ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เลขาฯ สพฉ. ตอบประเด็น รพ.บางแห่งตรวจพบเชื้อ แต่ให้ผู้ป่วยเดินทางผ่านรถสาธารณะเข้ารักษาด้วยตัวเอง เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง สิ่งสำคัญต้องปฏิบัติตามขั้นตอนเข้าสู่ระบบการเคลื่อนย้าย ย้ำ! สพฉ.มีทีมปฏิบัติงานนำส่งผู้ป่วย ขอแค่ประสานตามระบบรองรับ พร้อมเสริมความมั่นใจเตรียมทีมปฏิบัติงานรองรับวิกฤตผู้ป่วยเพิ่ม!

ตามที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์กรณีมีโรงพยาบาลภาครัฐแห่งหนึ่งทำการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้แก่ประชาชนและพบการติดเชื้อ จากนั้นได้แจ้งไปยังบุคคลดังกล่าว เพื่อให้เดินทางมารักษาตัวที่โรงพยาบาลเอง เนื่องจากไม่มีรถนำส่ง ทำให้ผู้ป่วยกังวลใจว่าหากเดินทางมาเองผ่านรถสาธารณะจะทำให้เกิดการแพร่เชื้อหรือไม่นั้น และต้องมีการดำเนินการอย่างไร

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า ขณะนี้ได้มอบหมายเจ้าหน้าที่ของทาง สพฉ. ประสานงานไปทางโรงพยาบาลภาครัฐดังกล่าว เพื่อหารือกันว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ซึ่งความเป็นจริงก็มีเคสลักษณะนี้เช่นกัน แต่หลังจากทราบ ทางสพฉ. ได้รีบดำเนินการและผู้ป่วยรอไม่นานไม่ถึง 1 วันก็มีรถไปรับเพื่อรักษาต่อทันที เพราะข้อเท็จจริงแล้วระบบการส่งต่อผู้ป่วยโควิด จะมีขั้นตอนในการดำเนินการ ซึ่งทางโรงพยาบาลที่ทำการตรวจเชื้อโควิดเมื่อพบผู้ป่วยก็จะทราบขั้นตอนนี้ดีอยู่แล้ว ว่า หากมีการตรวจ เมื่อพบเชื้อก็จะผ่านขั้นตอนการนำส่งโดย 1669

“ก่อนหน้านี้ก็เคยมีเคสประกันสังคมที่มีการตรวจเชิงรุกโดยรพ.เอกชน แต่ขณะนั้น รพ.เอกชนรับไม่ไหว จึงมีการส่งเรื่องมายัง สพฉ. ซึ่งเราก็ดำเนินการให้ทันที สิ่งสำคัญต้องยึดหลักการต้องไม่ให้ผู้ป่วยเดินทางมารักษาด้วยตัวเอง ขณะนี้ทาง สพฉ. ดำเนินการไปแล้วกว่า 8 พันเคสแล้ว ซึ่งตัวเลขก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ทาง สพฉ. เตรียมพร้อมมาตลอด โดยปัจจุบันมีขึ้นทะเบียนประมาณ 150 ทีม แต่ที่ผ่านมาทำงานอยู่ที่ 20-30 ทีมต่อวัน แต่ในกรณีที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เรายังมีทีมอีกมาก” เลขาฯ สพฉ. กล่าว

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวว่า จึงขอให้มั่นใจศักยภาพทีมเคลื่อนย้าย อย่างไรก็ตาม การรักษาผู้ป่วยสีเขียว สีเหลืองเรามีพร้อม แต่ตอนนี้ที่ต้องระวังคือ สีแดง สิ่งสำคัญต้องช่วยกันหมด ไม่ใช่แค่สถานพยาบาล แต่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือ ประชาชนต้องช่วยกันป้องกันโรค มีวินัยในการปฏิบัติตัวอย่างสม่ำเสมอ ลดการเกิดคลัสเตอร์ใหม่ เพราะตอนนี้ที่สำคัญต้องลดการไปอยู่ห้องไอซียูให้มากที่สุด