ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรคไม่นิ่งนอนใจ! ติดตามการตอบสนองวัคซีนอย่างใกล้ชิด พร้อมประเมินตามสถานการณ์ กรณีวัคซีน “ซิโนแวค” ที่กังวลประสิทธิภาพ ขณะที่รัฐบาลสั่งเพิ่มอีกนั้น ขอให้รอข้อมูลวิชาการก่อน ขณะนี้รับฟังข้อมูลทุกด้านพร้อมนำเข้าคณะกรรมการวิชาการพิจารณา สิ่งสำคัญต้องหาวัคซีนให้ได้มากและเร็ว เพื่อป้องกันควบคุมโรค

เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2564 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงกรณีมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์แผนการนำเข้าวัคซีนโควิด 150 ล้านโดสภายในปี 2565 ที่จะมีการสั่งซิโนแวคเพิ่มเข้ามาอีก 28 ล้านโดส เนื่องจากมีข้อกังวลประสิทธิภาพซิโนแวค ว่า ความรู้เรื่องวัคซีนโควิดมีการเปลี่ยนแปลงทุกวัน ซึ่งซิโนแวคเป็นวัคซีนที่มีมาตรฐาน ทั้งองค์การอนามัยโลก และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) มีการรับรอง เป็นวัคซีนที่ใช้ได้ และประสิทธิภาพ ทั้งการป้องกันเชื้อ ป้องกันอาการรุนแรง ลดการเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องนี้มีการฟังข้อมูลหลายๆด้านประกอบกัน และจะนำเข้าสู่คณะกรรมการวิชาการพิจารณา แต่จะไม่มีการปรับรายวัน ซึ่งเรามีการฟังข้อมูลรอบด้าน

เมื่อถามว่า คนกังวลเรื่องประสิทธิภาพของซิโนแวค จึงทำให้มีการเสนอว่าไม่ควรนำเข้ามาเพิ่มอีก นพ.โอภาส กล่าวว่า ประเด็นการตอบสนองต่อวัคซีนยังคงติดตามข้อมูลอีกสักระยะหนึ่ง และค่อยประเมิน ตอนนี้คือต้องฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด ส่วนจะมีเหตุการณ์ต้องปรับเปลี่ยนก็จะปรับตามสถานการณ์ แต่ขณะนี้ทางกระทรวงฯ ให้พยายามจัดหาวัคซีนให้มากขึ้น ทั้งซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า และเรากำลังเจรจากับไฟเซอร์ อีกทั้ง ยังมีของซิโนฟาร์มที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ดำเนินการด้วย

“ขอย้ำว่าเรามีการหาวัคซีนทุกยี่ห้อ และมีการเจรจาอย่างต่อเนื่อง เพราะบางบริษัทก็ไม่ได้อยากให้เราเปิดเผยมากนัก แต่อย่างไรเสียประชาชนจะได้รับวัคซีนแน่นอน” นพ.โอภาส กล่าว และส่วนกรณีญี่ปุ่นจะบริจาควัคซีนแอสตร้าฯ ให้เราขอย้ำว่า เป็นวัคซีนที่ได้มาตรฐาน

เมื่อถามย้ำว่าการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 หากไม่ใช่ยี่ห้อเดิม โดยเฉพาะซิโนแวคที่เป็นคนกังวลกันมาก นพ.โอภาส กล่าวว่า ขอให้รอข้อมูลวิชาการก่อน เพราะตอนนี้ยังเร็วไปที่จะพูด อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้ฟังความเห็นของคนใดคนหนึ่ง เรามีคณะกรรมการวิชาการพิจารณา ซึ่งมีการประชุมอย่างสม่ำเสมอ

“ขณะนี้เราก็มีการมองวัคซีนทางเลือกกรณีฉีดข้ามยี่ห้อ ซึ่งก็คล้ายกับที่ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ จุฬาฯ กำลังศึกษาอยู่ ถึงบอกว่าความรู้เปลี่ยนรายวัน จึงขอให้รอข้อมูลรอบด้าน เพราะอย่างไรเสียเรามีทีมในการติดตาม ประเมินสถานการณ์ที่ดีที่สุดเหมาะสมที่สุด” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

เมื่อถามว่าการควบคุมโรคทางภาคใต้จะดำเนินการอย่างไร ยิ่งมีสายพันธุ์เบต้า(แอฟริกาใต้) นพ.โอภาส กล่าวว่า มีการเข้มมาตรการป้องกันตามนโยบายท่านรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการสธ. ซึ่งมีการดำเนินการอยู่แล้ว แต่ก็จะเพิ่มมากขึ้น โดยทางผู้ว่าราชการจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ในฐานะคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดรับทราบนโยบายนี้และกำชับทางกระทรวงมหาดไทย และมีการติดต่อทางส่วนกลางอย่างเข้มงวด

เมื่อถามต่อว่ากรณีทางภาคใต้ที่เจอที่โรงเรียนแต่ไม่มีการสกัด จนนำเชื้อไปแพร่ต่อนั้น นพ.โอกาส กล่าวว่า รายละเอียดขอให้ทางจังหวัดเป็นผู้รายงาน ซี่งก็รายงานมาส่วนกลาง แต่เราก็ได้กำชับ เพราะประชาชนอาจเข้าใจผิดว่า เจอเคสแล้วให้ปิด ซึ่งเราบอกตลอดว่า การปิดไม่ใช่แก้ปัญหา แต่การแก้ปัญหาคือ อย่าให้เดินทางออกมา ซึ่งจะตรงกับมาตรการบับเบิ้ลแอนด์ซิล ส่วนสายพันธุ์แอฟริกาใต้ก็มีการกักตัวอย่างน้อย 21 วัน ส่วนจะ 1 เดือนหรือไม่ต้องให้คณะกรรมการวิชาการพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งขณะนี้มีการเฝ้าระวังสายพันธุ์ต่อเนื่อง