)  ให้ข้อมูลว่า สำหรับวัคซีนตัวเลือกที่สถานพยาบาลเอกชนจะเข้ามาให้บริการฉีดวัคซีนโควิด 19 ย่อมส่งผลดีต่อพี่น้องประชาชนในการรับวัคซีนได้อย่างครอบคลุม และรวดเร็ว แต่เพื่อป้องปรามมิให้เกิดการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง และคุ้มครองประชาชนให้ได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพ มาตรฐานจากสถานพยาบาลเอกชน ในการโฆษณาหรือประกาศอันเป็นประโยชน์ทางการค้าของสถานพยาบาลจึงต้องขออนุมัติจากผู้อนุญาตเสียก่อน

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) 

ซึ่งในการโฆษณาจองวัคซีนโควิด 19 นั้น สบส.ได้มีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกำหนดแนวทางในการโฆษณาเบื้องต้นไว้ 5 ข้อ ดังนี้

1.วัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ที่จะโฆษณาต้องได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยา และได้รับการอนุมัติให้โฆษณายาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

2.โฆษณาหรือประกาศเกี่ยวกับสถานพยาบาล กรณีการจองวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ต้องยื่นขออนุมัติจากผู้อนุญาต ตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 คือ สบส. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หากได้รับการอนุมัติแล้วจึงสามารถเผยแพร่โฆษณาได้

3.หากสถานพยาบาลมีการเรียกเก็บเงินมัดจำ หรือค่าใช้จ่ายใดๆ จากประชาชน หากไม่สามารถดำเนินการตามถ้อยคำที่ปรากฏในโฆษณา จะต้องคืนเงินมัดจำหรือค่าใช้จ่ายใดๆเต็มจำนวน

4.การกำหนดระยะเวลาในการฉีดวัคซีน ต้องกำหนดระยะเวลาให้ใกล้เคียงที่จะได้รับวัคซีนมาให้บริการจริงมากที่สุด เพื่อป้องกันมิให้ประชาชนเกิดความคาดหวังเกินจริงกับระยะเวลา และป้องกันมิให้ประชาชนต้องรอคอยเนิ่นนานจนเกินสมควร

5.ในการโฆษณาทุกครั้งต้องระบุข้อความ “รัฐบาลได้มีการจัดสรรวัคซีนโควิด 19 ให้กับประชาชนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย” และ “ส่วนการจองวัคซีนโควิด 19 ของสถานพยาบาลเอกชนเป็นทางเลือกหนึ่งที่ประชาชนสามารถเลือกรับบริการได้ แต่ต้องชำระค่าใช้จ่ายเอง” เพื่อให้ประชาชนได้พิจารณาตัดสินใจก่อนรับบริการ

ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดี สบส. ให้ข้อมูลเพิ่มว่า ในช่วงที่ผ่านมานั้นการโฆษณาจองวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ของสถานพยาบาลเอกชน มิได้มีการขออนุมัติอย่างถูกต้อง กรม สบส.จึงต้องมีคำสั่งให้ระงับการโฆษณา ด้วยเนื้อหาของโฆษณาที่ยังไม่ได้รับการพิจารณาอนุมัตินั้นอาจจะมีข้อความที่ไม่ถูกต้อง สร้างความเข้าใจผิดแก่ประชาชน ประกอบกับที่ผ่านมาภาคเอกชนก็ยังไม่มีกำหนดเวลาของวัคซีนที่เข้ามาอย่างชัดเจน และบางครั้งก็มีการเก็บค่ามัดจำ/ค่าจองซึ่งเป็นภาระของภาคประชาชน ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความคาดหวังเกินจริงและร้องเรียนภายหลังได้ ทั้งนี้ หากสถานพยาบาลเอกชนแห่งใดมีข้อคำถาม หรือต้องการคำแนะนำในการขออนุมัติโฆษณาหรือประกาศของสถานพยาบาล ก็สามารถติดต่อขอคำปรึกษาได้ที่กองกฎหมาย   สบส.ผ่านสายด่วน 1426 หรือสำนักงานสาธารณสุขในพื้นที่ ในวันและเวลาราชการ

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง