ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์ประชุมร่วม โรงเรียนแพทย์ - กทม. หาทางออกผู้ป่วยโควิดพุ่ง! ไร้เตียงรักษา “สาธิต” ห่วงรอบ 7 วันอาจมีคนไข้รอเตียงเสียชีวิต เร่งหาทางออก เพิ่มไอซียูสนาม เตียงวิกฤตสีแดง พร้อมเพิ่มมาตรการดูแลรักษาตัวเองที่บ้านสำหรับกลุ่มสีเขียว Home Isolation และการดูแลตัวเองในระบบชุมชน (Community Isolation)

เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่กรมการแพทย์ นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมร่วมกับกรมการแพทย์ โรงเรียนแพทย์ และกรุงเทพมหานคร เพื่อหารือเรื่องการบริหารจัดการเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ว่า สถานการณ์ขณะนี้พบว่าผู้ป่วยอาการสีแดง 10 ราย ที่รอเตียงอยู่นั้น จะหาเตียงให้ได้แค่ 2 ราย อีก 8 คนต้องรอเตียงเกิน 1 วัน ส่วนผู้ป่วยอาการสีเหลือง ในระบบมีประมาณ 500 ราย ต้องรอเตียงเกิน 2 วันประมาณ 200 กว่าราย

“ส่วนผู้ป่วยสีเขียว โทรขอรับเตียง 1,641 คน มี 783 คน ต้องรอนานเกิน 3 วัน วันนี้(1 ก.ค.) ผู้ป่วยที่เข้ามาในระบบซึ่งมีทั้งการตรวจเชิงรุก และการเข้ามาในรพ. ซึ่งกรณีที่มารพ. แสดงว่าต้องมีอาการถึงเดินเข้ามา ดังนั้นคิดว่าจะต้องมีผู้ป่วยอีกจำนวนหนึ่งที่ยังอยู่ที่บ้าน ซึ่งที่ประชุมในวันนี้มีความกังวลถึงสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในรอบ 7 วันนี้ อาจจะมีผู้ป่วยรอเตียงเสียชีวิตที่บ้านอีก” นายสาธิต กล่าว

นายสาธิต กล่าวว่า ที่ตนออกมาพูดเพื่อสะท้อนเพื่อให้ประชาชนเห็นภาพก่อน ในขณะที่รัฐบาลพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อหาเตียงในแต่ละส่วนเพิ่มเติมทั้งสีเหลือง แดง ไอซียูสนาม เช่น ที่ราบ 11 ทำไอซียูสนาม 50 เตียง รพ.ราชพิพัฒน์ จะเริ่มที่ 10 เตียงในวันที่ 10 ก.ค. รวมถึงกทม. และรพ.อีกจำนวนหนึ่ง ขณะเดียวกันก็เตรียมมาตรการดูแลรักษาตัวเองที่บ้าน (Home Isolation) สำหรับผู้ป่วยอาการสีเขียว และการดูแลตัวเองในระบบชุมชน (Community Isolation) อย่างไรก็ตาม มาตรการต่างๆ ที่เตรียมไว้นั้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ภายในระยะเวลา 7-14 วันนี้ เพราะต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนด้วย อย่างไรก็ตาม หากการจัดหาเตียงสีแดง สีเหลืองมีมากขึ้น และกระบวนการที่เราทำนั้นเกิดผลในทางบวกก็จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น

“ผมต้องขอโทษคนไข้ และครอบครัวผู้ต้องสูญเสีย ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ทำอะไร ทุกคนทำเต็มที่ เดินหน้าเต็มตัว เขย่งทำ หมอและทีมที่ดูแลผู้ป่วยก็ขยายตัวในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ผมพูดนี้เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ที่ตรงกัน รัฐบาลก็พยายามแก้ไขสถานการณ์แล้ว แต่เรื่องนี้ไม่ได้ตอบแค่เรื่องเตียง เรื่องเงินแต่ตอบด้วยวิชาชีพ ผมยังย้ำว่าการดูแลผู้ป่วยต้องให้แพทย์นำการเมือง ถ้าเอาการเมืองทำแพทย์สถานการณ์จะไม่ดีขึ้น ย้ำเป็นครั้งที่ 200” นายสาธิต กล่าว

สำหรับคนที่รอเตียงอยู่ที่บ้านต้องปฏิบัติตัวเองอย่างไร นายสาธิต กล่าวว่า วันนี้เราทั้งโฮมไอโซเลชั่น และคอมมูนิตี้ไอโซเลชั่น มีผู้เสนอให้มีพยาบาลคอยดูแลด้วย ซึ่งลงมือทำแล้ว อย่างไรก็ตาม ตนไม่ได้โยนภาระให้กับประชาชน แต่คิดว่ามาตรการในส่วนที่ป้องกันโรคระบาด เราทราบดีว่าโรคระบาดเกิดจากการที่คนมาสัมผัสกัน ดังนั้นการเว้นระยะห่างระหว่างกันจะช่วยป้องกันได้ เพราะฉะนั้นเพียงแต่เราดูแลตัวเอง ดูแลคนที่เรารักก็จะเป็นการช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นระดับหนึ่ง ส่วนเรื่องการจัดการ การควบคุมโรคเป็นหน้าที่ของรัฐ แต่หากได้รับความร่วมมือจากประชาชนทำให้สมบูรณ์แบบมากขึ้น จึงอยากให้ประชาชนเข้าใจ และอย่าประมาท

ผู้สื่อข่าวถามว่าวันนี้มีประชาชนส่วนหนึ่งที่ไม่เชื่อใจ และมีการต่อต้านมาตรการของรัฐ เช่น เกิดกระแสนั่งกินอาหารในร้านหรือการออกมารวมตัวกันทำกิจกรรมต่างๆ จำต้องมีการทำความเข้าใจอย่างไร นายสาธิต กล่าวว่า ก็ต้องกลับไปจุดเดิมที่พูดมาแล้วว่าในสถานการณ์วิกฤต เราทะเลาะกันไม่ได้ เอาเหตุผลมาคุยกัน ไม่ชอบ หรือไม่เห็นด้วยก็มีสิทธิที่จะเสนอข้อมูล คนทำก็มีข้อจำกัด และมีความตั้งใจ คนวิจารณ์ก็มีความเข้าใจระดับหนึ่ง เอาสิ่งเหล่านี้มาประมวลกัน คนทำก็ต้องรับฟัง ไม่ใช่ว่าพอมีคนไม่เห็นด้วยแล้วไปตำหนิเขาก็ไม่ได้ เวทีสภาวันนี้ พรุ่งนี้มีการตั้งญัตติด่วนเพื่อพิจารณาเรื่องสถานการณ์โควิด คิดว่าจะเป็นประโยชน์

“แต่ทั้งหมดต้องขอความร่วมมือจากประชาชน อย่าต่อต้านเพื่อเป้าหมายเดียวกันคือเราต้องเดินกลับไปสู่สถานการณ์ปกติให้ได้ ให้เร็วที่สุด”นายสาธิต กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีประชาชนแห่กลับบ้าน แล้วสถานการณ์ผู้ติดเชื้อและเตียงในต่างจังหวัดเป็นอย่างไรบ้าง นายสาธิต กล่าวว่า ในต่างจังหวัดในเรื่องของการทำรพ.สนาม รวมถึงการบูรณาการระบบสุขภาพร่วมกันนั้นไม่มีปัญหา หากผู้ป่วยไม่มากเกินไป คิดว่าในต่างจังหวัดยังพอเอาอยู่ แต่ต้องระวังเรื่องเชื้อเดลตาที่มีการแพร่เร็ว อย่างไรก็ตาม ต่างจังหวัดมีประสบการณ์ตะครุบสะเก็ดไฟได้ดีมาแล้ว หวังว่าสถานการณ์จะไม่หนักไปกว่านั้น ถือว่าคุมสะเกิดไฟได้ดีกว่ากทม. ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้เตรียมพร้อมรับมืออยู่แล้ว รวมถึงประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแล ทั้งหมดนี้อยู่ที่ต้องสะท้อนความเป็นจริงให้ประชาชนทราบ

นายสาธิต กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคนั้นยังมีการฉีดซีนให้ประชาชนทั่วไปคู่ขนานไปกับประชาชนกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่มโรค และผู้สูงอายุกันอยู่ในสัดส่วนที่พอๆ กัน ตนอยากให้เน้นให้ความสำคัญ ฉีดวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยงให้เร็วที่สุด ยกเว้นพื้นที่ระบาดที่ต้องการหยุดการระบาด จึงต้องเร่งฉีดให้ทุกคนให้เร็วที่สุด แต่ในส่วนของพื้นที่ไม่มีการระบาดนั้น ขอให้เน้นฉีดให้กลุ่มเสี่ยงมากที่สุด เร็วที่สุด