ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

จับสถานการณ์ฉีดวัคซีนโควิด “ผู้สูงวัย-โรคเรื้อรัง” เดือน มิ.ย. ไม่ถึงเป้า! 77 จ. ฉีด 35.83% พร้อมเผยตัวเลขจำนวนจองและฉีดวัคซีน 10 จ.ระบาด “หมอคำนวณ” เสนอ ศบค. ออกคำสั่งถึงจังหวัดจัดฉีดกลุ่มนี้ก่อน ด้าน “หมอโสภณ” ย้ำทุกพื้นที่ต้องฉีด 2 กลุ่มนี้เป็นกลุ่มแรก

 

“เมื่อสถานการณ์โควิดระบาดมากเช่นนี้ การปูพรมฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ขณะที่วัคซีนมีจำกัดจะไม่สามารถลดปัญหาผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตได้ทันท่วงที สิ่งสำคัญต้องกลับไปยึดยุทธศาสตร์ฉีดวัคซีนให้แก่กลุ่มเสี่ยง คือ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เพราะตัวเลขชัดเจนว่า 10% ของผู้สูงอายุที่ป่วยจะเสียชีวิตสูง เดือนมิ.ย.ที่ผ่านมาเสียชีวิตไป 992 ราย หากไม่ปรับเปลี่ยนแน่นอนว่า ตัวเลขเสียชีวิตจะเพิ่มเรื่อยๆเป็น 1-2 พันรายต่อเดือน...”

....ถ้อยคำหนึ่งของ นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิผู้เชี่ยวชาญในด้านระบาดวิทยาที่ปรึกษาด้านวิชาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการเสวนา "วัคซีนโควิด ไทยจะเดินต่อไปอย่างไร" เมื่อวันที่ 2 ก.ค.2564 ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า ขณะนี้การฉีดวัคซีนโควิดที่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายมาตลอดอาจไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยเฉพาะการระบาดของโควิดที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กระทบต่อปัญหาเตียงผู้ป่วยวิกฤตสีแดง จนต้องมีการปรับระบบการรักษาผู้ป่วยกลุ่มไม่มีอาการหรืออาการน้อย(สีเขียว) ในลักษณะการดูแลที่บ้าน ที่เรียกว่า Home isolation และ Community Isolation

เห็นได้ว่า การที่ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการหลายท่านที่ทำงานด้านโรคระบาด โรคติดเชื้อต้องออกมาเตือนเรื่องนี้ สืบเนื่องจากตัวเลขการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดในกลุ่มผู้สูงอายุ และโรคเรื้อรังไม่สูงมากนัก โดยในจำนวนการฉีดวัคซีนโควิดของกลุ่มเป้าหมายนี้มีจำนวน 17.5 ล้านคน แต่ฉีดได้ 2.5 ล้านคน อีก 15 ล้านคน ต้องฉีดให้จบภายใน 2 เดือน คือ ก.ค.- ส.ค. แต่จะทำได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมายุทธศาสตร์ฉีดวัคซีน แม้จะตั้งเป้าให้ 2 กลุ่มเสี่ยงก่อนก็จริง แต่ประกอบกับมีการระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้น ทำให้นโยบายมุ่งเน้นการฉีดแบบปูพรม โดยเฉพาะพื้นที่ระบาด โดยต้องการฉีดประชาชนให้ครอบคลุมมากที่สุด แต่การจะดำเนินการเช่นนั้นได้ เราต้องมีวัคซีนในปริมาณที่มากเพอ

แต่ ณ ปัจจุบันความต้องการวัคซีนมีจำนวนมากทั่วโลก ทำให้วัคซีนไม่ได้มีมากพอจะฉีดได้ทั่วถึงและครอบคลุมทุกพื้นที่ในเวลาอันสั้น ประกอบกับเราต้องฉีดวัคซีนป้องกันเพื่อเป็นอีกปราการในการสู้กับไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา(อินเดีย) ที่จะมาแทนที่สายพันธุ์อัลฟา(อังกฤษ) ในเร็วๆนี้

นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์

 

เรื่องนี้ นพ.คำนวณ ให้สัมภาษณ์ Hfocus เพิ่มว่า รัฐบาล ท่านนายกรัฐมนตรี และศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือศบค. ควรต้องเลือกให้ชัดเจน ทางเลือกสำคัญคือ ยึดยุทธศาสตร์ฉีดวัคซีนให้แก่กลุ่มเสี่ยง 2 กลุ่มข้างต้นก่อน โดยเมื่อ ศบค. มีกฎหมายในการบริหารจัดการอยู่แล้ว ก็สามารถใช้ตรงนี้ในการกำชับ สั่งการให้พื้นที่ ทุกจังหวัดดำเนินการฉีดให้ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรังก่อน

“หากศบค.ทำหนังสือส่งถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกแห่งให้ดำเนินการเรื่องนี้ โดยไม่ต้องขอความร่วมมือ แต่กำกับให้ฉีดว่า ต้องฉีดวัคซีนให้แก่ 2 กลุ่มนี้ก่อน จะเป็นการป้องกันและลดจำนวนผู้ป่วยหนักจนเสี่ยงเสียชีวิตได้ เพราะตัวเลขชัดเจนแล้วว่า ผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังเมื่อป่วยโควิดมีถึง 10% ที่เสียชีวิต ขณะที่คนคนหนุ่มสาว มี 1% ที่ป่วยแล้วเสียชีวิต เพราะส่วนใหญ่ไม่มีอาการ หรืออาการน้อยมาก ดังนั้น หากมีนโยบายจากส่วนกลางลงไปชัด และทางจังหวัดต่างๆให้ความร่วมมือก็จะช่วยได้ ขณะที่สำนักงานประกันสังคมมาช่วยฉีดวัคซีนให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 นั้น ขอให้ฉีดแก่ครอบครัวผู้ประกันตนที่สูงอายุ หรือผู้ประกันตนที่มีโรคประจำตัวที่จำเป็นต้องฉีดก่อน สิ่งเหล่านี้ก็จะช่วยได้เช่นกัน” นพ.คำนวณ กล่าว

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน ประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ให้สัมภาษณ์กับ Hfocus เช่นกัน ว่า การที่ต้องออกมาย้ำอีกครั้งถึงความจำเป็นในการฉีดวัคซีนให้แก่ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เนื่องจากตัวเลขการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดที่ผ่านมา ในกลุ่มที่มีการจองหมอพร้อม กลับไม่สูงมาก ทั้งๆที่กลุ่มที่จองต้องได้รับวัคซีนทั้งหมด

เห็นได้จากฐานข้อมูล MOPH Immunization Center ตัวเลขการฉีดวัคซีนในเดือนมิ.ย.2564 ที่ผ่านระบบ “หมอพร้อม” กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มเป้าหมายมี 12 ล้านคน และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่ม กลุ่มเป้าหมายมี 4 ล้านคน โดยจำนวนการจองอยู่ที่ 3,868,920 คนผ่านช่องทาง “หมอพร้อม” 77 จังหวัด พบว่ามีการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 1,386,410 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 35.83 (ข้อมูล ณ วันที่ 1 ก.ค. เวลา 13.00 น.)

“ตัวเลขดังกล่าวถือว่าน้อยมาก เพราะความเป็นจริงควรฉีดให้ได้มากกว่า 50% แม้จริงๆต้องฉีดให้ครบทั้งหมด อย่างไรก็ตาม อาจมีหลายปัจจัย ทั้งในเรื่องปริมาณวัคซีนที่ลงไป เนื่องจากอาจต้องเอาไปให้พื้นที่ระบาดหนัก หรืออย่างไรก็ตาม แต่ ณ ตอนนี้ สิ่งสำคัญต้องมุ่งกระจายวัคซีนให้แก่ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรังก่อน เพราะเป็นกลุ่มที่เมื่อติดเชื้อแล้วจะมีอาการหนัก และเสี่ยงเสียชีวิต เนื่องจากข้อมูลการเสียชีวิตจากโควิดพบว่า 70-80% คือ คนสูงอายุ หรือคนมีโรคเรื้อรัง ขณะที่คนหนุ่มสาว เมื่อติดเชื้ออาการจะไม่รุนแรงเท่า” นพ.โสภณ กล่าว

นพ.โสภณ เมฆธน

ปัญหา คือ ขณะนี้ประชาชนกลุ่มอายุทั่วไป โดยเฉพาะวัยทำงาน เข้าใจว่าต้องรีบฉีดวัคซีนโควิด และต้องการฉีดให้เร็วที่สุด ทำให้วัคซีนไม่เพียงพอ และกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังอาจขาดโอกาสได้รับวัคซีนในระยะ 2 เดือนนี้ นพ.โสภณ กล่าวว่า สิ่งสำคัญต้องใช้วัคซีนให้ตรงกับประสิทธิภาพเพื่อป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิต จึงขอให้กลุ่มอายุอื่นๆ โดยเฉพาะวัยหนุ่มสาว คนทำงานหลายคนติดเชื้อแทบไม่มีอาการ แต่ญาติผู้ใหญ่ของเราหากป่วยจะเกิดการสูญเสียมาก เพราะอาการจะรุนแรง ต้องรักษาในห้องไอซียูเ ซึ่งขณะนี้ก็มีปัญหาเตียงผู้ป่วยวิกฤตไม่เพียงพอ อีกทั้ง เมื่อมีปัญหาเตียงยังกระทบไปถึงผู้ป่วยโรคอื่นๆที่อาการรุนแรงไม่ได้รักษาอีก สิ่งเหล่านี้จึงต้องเร่งดำเนินการให้เหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นจริง

ผู้สื่อข่าว  Hfocus รายงานว่า สำหรับข้อมูลการจองคิวฉีดวัคซีนโควิด19 ผ่านช่องทาง "หมอพร้อม"  77 จังหวัด มียอดจองในเดือน มิ.ย. 2564 (ข้อมูล ณ วันที่ 1 ก.ค. เวลา 13.00น. จากฐานข้อมูล MOPH Immunization Center) พบว่า ยอดจองอยู่ที่ 3,868,920 คน ฉีดเข็มที่ 1 ไปแล้วจำนวน 1,386,410 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 35.83

โดยพื้นที่เสี่ยงกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้ง 4 จังหวัดภาคใต้ ดังนี้

 

- กรุงเทพมหานคร  จำนวนการจองผ่าน “หมอพร้อม” อยู่ที่ 463,999 คน ฉีดเข็มที่ 1 ไปแล้ว จำนวน 423,408 คน หรือร้อยละ 91.25

 

- นนทบุรี จำนวนการจองผ่าน “หมอพร้อม” อยู่ที่ 50,027 คน ฉีดเข็มที่ 1 ไปแล้วจำนวน 42,022 คน หรือร้อยละ 84

 

- ปทุมธานี จำนวนการจองผ่าน “หมอพร้อม” อยู่ที่ 73,198 คน ฉีดเข็มที่ 1 ไปแล้วจำนวน 67,303 คน หรือร้อยละ 91.95

 

- นครปฐม จำนวนการจองผ่าน “หมอพร้อม” อยู่ที่ 47,945 คน ฉีดเข็มที่ 1 ไปแล้วจำนวน 18,270 คน หรือร้อยละ 38.11

 

- สมุทรสาคร จำนวนการจองผ่าน “หมอพร้อม” อยู่ที่ 50,485 คน ฉีดเข็มที่ 1 ไปแล้วจำนวน 38,809 คน หรือร้อยละ 76.87

 

- สมุทรปราการ จำนวนการจองผ่าน “หมอพร้อม” อยู่ที่ 65,623 คน ฉีดเข็มที่ 1 ไปแล้ว 54,104 คน หรือร้อยละ 82.45

 

- นราธิวาส จำนวนการจองผ่าน “หมอพร้อม” อยู่ที่ 13,011 คน ฉีดเข็มที่ 1 ไปแล้ว 2,876 คน หรือร้อยละ 22.10

 

- ปัตตานี จำนวนการจองผ่าน “หมอพร้อม” อยู่ที่ 3,852 คน ฉีดเข็มที่ 1 ไปแล้ว 2,418 คน หรือร้อยละ 62.77

 

- ยะลา จำนวนการจองผ่าน “หมอพร้อม” อยู่ที่ 7,930 คน ฉีดเข็มที่ 1 ไปแล้ว 5,998 คน หรือร้อยละ 75.64

 

- สงขลา จำนวนการจองผ่าน “หมอพร้อม” อยู่ที่ 51,138 คน ฉีดเข็มที่ 1 ไปแล้ว 37,864 คน หรือร้อยละ 74.04

 

จากตัวเลขดังกล่าว อาจมีมากน้อยแล้วแต่การอัปเดตข้อมูลแต่ละวัน เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาหลายพื้นที่ โดยเฉพาะกทม.  หน่วยงานเกี่ยวข้อง อย่างกระทรวงสาธารณสุข ออกมาจับมือกับภาคส่วนต่างๆ ในการเริ่มให้มีการฉีดวัคซีนแก่ 2 กลุ่มนี้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุมากขึ้น  แต่ตัวเลขก็ยังไม่ได้สูงมากจนน่าพอใจ ดังนั้น  จึงต้องจับตามองว่า ในเดือน ก.ค. นี้ ว่า ทาง ศบค. จะมีการกำชับหรือทำหนังสือส่งถึงจังหวัดต่างๆทั่วประเทศชี้ขาดให้ดำเนินการฉีดวัคซีนโควิดแก่ 2 กลุ่มเป้าหมาย ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรคก่อนเป็นอันดับแรกหรือไม่ อย่างไร เพราะเมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ การปูพรมฉีดวัคซีนให้แก่คนทุกคนมากที่สุด  ในขณะที่จำนวนวัคซีนไม่ได้มีมากเหลือล้น ก็อาจจะไม่ใช่ทางออกที่ต้องกระทำอย่างรวดเร็ว ณ ขณะนี้ ข้อเสนอแนะของอาจารย์ทั้งหลายที่ออกมา ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องนำมาขบคิดอย่างถี่ถ้วน และปรับยุทธศาสตร์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์จริงๆ 

************************