ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศบค. ยกระดับคุมโควิด 10 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด กรุงเทพฯปริมณฑล และ 4 จังหวัดภาคใต้ จำกัดการเดินทาง ไม่ออกจากบ้าน 3 ทุ่มถึงตี 4 ยกเว้นกรณีจำเป็น ระบบขนส่งสาธารณะ ปิด 3 ทุ่มถึงตี 4 ร้านสะดวกซื้อปิด 2 ทุ่มถึงตี 4 มีผล 12 ก.ค. ส่วนคุมเคลื่อนย้ายข้ามจังหวัดเริ่มพรุ่งนี้ (10 ก.ค.)

เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 9 ก.ค.2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล  พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.)    แถลงข่าวภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ว่า  ในการประชุมมีการรายงานยกระดับการป้องกันโรคโควิด-19 และปรับระดับพื้นที่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งขณะนี้ผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตของประเทศไทยเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ป่วยอาการหนักก็เพิ่มขึ้น จึงทำให้ต้องมีการพิจารณา โดยที่ประชุมขอขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทุกเขต ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมถึง 30 กันยายน 2564 และจะนำเสนอครม.วันที่ 13 กรกฎหาคม 2564 เพื่อประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ในการควบคุมโรคติดต่อ และสามารถบูรณาการความรับผดชอบและอำนาจหน้าที่ด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต

ทั้งนี้ มติที่ประชุม ศบค.  กำหนดมาตรการ ดังนี้  

การยกระดับของพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร  โดยพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด(สีแดงเข้ม)  มี 10 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล  ได้แก่ นนทบุรี   ปทุมธานี   นครปฐม  สมุทรสาคร   และสมุทรปราการ   ส่วนพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่    นราธิวาส   ปัตตานี   ยะลา  และสงขลา 

สำหรับข้อปฏิบัติในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ประกอบด้วย

1.จำกัดการเคลื่อนย้ายและการดำเนินกิจกรรมของบุคคลให้มากที่สุดเฉพาะกรุงเทพฯและปริมณฑล (กรุงเทพมหานคร   นนทบุรี   ปทุมธานี   นครปฐม  สมุทรสาคร   และสมุทรปราการ)   ดังนี้

-ขอให้ทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home มากที่สุดใน 6 จังหวัดนี้

-ระบบขนส่งสาธารณะ ปิดให้บริการเวลา 21.00 น.ถึงเวลา 04.00 น.ของวันรุ่งขึ้น

-ร้านสะดวกซื้อ ตลาดโต้รุ่ง ปิดเวลา 20.00 น.ถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น

-ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ เปิดได้เฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ธนาคารและสถาบันการเงิน ร้านขายยา และเวชภัณฑ์ ร้านอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสาร รวมถึงสถานที่ฉีดวัคซีน เปิดได้ถึงเวลา 20.00 น.

-ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ห้ามบริโภคในร้าน เปิดได้ถึงเวลา 20.00 น.

-ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดโรค ได้แก่ นวดเพื่อสุขภาพ สปา สถานเสริมความงาม

-สวนสาธารณะ สามารถเปิดบริการสำหรับออกกำลังกายได้ถึงเวลา 20.00 น.

-ห้ามรวมกลุ่มทำกิจกรรมทางสังคม ที่ไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ การประกอบอาชีพ กิจกรรมทางศาสนาหรือกิจกรรมตามประเพณี ที่มีการรวมตัวกันของบุคคลตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

**ข้อปฏิบัติ 10 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (กรุงเทพปริมณฑล และ 4 จังหวัดภาคใต้) มีข้อปฏิบัติ คือ

2.ห้ามเดินทางไม่จำเป็น โดยห้ามออกนอกบ้านเวลา  21.00-04.00 น.ของวันรุ่งขึ้น เว้นแต่มีความจำเป็น หรือได้รับอนุญาตเป็นรายกรณี  ส่วนสถานศึกษาในพื้นที่ 10 จังหวัดสีแดงเข้มห้ามเปิด อนุญาตให้เรียนออนไลน์เท่านั้น

3.การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร้างยังคงเป็นไปตามข้อกำหนดของ ศบค.

4.กำกับดูแลให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันส่วนบุคคลอย่างสูงสุด

5.ให้เริ่มดำเนินการตามข้อ 1-4 ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป

6.ให้หน่วยงานด้านความมั่นคงจัดตั้งจุดตรวจจุดสกัด และชุดลาดตระเวน เพื่อกำกับดูแลการปฏิบัติอย่างเข้มงวด โดยให้พร้อมดำเนินการตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2564 เวลา 06.00 น. เป็นต้นไป ทั้งนี้กรณีฝ่าฝืนให้บังคับใช้บทลงโทษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ในที่ประชุมยังมีการพิจารณามาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในกรุงเทพฯ และปริมณฑล  โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงระบบการตรวจหาเชื้ออย่างเพียงพอ เร่งเปิดจุดตรวจหาเชื้อให้ประชาชนเข้าถึง และแยกประชาชนติดเชื้อออกจากชุมชนให้เร็วที่สุด  นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข จะปรับแผนการฉีดวัคซีน โดยเร่งฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่มีความเสี่ยง คือ อายุเกิน 60 ปี และกลุ่มมีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค เร่งรัดพื้นที่กทม.ปริมณฑล ซึ่งจะฉีดให้ได้ 1 ล้านโดสภายใน 1-2 สัปดาห์ รวมทั้งยังมีมาตรการเร่งรัดนำระบบการแยกกักที่บ้าน รวมทั้งการใช้ยาสมุนไพรในบัญชียาหลัก ได้แก่ยาฟ้าทะลายโจร เป็นต้น และเร่งรัดการจัดตั้งไอซียูสนาม

“ที่ประชุมยังเห็นชอบจัดสรรวัคซีนที่ได้รับบริจาคจากต่างประเทศ ทั้งไฟเซอร์ และแอสตร้าฯ ของญี่ปุ่น ซึ่งมาถึงแล้ว โดยหลักการจัดสรรจะให้กลุ่มสูงอายุ และ 7 กลุ่มโรค รวมทั้งชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย เน้นผู้สูงอายุ และโรคเรื้อรัง และผู้ที่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนไฟเซอร์ก่อนเดินทางไปต่างประเทศ เช่น นักเรียน นักกีฬา นักการทูต โดยที่ประชุมมีข้อสรุปจ่ายวัคซีนไฟเซอร์ เป็นบูสเตอร์โดส ให้กับบุคลากรทางการแพทย์เร็วที่สุด” พญ.อภิสมัย กล่าว     

ทั้งนี้ เน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร่วมกันรับผิดชอบในการกำหนดมาตรการคัดกรอง และมาตรการติดตามสำหรับบุคคลที่เดินทางเข้าไปในพื้นที่ให้มีความเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะบุคคลที่เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด โดยให้พร้อมดำเนินการตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2564 เวลา 06.00 น. เป็นต้นไป

โดยจะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ยกระดับพื้นที่สีแดงเข้ม หรือการล็อกดาวน์   เริ่ม 12 กรกฎาคม 2564  สำหรับมาตรการการจำกัดการเดินทางข้ามจังหวัดมีผลบังคับใช้ 10 กรกฎาคม 2564

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org