ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เผยวัคซีนยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้โควิด-19 เผยข้อมูลวัคซีนต่อการป้องกันสายพันธุ์เดลตา(อินเดีย) เผยแอสตร้าฯป้องกันได้ ส่วนซิโนแวค เพิ่งมีข้อมูลจากจีน 4-5 วันแต่ต้องติดตามต่อเนื่อง ขณะที่วัคซีน mRNA ป้องกันได้แต่ต้องระวังเรื่องการกลายพันธุ์

เมื่อวันที่ 2 ก.ค.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กล่าวในงานเสวนา “วัคซีนโควิด ไทยจะเดินต่อไปอย่างไร” ว่า 100 ปีที่ผ่านมาไม่เคยมีเหตุการณ์แบบนี้ ดังนั้น ใครรู้ดีที่สุดเรื่องโควิด จึงไม่มี แต่เราต้องเอาข้อมูลข้อเท็จจริงมาตีแผ่ ซึ่งในเรื่องของวัคซีนป้องกันโควิด-19 นั้น กรณีวัคซีนซิโนแวค ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายจากจีน เป็นการนำเข้ามาเฉพาะกิจ อย่างไรก็ตาม ในเรื่องคุณภาพของวัคซีนซิโนแวค ข้อมูลในไทยจากเชียงราย ภูเก็ต พบว่า มีประสิทธิผลที่ใช้ในชีวิตจริงได้ผลประมาณ 71-91% ในการป้องกันโรค และคนติดโรคมีอาการน้อย ยกตัวอย่าง บราซิล เมืองหนึ่งมี 7-8 หมื่นคนฉีด 80-90% อัตราเสียชีวิตลดลง 95% แต่สายพันธุ์กลายพันธุ์คนละสายพันธุ์กับบ้านเรา ส่วนอินโดนีเซีย ตอนเดือนมี.ค. ในบุคลากรทางการแพทย์ลดการเสียชีวิตได้มาก แต่เมื่อเร็วๆนี้ มีแพทย์ที่ฉีดครบ 2 เข็มมีบางคนเสียชีวิต ซึ่งขณะนี้กำลังติดตามข้อมูลว่าเป็นอย่างไร ซึ่งข้อมูลสำคัญของอินโดฯ เป็นสายพันธุ์เดลตา

นพ.ทวี กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ซิโนแวคใช้ในกลุ่มประเทศเอเชีย ไม่ได้ใช้ในฝั่งยุโรปกับ อเมริกา จึงมีคำถามว่า วัคซีนซิโนแวคกับเดลตามีข้อมูลหรือไม่ ซึ่งพบข้อมูลจากจีนเมื่อ 4-5 วันที่ผ่านมา โดยสื่อในจีนเผยข้อมูลว่า มีศาสตราจารย์คนหนึ่งให้ข้อมูลว่า มีคนไข้ 166 คน พบว่า เป็นเดลตาทั้งหมด ปรากฏว่า ลดติดเชื้อในผู้สัมผัส 69% ลดปอดอักเสบได้ 73% และลดอาการรุนแรงและเสียชีวิต 95% ซึ่งประเทศไทยเดิมเป็นสายพันธุ์อัลฟา กำลังเปลี่ยนเข้าสู่สายพันธุ์เดลตา ซึ่งตอนนี้กำลังต่อสู้กับปัญหาเดลตา ส่วนสายพันธุ์เบตา หรือแอฟริกาใต้ ในวัคซีนซิโนแวคไม่มีข้อมูล

กรณีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ที่เป็นวัคซีนหลักของไทย โดยข้อมูลต่อวัคซีนเดลตา มีข้อมูลช่วงอินเดียระบาดหนัก พบวัคซีนมีประสิทธิผล 97% สำหรับที่อื่นๆพบว่าประมาณ 80-90% ซึ่งแอสตร้าฯ ต่อสายพันธุ์เดลตาใช้ได้ดี ส่วนใช้ได้ดีเมื่อเทียบกับวัคซีน mRNA หรือไม่ ก็พบว่าใกล้เคียงกัน แต่กรณีสายพันธุ์เบตา ปรากฏว่าแอสตร้าฯ ข้อมูลป้องกันได้ 10.4%

“ส่วนวัคซีนชนิด mRNA ผลในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันดีมาก มีการศึกษาวิจัยพบว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพ 94% ของโมเดอร์นา และ 95%ของไฟเซอร์ ซึ่งเราก็อยากได้ แต่ปัญหาใหญ่ คือ การกลายพันธุ์ โดยข้อมูลสัปดาห์ที่แล้ว มีวัคซีนที่ชื่อว่า เคียวแวค ของเยอรมัน ซึ่งเป็นวัคซีนชนิด mRNA มีการศึกษาในอาสาสมัครยุโรปและละตินอเมริกาทั้งหมด 40,000 คน ประสิทธิภาพลดลงเหลือ 48% แต่ลดป่วยหนักและเสียชีวิตได้ 100% ซึ่งเขาไปเทียบกับไฟเซอร์และโมเดอร์นา และวิเคราะห์จนพบว่า มีเชื้อกลายพันธุ์ ดังนั้น การกลายพันธุ์ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่า วัคซีนแต่ละตัวยังสู้ได้หรือไม่ ซึ่งก็มีการศึกษาหลายรูปแบบ คือ การดูภูมิคุ้มกันที่สร้างโดยวัคซีนนั้นๆ มีการจัดการเชื้อกลายพันธุ์ในหลอดทดลองดีหรือไม่ หรือการศึกษาการใช้จริง ตรงนี้จะช้าหน่อย ต้องใช้เวลา”

อย่างไรก็ตาม วัคซีนยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้กับโรคระบาด ซึ่งวัคซีนที่เรามีอยู่ อย่างซิโนแวค ใช้ได้ในระดับหนึ่ง แต่แอสตร้าฯ ภูมิคุ้มกันสูงกว่า เร็วกว่าได้ นอกจากนี้ ทางการแพทย์ยังต้องติดตามเรื่องผลข้างเคียงด้วย เพราะวัคซีนแต่ละชนิดแตกต่างกัน ซึ่งผลข้างเคียงของวัคซีน mRNA ค่อนข้างสูง แต่รับได้ ซึ่งก็ต้องติดตามต่อไป

"3 เดือนนี้จะเป็นวิกฤต โดยเดลต้านั้น แอสตร้าฯ สู้ได้ แต่ซิโนแวค เห็นข้อมูลลางๆ แต่ยังไม่มีข้อมูลประจักษ์ ต้องศึกษาต่อ ดังนั้น จะสลับวัคซีนได้หรือไม่นั้น ยังเป็นเรื่องคอนเซ็ปต์ ต้องศึกษาอีก ซึ่งขณะนี้โรงเรียนแพทย์กำลังวิจัยกันอยู่" นพ.ทวี กล่าวทิ้งท้าย

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง

“หมอคำนวณ” เสนอทางเลือกลดวิกฤตโควิดระบาด ฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยง “ผู้สูงอายุ-ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง”

“หมอนคร” เผยแอสตร้าฯ เข้าไทยไม่ถึงเดือนละ 10 ล้านโดส จำเป็นต้องนำเข้าวัคซีนชนิดอื่น