ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปค. พร้อมจัดทีม CCR team ดูแลผู้ป่วยโควิดแยกกักที่บ้าน และชุมชน เตรียม 188 ทีม ทั้งบุคลากรหน่วยบริการปฐมภูมิ อาสาสมัคร จนท.ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ครอบคลุม 6 เขต 6 กลุ่มโซนเขต กทม. ลงพื้นที่ใน 2 สัปดาห์นี้

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 12 ก.ค.2564 ในงานแถลงข่าวผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์กระทรวงสาธารณสุข ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โกเมนทร์ ทิวทอง รองผู้อำนวยการสำนักงานสนับสนุนระบบปฐมภูมิและคลินิกหมอครอบครัว กล่าวถึงการใช้ระบบปฐมภูมิ เพื่อเข้าไปช่วยในการจัดการผู้ป่วยที่อยู่ในระบบการดูแลรักษาที่บ้านหรือที่เรียกว่า Home Isolation (HI) และการแยกกักตัวในชุมชน ที่เรียกว่า Community Isolation (CI) ซึ่งในปัจจุบันได้มีการเตรียมทีมแล้ว 188 ทีม เข้าไปดูแลในช่วง 2 สัปดาห์นี้

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

นพ.เกียรติภูมิ  กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในระบบการดูแลรักษาที่บ้านหรือที่เรียกว่า Home Isolation (HI) และการแยกกักตัวในชุมชน ที่เรียกว่า Community Isolation (CI) จะไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว เนื่องจากทางกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับกรุงเทพมหานครและภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่จะเข้าไปดูแลท่าน โดยใช้ระบบปฐมภูมิ ซึ่งในปัจจุบันได้มีการเตรียมทีมเกือบ 200 ทีม เข้าไปดูแลในช่วง 2 สัปดาห์นี้

นพ.โกเมนทร์ ทิวทอง รองผู้อำนวยการสำนักงานสนับสนุนระบบปฐมภูมิและคลินิกหมอครอบครัว

นพ.โกเมนทร์  กล่าวว่า ในส่วนของทีมที่เรียกว่า Comprehensive Covid-19 Response Team หรือ CCR Team โดยเฉพาะในช่วงเวลา 2 สัปดาห์ต่อจากนี้ไป สำหรับภารกิจของทีมที่จะต้องลงไปทำงาน ประกอบด้วย 4 ประการดังนี้

ประการที่ 1 เป็นทีมที่ลงไปถึงที่บ้านหรือกรณีที่มีการติดต่อสื่อสารระหว่างคลินิกหรือหน่วยบริการปฐมภูมิก็จะสามารถโทรไปปรึกษากันได้ โดยการให้ความรู้ ประการที่ 2 ในส่วนกรณีที่ผู้ป่วยไม่ว่าจะผ่านการตรวจจากสถานบริการ หรือกรณีที่ใช้ Test kit ก็ตาม เมื่อมีผลบวกแล้ว ก็อาจจะทำการปรึกษาและเข้าสู่ระบบ Home Isolation (HI) ต่อไป ประการที่ 3 คือ เรื่องของการค้นหากลุ่มที่จะให้วัคซีน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวรวมถึงหญิงตั้งครรภ์ ส่วนประการสุดท้าย คือ ในกรณีที่ทำ Home Isolation (HI) แล้ว และได้ทำการปรึกษาดูอาการอย่างใกล้ชิดแล้ว ถ้าหากอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการที่ต้องส่งต่อโรงพยาบาล ทางหน่วยปฐมภูมิหรือคลินิกอบอุ่นนี้ จะประสานกับทางโรงพยาบาลให้ ทั้งหมดนี้คือภารกิจหลักๆที่เราจะต้องทำ

นพ.โกเมนทร์ กล่าวต่อว่า CCR Team นี้จะประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ คือ ส่วนที่ 1. บุคลากรที่อยู่ในหน่วยปฐมภูมิหรือคลินิกอบอุ่น ซึ่งทำหน้าที่อยู่ใกล้บ้านใกล้สถานที่ของท่านอยู่แล้ว โดยจะมีแพทย์และพยาบาลประจำหรือนักวิชาการสาธารณสุขคอยดูแลอยู่แล้ว ส่วนที่ 2. อาสาสมัครสาธารณสุขหรือเป็นอาสาสมัครเครือข่ายภาคประชาชนที่จะเข้ามาดูแล โดยเป็นการประกอบทีมกันขึ้น และส่วนที่ 3. จะเป็นส่วนของบุคลากรของกรุงเทพมหานครที่เป็นเจ้าหน้าที่เขต กำลังทหาร หรือตำรวจที่จะคอยช่วยประสานในการลงพื้นที่

“ซึ่งเราหวังว่า CCR team จะเป็นเหมือนตาข่ายที่ครอบคลุมที่สุดทั้ง 6 เขต 6 กลุ่มโซนเขตของกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่กรุงเทพฯเหนือ กรุงเทพฯใต้ กรุงเทพฯตะวันออก กรุงเทพฯตะวันตก กรุงธนเหนือ รวมถึงกรุงธนใต้ ณ เวลานี้เราจะพยายามทำทีมให้ได้อย่างน้อย 188 ทีมขั้นต่ำ ที่จะเป็นหน่วยที่อยู่ใกล้ชิดใกล้บ้านใกล้ใจ เพื่อจะดูแลทั้งกายและจิตใจของประชาชน ในส่วนที่อยู่ระหว่าง 2 สัปดาห์นี้ให้ได้มากที่สุด”นพ.โกเมนทร์ กล่าว

สุดท้ายนี้คิดว่า ประชาชนจะสามารถเข้าถึงในหน่วยบริการมากขึ้นและมีที่ปรึกษาด้วย ในขณะเดียวกันที่ผ่านมาจนถึง ณ เวลานี้ทางสำนักงานสอบสวนระบบสุขภาพปฐมภูมิเอง ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานสนับสนุน CCR team โดยตั้งขึ้นที่สำนักงาน มีเบอร์ประสานติดต่อโทร 025-901933 ซึ่งมีหน้าที่ประสานทั้งคลินิกชุมชนอบอุ่น และหน่วยปฐมภูมิที่จะเข้ามาร่วมในการทำภารกิจครั้งนี้