ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณบดีศิริราชเผยกรณีไทยพบติดเชื้อโควิดผสมสองสายพันธุ์ “เดลตา+อัลฟา” ยังไม่มีข้อมูลยืนยันความรุนแรง หรือการแพร่กระจายเชื้ออย่างไร เหตุตัวเลขคนติดเชื้อยังน้อย ทั่วโลกกำลังจับตามอง ไทยก็เช่นกัน แต่ตามธรรมชาติ หากสองสายพันธุ์มีการแลกเปลี่ยนพันธุกรรมก็อาจเกิดผลเชิงบวกหรือลบก็ได้

เมื่อวันที่ 13 ก.ค. ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีประเทศไทยพบสายพันธุ์ผสมระหว่างอัลฟา(อังกฤษ) กับเดลตา(อินเดีย) ผ่านZoom ของศิริราช ว่า ปรากฎการณ์นี้ไม่ได้เพิ่งเกิดในประเทศไทย เราเจอคนบางคนเจอการติดเชื้อโควิดสองสายพันธุ์ แต่เราบอกไม่ได้ว่า คนเหล่านี้จะมีอะไรแตกต่างหรือไม่ เพราะแต่ละสายพันธุ์จะมีลักษณะไม่เหมือนกัน โดยอัลฟาและเดลตา คล้ายคลึงกัน เพราะแพร่เร็ว ความรุนแรงอาจไม่สูงมากนัก จึงไม่เห็นอาการแตกต่างกันมาก แต่หากไปเจอสายพันธุ์เบตา และมาเจอกับสายพันธุ์อัลฟา หรือเบตาเจอกับเดลฟาจะยุ่ง ตอนนี้จึงยังไม่มีการรู้ว่า การเจอสองสายพันธุ์จะมีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน แต่ตามธรรมชาติ หากสองสายพันธุ์มีการแลกเปลี่ยนพันธุกรรมก็อาจเกิดผลเชิงบวกหรือลบก็ได้ แต่เท่าที่ทราบคนงานที่เจอสองสายพันธุ์ 7 คน ยังไม่มีอาการแตกต่างจากคนอื่น ซึ่งตอนนี้เราจึงต้องเฝ้าติดตาม ทั้งของประเทศไทยและต่างประเทศ

(ข่าวเกี่ยวข้อง : ด่วน! แรงงานแคมป์ ในกทม. ติดเชื้อโควิดผสม 2 สายพันธุ์ "เดลตา+อัลฟา" 7 ราย)

“คนไข้ที่มาศิริราชส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีน หรือได้ไม่ครบ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ย้ำให้ต้องได้รับวัคซีน โดยคนไข้เกือบครึ่งเข้ามาก็ปอดอักเสบแล้ว และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจเยอะมาก และคนไข้จำนวนหนึ่งบอกเหตุผลว่า ไม่อยากฉีดวัคซีนเพราะต้องการรอปลายปี จริงๆ อยากเรียนว่า เราสามารถฉีดเสริมได้ แต่การไม่ฉีดและรอนั้น ผมเกรงว่า จะไม่ทัน เพราะไวรัสตัวนี้แพร่เร็วมาก ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุ และมีโรคเรื้อรังอยากให้ฉีดให้เร็ว บางส่วนยังกังวล แต่กลุ่มนี้เสี่ยงมาก เราอย่ามัวแต่ดูคนมีภาวะแทรกซ้อน มีคนจำนวนมากที่ไม่มีผลแทรกซ้อนใดๆ”

ผู้สื่อข่าวถามกรณีคนที่ติดเชื้อสองสายพันธุ์เมื่อแพร่กระจายเชื้อ จะเป็นสายพันธุ์ไหน ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่มีใครตอบได้ ต้องเฝ้าระวัง แต่สายพันธุ์ไหนแพร่เร็ว อีกสายพันธุ์ก็จะหายไป ตอนนี้ไม่มีใครบอกรายละเอียดอะไรได้ เพราะข้อมูลยังน้อย ตอนนี้รู้ว่ามี และรอดู

“ตอนนี้ไวัรสโควิดมีการกลายพันธุ์มีเป็นพันๆ ถ้าทำให้ติดช้าลงมันจะสลายไปเอง ดังนั้นต้องติดตามดูกลุ่มที่ติดเชื้อ 2 สายพันธุ์ต่อไป ส่วนการแพร่เชื้อต่อจะแพร่ตัวไหนนั้น ไม่มีใครตอบได้ แต่หลักการอย่างที่บอกว่าสายไหนแพร่เร็วสายพันธุ์นั้นคงอยู่ หากแพร่ช้าก็หายไป ตอนนี้หาอู่ฮั่นยากมาก หรือในอังกฤษก็หาสายพันธุ์อัลฟาได้น้อย กลายเป็นเดลตาไปหมดแล้ว” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า สำหรับสายพันธุ์เดลตาเริ่มมีข้อมูลว่าอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น ส่วนจะกระทบต่อมาตรการดูแลรักษาที่บ้าน (Home Isolation) หรือไม่ หลักการคือ เราไม่ได้ทำการรักษาดูแลที่บ้านในทุกคนหรือทุกบ้าน ต้องพิจารณาจาก 3 องค์ประกอบ คือ 1. คนไข้ หากทำแล้วเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ มีโรคร่วมเยอะก้ไม่ควรทำ 2.สถานที่อยู่อาศัยไม่สามารถทำได้ เช่นมีคนสูงอายุอยู่ด้วย หรือมีห้องน้ำห้องเดียว แยกตัวเองได้ยาก และ 3.แพทย์พิจารณาว่ามีโรคอะไรอยู่ รายไหนควรทำหรือไม่ เมื่อทำต้องมีมาตรการอย่างไรไม่ให้แพร่เชื้อคนอื่น

ข่าวเกี่ยวข้อง : “หมอประสิทธิ์” ห่วงรอวัคซีนทางเลือก “โมเดอร์นา” เข็ม 2 หรือบูสเตอร์โดส อาจไม่ทันเดลตาจู่โจม!

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org