ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมการแพทย์เผยสถานการณ์เตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาลรัฐประสบปัญหาหนัก ผู้ป่วยสีแดงในกทม.เหลือ 20 เตียง จากเดิมคาดการณ์ระลอกเม.ย. รองรับวันละ 400-500 คน ขณะนี้ทุกรพ.เบ่งเตียงไอซียูทุกสังกัด แต่ล่าสุด 2 เดือนที่ผ่านมา ผู้ป่วยกทม.เพิ่มขึ้นทุกวัน เสียชีวิตเพิ่มอีก กลุ่มสีเหลืองขยับเป็นสีแดงเพิ่ม!

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 23 มิ.ย. ที่รพ.ราชวิถี นพ. สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์เตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาลรัฐทุกระดับสี ในพื้นที่ กทม. ทุกแห่งศักยภาพการรับเกือบเต็มที่จะรับผู้ป่วยแล้วรายใหม่แล้ว โดยเฉพาะเตียงผู้ป่วยสีแดงในกทม. เหลือประมาณ20 เตียง จากเดิมที่เคยคาดการณ์การระบาดระลอกเดือนเม.ย.จะมีเตียงรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มวันละ 400-500 คน ขณะนั้นแต่ละโรงพยาบาลได้เบ่งเตียงไอซียูในทุกสังกัดเพิ่มขึ้นเท่าตัวจาก 200 กว่าเตียงเพิ่มเป็น 440 เตียง รวมถึงการแบ่งโซน6พื้นที่ในกทม. เพื่อดูแลผู้ป่วย และบริหารจัดการเตียงร่วมกัน แต่2เดือนที่ผ่านมาจำนวนผู้ติดเชื้อใน กทม. ยังคงเพิ่มขึ้นทุกวันมากกว่าพันคนในแต่ละวัน ทำให้เตียงที่จะรองรับผู้ป่วยทุกระดับสี เกือบวิกฤต

อีกทั้ง แนวโน้มกลุ่มผู้ป่วยสีเหลือง อาการหนักขึ้น กลายเปลี่ยนเป็นสีแดงเพิ่มขึ้นด้วย ส่งผลให้อัตราครองเตียงสีแดงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ โรงพยาบาลเอกชนในกทม.ประมาณ100-200 แห่ง แม้จะมีห้องไอซียูรองรับได้แห่งละ 1-2 เตียง แต่ปัญหาสำคัญคือ ขาดบุคลกรทางการแพทย์ ในการดูแล เนื่องจากบุคลกรเหล่านี้ก็มาจากโรงพบาบาลรัฐที่ทำงานนอกเวลา บุคลกรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข โรงพยาบาลรัฐทุกแห่งตอนนี้ ทำงานเกินกำลังในการดูแลผู้ป่วยทุกคนอยู่แล้ว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุข และทุกฝ่ายพยายามแก้ปัญหาทุกวิถีทาง ทั้งการแบ่งโซนดูแลผู้ป่วยแต่ละพื้นที่ โดยหลักตอนนี้ คือ ทำอย่างไรให้ลดจำนวนผู้ป่วยอาการรุนแรงลงให้ได้มากที่สุด ล่าสุด เมื่อ 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมาได้หารือ กับ กทม. ออกแนวทาง Community Isolation คือ การแยกตัวออกจากชุมชนทันที และทำบับเบิลแอนด์ซิลไว้ ขณะเดียวกันตอนนี้ มีการติดเชื้อในผู้สูงอายุมากขึ้น เบื้องต้นได้หารือ กทม. จัดทำแนวทาง Nursing home isolation หากผู้ดูแลและผู้สูงอายุติดเชื้อ แต่อาการไม่มาก ให้ผู้ดูแลช่วยดูแลผู้สูงอายุระหว่างรอเตียง และจะมีแพทย์ในพื้นที่คอยประสานให้คำปรึกษาเพื่อผ่อนคลายระหว่างการจัดสรรเตียง

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ผู้เสียชีวิตรายวัน เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนใหญ่ ร้อยละ80-90 มีโรคร่วม เบาหวาน ความดัน อ้วน และตอนนี้พบผู้สูงอายุติดเตียงมากขึ้น ได้หารือ กับ กทม. เร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้ป่วยติดเตียงมากขึ่น เพื่อลดป่วย ลดเสียชีวิต ยืนยันการพบผู้เสียชีวิตที่มากขึ้นไม่ได้มาจากระบบการรักษาที่ด้อยประสิทธิภาพ แต่เป็นตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้นและสะสมมา และยืนยันยาฟาวิพาราเวียร์ ยังเมีเพียงพอ ขณะนี้ปรับให้ยาเร็วขึ้น เช่น ผู้ติดเชื้อมีอาการเล็กน้อยแต่มีโรคร่วมก็ให้ยาทันที รวมทั้งได้เพิ่มแนวทาง การให้นำยาฟ้าทะลายโจร มารักษาผู้ป่วยโควิดที่ไม่มีอาการ

“ขอประชาชนล็อกดาวน์ตัวเอง และเคร่งครัดมาตรการทางสังคม แม้การรับประทานอาหารกับคนรู้จักหรือคนในครอบครัว ก็ควรเว้นระยะห่าง เพราะขณะนี้ เราไม่รู้เลยว่า คนรอบข้าง หรือคนที่เราไปเจอ มีใครติดเชื้อบ้าง.” นพ.สมศักดิ์กล่าว

ด้าน นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า ขณะนี้เตียงผู้ป่วยไอซียูโควิด-19 ในรพ.ราชวิถี เต็มทุกเตียง ทั้งไอซียูเต็มรูปแบบ และไอซียูส่วนต่อขยายที่เพิ่มมา การดูแลผู้ป่วยสีแดงอัตราครองเตียงในห้องไอซียูโควิด เฉลี่ยอยู่ประมาณ10-20วันขณะนี้ผู้ป่วยฉุกเฉินที่เข้ามาที่โรงพยาบาล ยังต้องให้รอในหอผู้ป่วยฉุกเฉินเพื่อประสานหาเตียงที่อื่นรองรับ

ทั้งนี้ภาพรวมสถานการณ์เตียงในกรุงเทพ และปริมณฑลวันที่ 21 มิ.ย. จากกรมการแพทย์ พบว่า ห้องสำหรับผู้ป่วยสีแดง อย่างห้องไอซียูความดันลบ ผู้ป่วยครองเตียง 268 เตียง ว่าง 46 เตียง หอผู้ป่วยวิกฤตที่ดัดแปลงเป็นห้องความดันลบ ครองเตียง 689 เตียง ว่าง 68 เตียง ห้องไอซียูรวม ครองเตียง 267 เตียง ว่าง 34 เตียง ห้องสำหรับผู้ป่วยสีเหลือง ห้องแยก ครองเตียง 3,529 เตียง ว่าง 527 เตียง ห้องสามัญ ครอง 6,582 ว่าง 1,458 เตียง และห้องสำหรับผู้ป่วยสีเขียว hospitel ครองเตียง 10,263 ว่าง 3,267 เตียง เตียงสนาม ครองเตียง ว่าง 803 เตียง