ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มูลนิธิทันตแพทย์เอกชน ประเทศไทย ออกแถลงการณ์ถึง สปสช. กรณีการตรวจสอบคลินิกทันตกรรม ชี้ทางออกควรตรวจสอบและเจรจาที่เป็นจริง ถูกต้องกับสภาพที่เกิดขึ้น เข้าถึงความผิดพลาด ชี้สิ่งที่เกิดขึ้นอาจไม่ใช่การฉ้อโกงจริง “ไม่เจตนาที่จะทุจริต”

มูลนิธิทันตแพทย์เอกชน ประเทศไทย ออกแถลงการณ์เรื่อง ความเสียหายอันเกิดขึ้นในโครงการบริการทันตกรรมแก่เด็กและประชาชน ในกรุงเทพมหานคร ของ สปสช. ตามคำแถลงของ สปสช. และคำให้สัมภาษณ์สื่อ ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูร

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 5  กรกฎาคม พ.ศ.2564  สปสช. โดยนายจิรวุสฐ์ สุขได้พึ่ง และคณะ ได้แถลงเกี่ยวกับกรณี การให้บริการทันตกรรมแก่เด็ก ในเขตกรุงเทพมหานคร ตามโครงการของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ( สปสช.) กล่าวหาคลินิกทันตกรรมจำนวน 77 แห่งที่ร่วมโครงการนี้ทั้งหมด ว่ามีการทุจริตฉ้อโกง สร้างความเสียหายต่อรัฐ เพียงปีเดียว เป็นจำนวนเงินมากถึง 324ล้านบาท อันเป็นตัวเลขที่สูงเกินจริงอย่างมาก เมื่อเทียบกับ งบประมาณรายปี ที่ สปสช จ่ายให้กับคลินิกร่วมโครงการ ดังตัวเลขที่ปรากฏในรายงาน NHSO Budget ของ สปสช. ปี2562/2563

(ข่าวเกี่ยวข้อง :  คลินิกชุมชนอบอุ่น-รพ.เอกชน 211 แห่งทุจริตงบส่งเสริมสุขภาพ สปสช. 691 ล้าน พบ กก.อปสข.อาจมีส่วนส่งเรื่อง ศอตช. ตรวจสอบ)

มูลนิธิ จึงเห็นว่า ทางออกที่จะเกิดประโยชน์ต่อเด็ก ๆ และประชาชนผู้ถือบัตรทองใน กทม. ให้ได้รับบริการทำฟันและดูสุขภาพช่องปาก ในอัตราเฉลี่ยเพียงสองสามร้อยบาท ต่อคนเช่นนี้ ควรที่จะเป็นทางออกด้วยการตรวจสอบและการเจรจา ที่ “ เป็นจริง ถูกต้องกับสภาพความเป็นจริง เข้าถึงสาเหตุที่เกิดความผิดพลาด จนมี ภาพแห่งการทุจริตฉ้อโกง ซึ่ง “อาจไม่ใช่การฉ้อโกงจริง” และ “ไม่เจตนาที่จะทุจริต” เช่นนั้น

ส่วนที่พบว่า มีหลักฐานชัดเจน ระบุเจตนาได้แน่นอนว่า ต้องการฉ้อโกง มีเจตนาทุจริต ย่อมสมควรดำเนินการอย่างเข้มงวด ไม่สุกเอาเผากิน ดังคำแถลงของนายจิรวุสฐ์ สุขได้พึ่ง ที่มีต่อสื่อมวลชนในวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2564 นั้น

นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งประการหนึ่ง คือ จำเป็นอย่างยิ่ง ที่ สปสช. ต้องทบทวนระบบภายในองค์กร และพัฒนาบุคคลากร ให้เกิดความรัดกุม และทรงประสิทธิภาพ ทำงานอย่างทันสมัย รวดเร็วทันกาล ให้สมกับที่เคยตั้งปณิธานไว้ ตั้งแต่แรกตั้ง สปสช. เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๕ ว่า จะเป็นหน่วยงานรัฐที่ทันสมัย โปร่งใส เต็มไปด้วยประสิทธิภาพ บุคลากรไม่ทำงานแบบ “ข้าราชการ” สมัยโบราณ ที่ล้าหลัง เฉื่อยเนือย เช้าชามเย็นชาม เห็นความผิดปกติก็วางเฉย และคอยสอดส่ายหากินกับช่องโหว่และความเผลอเรอของระบบ เป็นต้น

มูลนิธิหวังว่า บทเรียนในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่เอื้อประโยชน์ต่อการดูแลสุขภาพฟันและสุขภาพช่องปาก รวมทั้งสุขภาพโดยรวมของเด็กๆ และประชาชนใน กทม. มากยิ่งขึ้น

รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้อง จะให้ความเป็นธรรม และให้กำลังใจ แก่คลินิกทันตกรรมและทันตแพทย์ ที่ตั้งใจรับใช้ดูและประชาชน ที่ไม่เคยคิดหรือมีเจตนาจะกระทำผิดใดๆ จนเกิดการทุจริตฉ้อโกงดังที่ถูกกล่าวหา และหันกลับมาร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ ดูแลรักษาทำฟันให้เด็ก ๆ และประชาชนต่อไป

มูลนิธิทันตแพทย์เอกชน ประเทศไทย

ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2564