ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก จุฬาฯ ศึกษาวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 จำเป็นหรือไม่ต้องใช้วัคซีนสลับยี่ห้อ หรือยี่ห้อเดียว ศึกษาการกระตุ้นภุมิคุ้มกัน พร้อมพิจารณาระยะเวลากระตุ้นเข็ม 3 ขอเวลา 1-2 เดือนได้ข้อมูลพร้อมปรับกลยุทธ์การให้วัคซีนสอดคล้องสายพันธุ์เดลต้า(อินเดีย) แทนที่อัลฟา (อังกฤษ)

 

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ไวรัส ผ่านระบบ ZOOM ว่า การเปลี่ยนแปลงของไวรัสเป็นเรื่องปกติ อย่างดั้งเดิมมาจากจีน ที่เรียกว่า อูฮั่น เนื่องจากยังไม่ได้ตั้งชื่อ เมื่อแพร่ระบาดนอกประเทศ โดยเมื่อไปทางประเทศยุโรป เราจะได้ยินคำว่าสายพันธุ์จี (G) ซึ่งสายพันธุ์ใดก็ตามที่แพร่ระบาดง่ายและรวดเร็วก็กลบสายพันธุ์ดั้งเดิมไป จึงเห็นว่า สายพันธุ์จีเริ่มกระจายมี.ค. เม.ย. พ.ค. หลังจากอูฮั่นระบาดประมาณ 4-5 เดือน ขณะนั้นสายพันธุ์จีก็ครองโลก ซึ่งแพร่กระจายง่ายแต่ความรุนแรงไม่เปลี่ยนไป จากนั้นก็เปลี่ยนเป็นสายพันธุ์อัลฟ่า หรือสายพันธุ์อังกฤษมาแทนที่เริ่ม ต.ค. และระบาดเต็มที่หลังจากปีใหม่ และเดือน ก.พ. มี.ค.ก็กระจายค่อนข้างมากนั่นเอง

“สายพันธุ์อัลฟา แพร่กระจายได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ G ประมาณ 1.7 เท่า จึงทำให้สายพันธุ์อัลฟา หรือสายพันธุ์อังกฤษมาครอง ซึ่งตามวัฎจักรจะอยู่ประมาณ 4-5 เดือน อย่างไรก็ตาม สำหรับสายพันธุ์เดลต้า หรืออินเดีย เราพบเริ่มต้นในแคมปคนงานแถวหลักสี่ เริ่มจากคนวัยทำงาน โดยสายพันธุ์เดลต้าแพร่ง่ายกว่าอังกฤษ 1.4 เท่า ซึ่งตามวัฎจักรนั้น เราก็ต้องพยายามต่อสู้เดลต้าให้ได้ โดยหากเราพยากรณ์อีก 4-5 เดือนข้างหน้า สายพันธุ์ที่จะระบาดในประเทศไทยจะค่อยๆเป็นเดลต้า และในที่สุดทั่วโลกสายพันธุ์เดลต้าจะกลบสายพันธุ์อัลฟา หรืออังกฤษต่อไป และเราเชื่อว่าตามวัฎจักรจะไม่สิ้นสุดแค่สายพันธุ์เดลต้า จะมีสายพันธุ์อื่น ทั้งนี้ ขอย้ำว่า ไม่ว่าจะสายพันธุ์เดลต้า หรืออัลฟา ความรุนแรงไม่ได้เปลี่ยนแปลง” ศ.นพ.ยง. กล่าว

 

 

** ประสิทธิภาพวัคซีนต่อสายพันธุ์ไวรัส

 

ศ.นพ.ยง กล่าวถึงประสิทธิภาพของวัคซีนต่อสายพันธุ์ต่างๆ ว่า วัคซีนทุกบริษัทในโลกนี้ล้วนพัฒนามาจากสายพันธุ์ดั้งเดิมของจีน ที่เรียกว่า อูฮั่น ดังนั้น เมื่อมาเจอสายพันธุ์ที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ก็เป็นไปได้ที่วัคซีนจะลดประสิทธิภาพลดทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะมีการพัฒนาวัคซีนเจเนอเรชั่น 2 แบบไข้หวัดใหญ่ที่มีการพัฒนามาเรื่อยๆ ซึ่งจะใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน ดังนั้น ทั่วโลกก็จะเผชิญกับการใช้วัคซีนตัวเดิมแต่สายพันธุ์เปลี่ยนไปเรื่อยๆ โดยสายพันธุ์ที่หลีกเลี่ยงวัคซีน ที่ทำให้ประสิทธิภาพน้อย คือ สายพันธุ์เบต้าหรือแอฟริกาใต้ แต่ทั่วโลกไม่ค่อยกลัว แต่อำนาจในการแพร่กระจายโรคต่ำกว่าสายพันธุ์อัลฟา และเดลต้า โอกาสที่สายพันธุ์แอฟริกาใต้จะครองโลกก็จะช้า

ศ.นพ.ยง กล่าวอีกว่า มีการศึกษาสายพันธุ์เดลต้าในสก๊อตแลนด์ ใช้วัคซีนไฟเซอร์ ร่วมกับแอสตร้าเซนเนก้า ประสิทธิภาพของวัคซีนทั้ง 2 ตัวลดลงประมาณ 10% เศษๆ ซึ่งยังป้องกันได้ แต่ประสิทธิภาพลดลง จากเดิมไฟเซอร์ป้องกันได้กว่า 90% แต่พอมาเจอเดลต้า พบว่า ประสิทธิภาพของไฟเซอร์ที่ให้ 2 เข็มป้องกันได้ 79% ในทำนองเดียวกันสายพันธุ์เดลต้าต่อวัคซีนแอสตร้าฯที่ให้ 2 เข็ม เหลือ 60% ก่อนหน้านี้เกือบ 90% ดังนั้น ภูมิที่ต่ำกว่าจะป้องกันไม่ได้ ไม่ว่าไฟเซอร์หรือแอสตร้าฯ หากฉีดเข็มเดียว ระดับภูมิฯที่สูงไม่เพียงพอ ประสิทธิภาพป้องกันโรคก็จะลดลงเหลือ 20-30% ของทั้ง 2 ตัว แสดงให้เห็นว่าภูมิคุ้มกันที่ต้องการใช้ต้องได้ปริมาณสูง ประเทศไทยจึงต้องชะลอการระบาดของเดลต้าให้มากที่สุด เมื่อรู้ว่าติดง่ายในชุมชน ในแรงงาน จึงต้องช่วยกันทั้งหมด

ศ.นพ.ยง กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีการศึกษาอยู่ เช่น หากเราต้องการให้ภูมิต้านทานสูงขึ้น อาจต้องให้แอสตร้าฯ เข็ม 2 เร็วขึ้นหรือแม้กระทั่งซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม เมื่อฉีด 2 เข็มแล้ว ภูมิต้านทานอาจต่ำอยู่ จึงต้องกระตุ้นเข็ม 3 เข้าไป ซึ่งเราเชื่อว่าเข็ม 3 จะกระตุ้นให้สูงเป็นน้อยๆไฟเซอร์ เพราะหลักการของการให้วัคซีน เมื่อมีกระตุ้นในเวลาที่เหมาะสมภูมฯจะขึ้นสูงกว่า 10 เท่า ซึ่งจะเพียงพอในการป้องกันสายพันธุ์เดลต้า ดังนั้น เมื่อทรัพยากรเรามีจำกัด ทุกคนอยากได้วัคซีนมีภูมิฯ สูง แต่แน่นอนว่า วัคซีนที่ภูมิฯสูง ผลข้างเคียงก็สูง วัคซีนที่ภูมิฯต่ำ ผลข้างเคียงก็ต่ำกว่า แต่เมื่อทรัพยากรมีแค่นี้ ระหว่างที่รอ ทั้งไฟเซอร์หรือโมเดอร์น่า ซึ่งเชื่อว่าจะได้เดือน ต.ค.

“ ตอนนี้จึงต้องชะลอการระบาดของเดลต้า และปูพรมการฉีดวัคซีนที่มีอยู่ให้ได้มากที่สุด เพื่อควบคุมการระบาดโควิดสายพันธุ์อัลฟา หรืออังกฤษที่ระบาดอยู่ขณะนี้ และเมื่อถึงเวลาสายพันธุ์เดลต้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะมีกลยุทธ์ในการปรับแผนการให้วัคซีน เพราะขณะนี้หลายมหาวิทยาลัยมีการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีน เพื่อปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสมต่อไป” ศ.นพ.ยง กล่าว และว่า ถึงเวลาแล้วที่พวกเราทุกคนจะต้องยอมรับวิวัฒนาการของไวรัสที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จนกว่าจะมีวัคซีนในเจเนอเรชั่นที่ 2 ดังนั้น ต้องยกการ์ดให้สูง มีระเบียบวินัยป้องกันตนเองให้มากขึ้น

 

** อยู่ระหว่างศึกษากระตุ้นเข็ม 3 ต้องสลับยี่ห้อหรือยี่ห้อเดียวกัน

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าการให้วัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ในคนที่ได้รับซิโนแวค ต้องเป็นวัคซีนแอสตร้าฯ หรือยี่ห้ออื่นเพื่อกระตุ้นภูมิสูงขึ้นหรือไม่ ศ.นพ.ยง กล่าวว่า จริงๆ ข้อมูลทั้งหมดยังไม่มี แต่หลักการของการให้วัคซีน ขอยกตัวอย่าง ไวรัสตับอักเสบบี ทำไมต้องให้ 3 เข็ม เพราะเข็มแรกๆ เป็นการให้ครั้งแรกในการป้องกันโรคก่อน ส่วนเข็ม 3 ต้องทิ้งช่วง ซึ่งทั่วไปเข็ม 3 จะกระตุ้นภูมิฯ ได้มากกว่า 10 เท่า อย่างไวรัสตับอักเสบบีใช้วัคซีนตัวเดียวกันก็กระตุ้นได้ 10 เท่า ดังนั้น ขณะนี้ศูนย์ฯที่จุฬาฯ กำลังเริ่มศึกษาอยู่ว่า การตัดสินใจให้เข็ม 3 อยู่ที่ 3 เดือนหรือ 6 เดือน ซึ่งเชื่อว่าภูมิฯจะสูงขึ้นเกิน 10 เท่า แม้จะได้วัคซีนตัวเดิม หรือเปลี่ยนเป็นแอสตร้าฯ ก็ได้ แต่สิ่งสำคัญต้องอยู่ที่ความปลอดภัย ซึ่งข้อมูลจะออกมาเร็วๆนี้

** คาด 1-2 เดือนรู้ผล! ศึกษาประสิทธิภาพวัคซีนต่อสายพันธุ์ กับแนวโน้มการสลับวัคซีน

 

“ขณะนี้กำลังศึกษามาเยอะแล้ว แต่กำลังดูเรื่องอาการข้างเคียง ส่วนตัวเลขวัดระดับภูมิต้านทานต่างๆ เรามีตัวเลขแล้ว คาดว่า 1-2 เดือนน่าจะมีผลออกมา ขณะที่ทั่วโลกมีการศึกษาเช่นกัน เช่น อังกฤษ สเปน แคนาดา แต่ส่วนใหญ่ศึกษาแตกต่างจากเรา เพราะวัคซีนเชื้อตายไม่ได้ถูกใช้ในยุโรป แต่ส่วนใหญ่เขาใช้ mRNA และไวรัลเว็กเตอร์ (Viral Vector) เขาบอกว่าสลับกันได้ และภูมิคุ้มกันดีขึ้น ทั้งไฟเซอร์ และแอสตร้าฯ แต่อาการข้างเคียงของเข็ม 2 จะมากขึ้น แต่ของเราเองที่ผ่านมาเราให้ซิโนแวคและตามด้วยแอสตร้า อาการข้างเคียงยังเก็บไม่ได้เยอะว่ามากขึ้นน้อยลง เพราะต้องเปรียบเทียบกับการให้ภาวะปกติ แต่แน่นอนว่า การให้ซิโนแวคกับแอสตร้าสูงกว่าซิโนแวค 2 เข็ม แต่ขณะนี้สายพันธุ์ไทยยังเป็นอัลฟาอยู่ ยังไม่ใช่เดลต้า ส่วนเบต้ายิ่งน้อยมาก ดังนั้น ข้อมูลการศึกษาจะทันกับการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า” ศ.นพ.ยง กล่าว และว่า ประสิทธิภาพของการใช้วัคซีนผสมผสานต้องใช้กับความเป็นจริง เช่น ไปฉีดเกาะสมุยจะไปบอกความจริงได้