ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมออุดม” เผยประสิทธิภาพวัคซีนโควิด ย้ำชัดป้องกันรุนแรง-เสียชีวิต ส่วนกรณีกระตุ้นเข็ม 3 อยู่ระหว่างศึกษาคาด 1 เดือนรู้ผล! เบื้องต้นแนวทางต้องให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ใกล้ชิดผู้ป่วยก่อน หากฉีดครบซิโนแวค 2 เข็ม ควรกระตุ้นเข็ม 3 เป็นต่างชนิด ซึ่งปัจจุบันไทยมี “แอสตร้าฯ” หากไฟเซอร์มาก็ต้องให้บุคลากรก่อนส่วนปชช.ทั่วไปจะจองเข็ม3 ขอให้รอวัคซีนรุ่นใหม่ปลายปีหรือต้นปีหน้า

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 6 ก.ค.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. แถลงข่าวประเด็นวัคซีนโควิด19 ว่า จากการทำงานของคณะที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขของ ศบค. ซึ่งมี ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธาน ตนเป็นรองประธาน และยังมีคณบดีคณะแพทย์อีก 10 คณะเป็นกรรมการ โดยกรรมการชุดนี้รายงานตรงต่อท่านนายกรัฐมนตรี เมื่อวานนี้(5 ก.ค.) มีการประชุมวัคซีน และได้รายงานต่อท่านนายกรัฐมนตรีแล้ว วันนี้จึงมาชี้แจงสถานการณ์ความคืบหน้าเรื่องนี้

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดม กล่าวว่า ในช่วง 2 เดือน ทั้งโลกมีการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) อย่างมาก ประมาณ 96 ประเทศ สถานการณ์ในประเทศไทย 2 เดือนที่แล้ว 85-90% สายพันธุ์ระบาดในไทยคืออัลฟา (อังกฤษ) พอมิ.ย. - ก.ค. เราเป็นเดลตาทั้งประเทศ 30% ถือว่าไปเร็วมาก โดยเฉพาะ กทม.ปริมณฑล 50% ของเชื้อที่พบ อย่างไรก็ตาม อย่างที่ทราบว่า สายพันธุ์ อัลฟาระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม 60-70% แต่ เดลตาระบาดเร็วกว่าอัลฟา 40% ดังนั้เน คาดว่า 1-2 เดือน ทั่วโลกรวมทั้งไทยจะเป็นเดลตาเกือบทั้งหมด อีกทั้ง เชื้อเดลตาแม้ไม่รุนแรงมากกว่าอัลฟา แต่มีลักษณะพิเศษทำให้ผู้ป่วยอยู่ในสภาวะต้องการออกซิเจน ออกซิเจนต่ำกว่าปกติเร็วขึ้น ปอดอักเสบเร็วขึ้น อัลฟาเดิมใช้เวลา 7-10 วัน ถึงกลายเป็นปอดอักเสบ จนต้องใช้เครื่องช่วยหาย ขณะที่เดลตาใช้เวลา 3-5 วันต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ จะเห็นได้ว่า ขณะนี้คนติดเชื้อก็มาก เตียงสีแดงก็ตึง และหากปล่อยไปเรื่อยๆ ระบบสาธารณสุขจะอยู่ไม่ได้

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดม กล่าวว่า การกลายพันธุ์ของไวรัสเป็นปกติ ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด แต่ที่สำคัญคือ เมื่อกลายพันธุ์ทำให้ดื้อต่อภูมิฯจากวัคซีน ต้องเรียนว่า วัคซีนที่ใช้อยู่ทำมาจากไวรัสดั้งเดิม คือ อู่ฮั่น แต่เมื่อกลายพันธุ์ ประสิทธิภาพจึงลดลง จึงต้องหาวัคซีนเจนใหม่ที่จะมาครอบคลุมตัวกลายพันธุ์อัลฟาเดลตา ขณะนี้ยังไม่มี ซึ่งทุกบริษัทกำลังพัฒนา คาดว่าเร็วสุดอาจปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า จึงเป็นเหตุผลที่เราต้องวคำนึงเวลาสั่งซื้อวัคซีนต่อไปข้างหน้า เพราะฉะนั้นระหว่างที่รอต้องหากระบวนการ คือ ให้ Booster Dose เพื่อให้ภูมิเพิ่มขึ้นมาก ต่อสู้กับเชื้อกลายพันธุ์ให้ได้ อย่างไรก็ตาม เรื่องวัคซีน เรื่องการใช้สลับมีการหารือมานาน 2-3 เดือนแล้ว ทั้งนี้ ถ้าดูข้อมูลวัคซีนที่เราใช้ปัจจุบัน พอเจอเดลตา ทำให้ภูมิที่จะสร้างลดลง อย่างไฟเซอร์ 2 เข็ม ภูมิคุ้มกันลดลงเมื่อเจอสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) 7.5 เท่า ต่อสายพันธุ์เดลตา(อินเดีย) 2.5 เท่า แอสตร้า 2 เข็ม เจอเบตาลดลง 9 เท่า เดลตาสร้างภูมิคุ้มกันลดลง 4.3 เท่า ข้อมูลในอังกฤษ ซิโนแวค อังกฤษไม่ได้ใช้ มีข้อมูลบ้านเราเอง 2 เข็ม เจอเดลตาภูมิลดลง 4.9 เท่า

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดม กล่าวว่า หากสรุปเกี่ยวกับข้อมูลทางคลินิก กรณีไฟเซอร์ เราต้องยอมรับว่ากระตุ้นภูมิต้านทานดีในวัคซีน mRNA โดยภูมิฯขึ้นระดับพันถึงหมื่น รองลงมาคือแอสตร้าฯ ภูมิฯขึ้นระดับหลักพันต้นๆ ซิโนแวค ภูมิขึ้นระดับหลักหลายร้อยปลายๆ ในเรื่องของการป้องกันโรค ไฟเซอร์ป้องกันสายพันธุ์เดลตา เดิมป้องกันได้ 93% แต่กับสายพันธุ์เดลตาลดเหลือ 88% ส่วน แอสตร้า ป้องกันเชื้อจาก 66% เหลือ 60% ส่วนประสิทธิภาพการป้องกันอาการรุนแรงจนนอนรพ. และเสียชีวิต พบว่า ไฟเซอร์ป้องกัน 96% แอสตร้าป้องกัน 92% ไม่มีความแตกต่างทางสถิติ อยากย้ำว่าการป้องกันลดลง แต่การป้องกันเจ็บป่วยรุนแรงมาอยู่ รพ. ป้องกันการตายยังได้ผลสูงมาก ซิโนแวค ข้อมูลน้อย เราไม่มีข้อมูลป้องกันได้เท่าไร ถ้าเทียบจากภูมิต้าน คงป้องกันเดลตาไม่ดีแน่ แต่ซิโนแวค 2 เข็ม ป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงเข้า รพ. ป้องกันตายมากกว่า 90% จากข้อมูลของหลายประเทศและไทยที่เราฉีดภูเก็ตเยอะที่สุด

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดม กล่าวว่า จากข้อมูลเหล่านี้ได้มีการนำมาพิจารณากรณีการให้วัคซีน Booster Dose ซึ่งไม่อยากพูดว่าเข็ม 3 เพราะตอนนี้หลายประเทศไม่มีข้อมูลตรงนี้อย่างเป็นทางการ เช่น ยูเออี หรือสหรัฐอาหรับเอมิเรต และบาเรห์ มีการศึกษาคนที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม และกระตุ้นเข็ม 3 แต่เป็นซิโนฟาร์ม เพราะเขาชนิดอื่นยังไม่ได้ แต่ในส่วนประเทศไทยกำลังศึกษาเช่นกัน มีการศึกษาอยู่ทั้งเข็มกระตุ้น การสลับชนิดวัคซีน ทางสธ.ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ ทั้งศิริราช และจุฬาศึกษาเรื่องนี้ คาดว่า 1 เดือนจะทราบผล อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นมีการพิจารณาและเสนอว่า เมื่อต้องมีการใช้ บูสเตอร์โดส ต้องให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานด่านหน้า สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 7 แสนคน และมีจำนวนหนึ่งฉีดครบ 2 เข็มมาประมาณ 3-4 เดือนแล้ว ซึ่งกลุ่มนี้ต้องได้รับก่อน หลังจากนั้นจะเป็นกลุ่มเสี่ยงรองลงมาคือ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ทั้งโรคหัวใจ โรคมะเร็ง ผู้ที่ได้ยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น

“นอกจากนี้ สำหรับคนทั่วไปที่ฉีดครบ 2 เข็มแล้วไม่ว่าชนิดไหน ที่จะไปจองเข็ม 3 ชนิด mRNA เนื่องจากกรณีที่ฉีดซิโนแวกพบว่าภูมิคุ้มกันจะลดลดประมาณครึ่งหนึ่งช่วง 3-4 เดือนหลังฉีดเข็มที่ 2 แล้ว ส่วนคนฉีดแอสตร้าฯ ค่าดังกล่าวจะลดลงในช่วง 6 เดือน ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องไปจองวัคซีนชนิด mRNA เพื่อมาฉีดเป็นเข็มที่ 3 เพราะหากดูการทิ้งห่างของเข็ม 2 และเข็ม 3 จะได้วัคซีนรุ่นเก่า จึงอยากให้รอวัคซีนรุ่นใหม่ที่เร็วสุดปลายปีนี้หรือปีหน้า ซึ่งจะครอบคลุมสายพันธุ์และปลอดภัยมากขึ้น” ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดม กล่าว

เมื่อถามว่า บุคลากรทางการแพทย์ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วมา 3-6 เดือนจะต้องให้วัคซีนกระตุ้นอย่างไร ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดม กล่าวว่า ขณะนี้ไทยมีแอสตร้าฯ และกำลังรอวัคซีน mRNA คือ ไฟเซอร์ที่จะมา 1.5 ล้านโดส ดังนั้น กรณีบุคลากรฉีดซิโนแวคครบ 2 เข็ม การจะให้บูสเตอร์โดสต้องต่างชนิด อาจเป็นแอสตร้าเซนเนก้า หรือไฟเซอร์ แต่แนวทางขอให้รอผลการศึกษาให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งไม่นาน นอกจากนี้ ล่าสุดยังตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาวัคซีนรุ่นใหม่ๆ ที่รองรับกับสายพันธุ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะมีการประชุมวันศุกร์ที่ 9 ก.ค.2564 ที่รพ.ราชวิถี