ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผ่านไปแล้วกับการก้าวแรกของการเปิดโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ นำร่องรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนครบโดส โดยไม่ต้องกักตัว 14 วัน เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ท่ามกลางความหวังและการจับตามองในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไทยที่มียอดผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับ 5,000-6,000 ต่อวัน

ถึงแม้จำนวนนักท่องเที่ยวกว่า 2,000 คน ซึ่งเข้ามาในช่วงสัปดาห์แรกจะถือว่ายังไม่มากนัก แต่นี่คือจุดเริ่มต้นความหวังของธุรกิจท่องเที่ยวที่นิ่งสนิทไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาตลอด 15 เดือน โดยข้อมูลการจองห้องพักจากระบบ SHABA ณ วันที่ 3 ก.ค. มียอดจองเดือนก.ค. 7,347 คน

“ผมได้เห็นแววตาแห่งความหวัง ไม่ว่าจำนวนเท่าไหร่ก็ตาม มันคือความหวัง และไม่ใช่แค่ความหวังของคนภูเก็ต แต่เป็นความหวังของคนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวว่าเรามีโอกาสกลับมาเริ่มเดินอีกครั้ง” ธเนศ ตันติพิริยะกิจ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวหลังสิ้นสุดการรอคอย

อย่างไรก็ตาม ในความหวังนั้นยังต้องเจอกับความท้าทายอีกหลายองค์ประกอบ โดยเฉพาะด้านความปลอดภัยของสุขภาพของผู้คนโดยรวม และการสร้างความเชื่อมั่นต่อทั่วโลก

 

ก้าวแรก...แห่งความหวัง

แม้ก่อนวันเปิดจะมีปัญหานักท่องเที่ยวบางส่วนที่จองเที่ยวบินสำหรับภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ไม่สามารถขอหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศไทย (COE- Certificate of Entry) ได้เนื่องจากมีประกาศราชกิจจาฯ กระชั้นชิด และติดขัดเรื่องขั้นตอนการยื่นเอกสารบางอย่าง เช่น การเก็บค่า Swab พร้อมกับที่พัก แต่สุดท้ายทุกอย่างก็ผ่านมาได้ด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศที่เร่งอนุมัตใบรับรอง และได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวสำเร็จ

“ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ คือเรื่องใหม่สำหรับทุกคนทุกฝ่าย แม้จะผ่านการบวนการคิดมาแล้วหลายขั้นหลายตอนจากผู้เกี่ยวข้อง แต่ก็ยังมองไม่เห็น คาดไม่ถึงให้ต้องแก้ไขเป็นธรรมดา แต่ผมไม่ได้มองเป็นปัญหา เป็นเรื่องขลุกขลัก เล็กๆ น้อยๆ เช่น การตรวจเอกสาร การให้รถ SHA+ แต่ก็ได้รับการแก้ไขด้วยดี หรืออาจจะมีบ้างที่นักท่องเที่ยวขอต่อรองเรื่องความยืดหยุ่นเมื่อเข้าเช็กอินโรงแรม แต่ทุกฝ่ายก็ยืนยันตามมาตรฐานอย่างเคร่งครัด” ธเนศ กล่าว

วิกฤตโลกในขณะนี้ยังถือว่ารุนแรง ประเทศไทยและอีกหลายชาติในโลก ยังเผชิญปัญหาการแพร่ระบาดซึ่งยังไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไหร่ ขณะเดียวกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจก็สำคัญ แต่ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ จะประสบความสำเร็จได้ต้องมีความพร้อมทั้งภูเก็ต ประเทศไทย และโลก แม้วันนี้ยังไม่พร้อมทุกอย่างแต่ก็เหมือนมีแสงสว่างอยู่ปลายอุโมงค์ในมุมมองของประธานอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต

“หลังอยู่ในความมืดของตลาดนักเดินทางต่างชาติมานาน 15 เดือน จำนวนนักท่องเที่ยวหลักร้อยต่อวันในวันนี้ อาจจะไม่ได้หล่อเลี้ยงธุรกิจให้กลับมาได้ทันที แต่เป็นการปลุกความหวัง ปลุกกำลังใจให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ผมเห็นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวภูเก็ตผ่านมาไม่รู้กี่วิกฤตแล้ว ตั้งแต่สงครามอ่าว ค่าเงิน สึนามิ ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตเราจะเห็นความร่วมไม้ร่วมมือของคนภูเก็ต แต่ไม่มีครั้งไหนที่เราจะเห็นความร่วมไม้ร่วมมือของคนในภูเก็ตได้มากสมบูรณ์เท่าครั้งนี้ ไม่ใช่แค่ภูเก็ต แต่จากส่วนกลางด้วย”

(ธเนศ ตันติพิริยะกิจ)

 

เชื้อภายนอกไม่น่ากังวลเท่าภายใน

สำหรับความกังวลเรื่องความเสี่ยงในการนำเชื้อเข้ามาในประเทศนั้น ซึ่งเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อยเกี่ยวกับการเปิดโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ก่อนหน้านี้นั้น จากผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาถึงสนามภูเก็ตจนถึงวันที่ 4 ก.ค. ยังไม่พบเชื้อแม้แต่คนเดียว

นพ.กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ยืนยันว่า นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาไม่น่ากังวลเรื่องการนำเชื้อเข้ามาจากภายนอก เพราะผ่านมาตรการการคัดกรองมาพอสมควร ตั้งแต่เลือกประเทศเสี่ยงต่ำ-ปานกลาง มีการ Swab หาเชื้อก่อนมา และยังต้องตรวจหาเชื้ออีก 3-4 ครั้งในภูเก็ตอีก แต่มีความกังวลในส่วนของนักท่องเที่ยวไทยและแรงงานที่เดินทางเข้ามามากกว่า

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อเดลต้าในแถบกรุงเทพและปริมณฑลช่วงนี้ ทำให้มีโอกาสที่เชื้อจะเล็ดลอดเข้าไปกับนักเดินทางภายในประเทศ แม้ว่าจะมีเงื่อนไขต้องได้รับวัคซีนครบโดส หรือมีผลตรวจโควิด-19 แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะการันตีได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะอย่างที่กันดีว่าคนฉีดวัคซีนแล้วยังมีโอกาสแพร่เชื้อได้และการตรวจหาไม่เจอ อาจอยู่ในระยะฝักตัว รวมไปถึงหลายคนเมื่อได้รับวัคซีนแล้ว เริ่มการ์ดตกในเรื่องมาตรการ DMHTT โดยไปเชื่อมั่นเรื่องวัคซีนมาก เช่นเดียวกับแรงงานที่จะเริ่มมีการเข้ามาหลังจากนี้

“การเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ส่งผลให้มีการจ้างงาน และมีแรงงานที่อาจเข้ามาโดยยังฉีดวัคซีนไม่ครบ หรือตรวจหาเชื้อไม่เจอ เป็นสิ่งที่เรากังวลนิดหน่อย แต่ก็มีการเตรียมความพร้อมทั้งในเรื่องมาตรการควบคุม สอบสวนโรค รวมทั้งด้านการรักษาอย่างเต็มที่ โดยตอนนี้เรามีสถานที่กักตัวกลุ่มความเสี่ยงสูง 300 ห้อง และมีศักยภาพในการตรวจแล็บ 1500 ตัวอย่างต่อวัน ซึ่งจะทำให้แล็บออกเร็วไม่ค้าง มีมาตรการควบคุมรักษาได้อย่างรวดเร็ว”

จากข้อมูลล่าสุดภูเก็ตมีการฉีดวัคซีนเข็มแรกครอบคลุมประมาณ 71-72 เปอร์เซนต์ และเข็มสอง+แอสตราเซเนกา 1 เข็มในอัตราเกือบ 69 เปอร์เซ็นต์ โดยมีกำหนดจะเริ่มโดสสองในเดือนก.ย. นี้ แต่เตรียมขยับเร็วขึ้นสองสัปดาห์ และมีแผนฉีดเข็มสามในอนาคต

“ตามข้อมูลทางวิชาการคงต้องฉีดเข็มสามแน่นอน แต่คงต้องรอดูภาพรวมระดับประเทศ เพราเราก็ต้องให้ที่อื่นได้ฉีดให้ครอบคลุมก่อน จากนั้นก็ต้องรอดูนโยบายของรัฐบาลอีกครั้ง” นพ.กู้ศักดิ์ ยอมรับ

 

ไม่มีอะไรเร่งด่วนเท่าวัคซีน

พรปวีณ์ พรเสกสรรค์ ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาดบริษัท IAsia Thailand ซึ่งตั้งกลุ่ม “Phuket Sandbox - “Better Phuket” By I Asia Thailand” เพื่อเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนข้อมูลสำหรับนักท่องเที่ยว สะท้อนอีกมุมจากบริษัททัวร์ว่า จริงๆ แล้วกลุ่มลูกค้าของบริษัทมีแผนจะเดินทางเข้ามาในเดือนนี้พอสมควร แต่เมื่อถึงเวลาจริงหลายอย่างยังไม่พร้อม เช่น ทัวร์บางอย่างยังให้บริการไม่ได้ หลายที่ยังปิด ทำให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาไม่เป็นไปตามเป้า

“เดิมทีเราคาดหวังไว้เดือนก.ค. ต้องไม่น้อยกว่า 1500 คนจากที่มีการแสดงความสนใจเข้ามาและนำเสนอราคาไป แต่ปรากฏว่ามีคอนเฟิร์มเข้ามา 150 คน ซึ่งถือเป็นเศษเสี้ยวมากถ้าเปรียบกับสถานการณ์ปกติที่มียอดขายอยู่ที่ 1 พันล้านบาทต่อปี แต่ก็ถือเป็นแนวโน้มที่ดีหากมองในมุมเปิดปั๊ปก็มีลูกค้าตั้งแต่เดือนแรก ก็ต้องรอดูต่อไปเพราะเพิ่งผ่านมาแค่ 4 วัน และต้องรอดูกลุ่ม FAM Trip บริษัททัวร์ต่างประเทศที่ถูกเชิญมาจะตัดสินใจอย่างไรเมื่อกลับไป”

นอกจากนี้ บางประเทศก็ยังต้องรอดูนโยบายภายในประเทศของเขาว่าเป็นอย่างไร กลับไปต้องกักตัวหรือไม่ เพราะบางประเทศไม่ถือว่าไทยเป็นประเทศที่ปลอดภัย เช่นเดียวกับมุมมองบางส่วนของคนพื้นที่ที่ยังกลัวต่างชาติจะนำเชื้อเข้ามา และมีความกังวลในการต้อนรับนักท่องเที่ยว แม้พนักงานในโรงแรมจะได้รับวัคซีน 70-80 เปอร์เซ็นต์แล้วตามมาตรการ SHA+ แต่คนในครอบครัวบางคนยังไม่ได้รับวัคซีน สมมุติเขาได้รับเชื้อก็มีโอกาสนำกลับไปติดที่บ้าน หรืออาจจะติดจากคนที่บ้านเอาไปแพร่ในโรงแรม

“ถ้ามีการฉีดวัคซีนขึ้นไปได้ระดับ 80-90 เปอร์เซ็นต์เร็วที่สุดยิ่งดี จะช่วยสร้างความมั่นใจให้คนในพื้นที่และคนที่มาด้วย อันนี้สำคัญที่สุด เพราะจะช่วยให้ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เปิดได้หลายๆ ที่เมืองไทยใครก็อยากมา แต่ถ้าคนยังไม่มั่นใจจะมา คนที่เปิดรอได้ไม่นานเดี๋ยวก็ต้องปิดอีก คนที่เปิดรอก็ต้องพูดได้ว่าฉันปลอดภัย และจะได้ปลอดภัยจริงๆก็ไม่ใช่แค่คนในองค์กร เพราะฉะนั้น นาทีนี้ไม่มีอะไรเร่งด่วนไปกว่าวัคซีน”

นอกจากเรื่องวัคซีนแล้ว สิ่งที่ผู้ประกอบการอยากเห็น คือ การส่งเสริมให้ธุรกิจรายย่อยกลับมาเปิดบริการเหมือนปกติ และเปิดกว้างเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวมากขึ้น เช่น ตอนนี้นักเดินทางที่มาภูเก็ต 14 วันแรกไม่สามารถไปเกาะพีพี หรือ เจมส์บอนด์ ได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดซึ่งมันเป็นไฮไลต์ ในเมื่อไนท์ไลฟ์ยังต้องควบคุมอยู่ อย่างน้อยทัวร์กลางวันควรเปิดกว้างขึ้น เพราะชาติที่อยู่ในลิสต์ให้เดินทางมาได้ ไม่ใช่กลุ่มที่จะมานอนอ่านหนังสือริมสระน้ำในโรงแรมเป็นวันๆ แต่เป็นกลุ่มชอบไปเที่ยว อีกทั้งสถานการณ์แบบนี้ ภูเก็ตแซนด์บ็อกไม่ได้ต้องการลูกค้าที่มากินอยู่แต่ในโรงแรมอย่างเดียว แต่ผู้ประกอบการรายย่อยข้างนอก ควรได้ประโยชน์จากการกระจายรายได้ด้วย

(พรปวีณ์ พรเสกสรรค์)

 

นักท่องเที่ยวพอใจเป็นความยุ่งยากที่คุ้มค่า

“มันคุ้มค่ากับความเจ็บปวดในการยื่นขอ COE ภูเก็ตอันเก่าแก่และเงียบสงบ คิดบวกเข้าไว้ มันเป็นช่วงเวลาพิเศษที่ได้อยู่บนเกาะนี้ และเกาะก็ต้องการการท่องเที่ยว และการใช้จ่ายในสถานประกอบการท้องถิ่น ไม่เพียงแค่ในรีสอร์ทที่คุณอยู่” Andrea Ronzani โพสต์ข้อความในกลุ่มพร้อมภาพชายหาดสวยงามและไร้ผู้คน หลังเดินทางมาถึงประเทศไทยและผ่านการรอผลตรวจเรียบร้อยแล้ว ท่ามกลางกระแสความประทับใจในความสวยงามของธรรมชาติที่มีการฟื้นฟู

ขณะที่ Lisa va Gisbergen เขียนข้อความยาวเหยียดแนะนำเพื่อนนักเดินทางเมื่อวันที่ 4 ก.ค.ว่า “ตอนนี้เราเข้าสู่วันที่สองของการอยู่ในภูเก็ต ดูเหมือนว่าคนส่วนใหญ่จะเลือกพักป่าตองเพราะประทับใจที่มีที่เปิดอีกเยอะ ฉันอยากจะแชร์ประสบการณ์ของฉัน : เราจองที่ Sunwing Bangtao Beach เนื่องจากทำเลอยู่ใกล้กับกิจกรรมที่ฉันอยากทำกับลูกๆ ประการแรกโรงแรมและพนังงานบริการดีมาก เราอยากแนะนำที่นี่ บางเทาเงียบมาก มีร้านอาหารริมหาดเปิดไม่กี่ร้าน และมีร้านค้าและร้านอาหารบางส่วนบนถนนหลักยังเปิดอยู่ แต่ขอย้ำว่าที่นี่ยังมีธุรกิจที่เปิดอยู่และน่าจะถูกใจนักท่องเที่ยวเช่นกัน หากคุณไม่ซีเรียสที่อาจเงียบไปหน่อย หาดบางเทาก็ดูจะเหมาะดี”

อย่างไรก็ตาม มีนักท่องเที่ยวบางส่วนที่ยังกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลังยังมีรายงานพบผู้ติดเชื้อในจังหวัดภูเก็ตและการประกาศจุดเสี่ยงล่าสุด

“สวัสดีวันดีๆทุกคน! ฉันอยากเช็กว่าตอนนี้ภูเก็ตเป็นอย่างไรบ้าง? อยากรู้ว่าบทความนี้เป็นความจริงและน่าเชื่อถือหรือไม่? เพิ่งเห็นในทวิตเตอร์วันนี้ นี่จริงมั้ย? ฉันหวังว่าจะไม่ใช่” Cristine Fandino โพสต์ข้อความพร้อมภาพหน้าจอทวิตเตอร์ที่มีข้อความ “ภูเก็ตเฝ้าระวังหลังมีผู้โดยสารสายการบินจากกรุงเทพตรวจพบโควิด-19”

ทั้งนี้ มีผู้เข้ามาตอบว่าเป็นการแจ้งเตือนปกติของการเจอเคสภายในประเทศตั้งแต่เดือนเม.ย. ซึ่งกฎการเดินทางเข้าจากภายในประเทศมีความเข้มงวดน้อยกว่า และปรากฏผู้ติดเชื้ออยู่เป็นระยะๆ โดยภายในส่วนของภูเก็ตมีตัวเลขผู้ติดเชื้อในหลักหน่วยต่อวันคงที่มากว่า 1 เดือนแล้ว

 

ขอแหล่งทุนหนุนธุรกิจรายย่อย

หลังจากก้าวแรกของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ได้เกิดขึ้นแล้ว ยังมีความท้าทายอีกมากมายรออยู่ในก้าวต่อๆ ไปหลังจากนี้ ซึ่งต้องอาศัยความพร้อมทั้งในภูเก็ต ประเทศไทย และโลกอย่างที่ผู้ว่าเคยกล่าวไว้ รวมไปถึงความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย ซึ่งในความเห็นของ ธเนศ ตันติพิริยะกิจ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต มองว่าหากเป็นไปได้ก็อยากจะเห็น 3 ข้อหลักๆ เพื่อให้ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ได้ปลุกโอกาสและพลังของทุกคนกลับมา

“วันนี้ผู้ประกอบการรายเล็ก รายย่อยเขาหมดแรง เขาเข้าไม่ถึงแหล่งทุน ถ้าเป็นไปได้ก็อยากเห็นแหล่งเงินทุน หรือ กองทุนพิเศษมารีสตาร์ตธุรกิจเล็กๆให้เขาเริ่มเดินได้ เขาไม่ต้องต้องการเงินเยอะ แต่ต้องการเงินมาเริ่มธุรกิจ อีกอย่างถ้าพูดถึงตลาดต่างประเทศอาจเข้าไม่ถึงกัน แต่ธุรกิจในประเทศก็สำคัญมากอีกตลาดหนึ่งเช่นกัน กับ 2.เมื่อผ่านไปสัก 14 วันแล้วอะไรๆ มันดีขึ้น ไม่ได้เป็นไปตามข้อกังวล หากเป็นไปได้อยากให้ลดมาตรการลด เพื่อให้เป็นมิตรกับคนเดินทางมากขึ้น และ3.อยากเห็นจังหวัดข้างเคียงได้เข้ามาเชื่อมโยงกับภูเก็ต”

สุดท้ายแล้ว ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ จะประสบความสำเร็จหรือไม่คงยังเร็วไปที่จะตอบในวันนี้ แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ การเดินต่อไปให้ได้ควบคู่ไปกับความปลอดภัยของคนในประเทศ