ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เลขาธิการสภากาชาดไทย เผยรายละเอียดการจัดสรรวัคซีนทางเลือก “โมเดอร์นา” ประชาชนกลุ่มไหนได้บ้าง หลักๆ มี 4 กลุ่ม “บุคลากรการแพทย์ ประชาชนกลุ่มเปราะบาง สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ 70ปีที่ไม่เคยรับวัคซีนโควิดมาก่อน” พร้อมระบุเป็นวัคซีนตามเงื่อนไขขององค์การเภสัชกรรม คาดว่าจะได้รับวัคซีนทางเลือกนี้ในไตรมาส 4 ของปี 64 และต้นปี 65 ทั้งนี้ กาชาดฉีดเองส่วนหนึ่ง อีกส่วน รพ.รัฐ ฉีดบุคลากรการแพทย์ และที่เหลือส่งต่อ อบจ. แต่ทั้งหมดต้องฉีดตามกลุ่มเป้าหมายที่กำหนด โดยนำไปฉีดโดยไม่คิดมูลค่า

 

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 16 ก.ค. ที่ อาคารเทิดพระเกียรติ สภากาชาดไทย นายเตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทย แถลงข่าวด่วนประเด็นการได้รับจัดสรรวัคซีนโมเดอร์นา ชนิด mRNA และแผนการกระจายวัคซีนให้ประชาชน ว่า ตามที่ได้มีกระแสข่าว เรื่อง สภากาชาดไทยจัดซื้อวัคซีนโมเดอร์นา จำนวน 1 ล้านโดส โดยจะดำเนินการฉีดให้ฟรีให้กับประชาชนนั้น สภากาชาดไทย ขอเรียนขี้แจงว่า สภากาชาดไทยได้รับการประสานจากองค์การเภสัชกรรม(อภ.) ว่า ได้สำรองวัคซีนโมเดอร์นา 1 ล้านโดส ให้แก่สภากาชาดไทย ซึ่งต่อมาสภากาชาดไทยได้มีหนังสือยืนยันการจัดซื้อวัคซีนโมเดอร์นาภายใต้เงื่อนไขที่ อภ. กำหนด 

นายเตช กล่าวว่า  คาดว่าสภากาชาดไทยจะได้รับวัคซีนโมเดอร์นา ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 และต้นปี 2565 โดยสภากาชาดไทยมีแผนการที่จะนำวัคซีนโมเดอร์นา ไปฉีดให้แก่ประชาชนในกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ 1.บุคลากรทางการแพทย์ 2.กลุ่มประชาชนผู้ด้อยโอกาส คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง 3.สตรีมีครรภ์ และ 4.ผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนโควิด-19 โดยส่วนหนึ่งสภากาชาดไทยจะเป็นผู้ดำเนินการฉีดเอง อีกส่วนหนึ่งส่งต่อให้โรงพยาบาลภาครัฐที่ต้องการฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ และที่เหลือส่งต่อให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งจะต้องดำเนินการฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายที่สภากาชาดไทยกำหนด รวมทั้งต้องจัดทำแผนการฉีดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ลงนามรับรองมายังสภากาชาดไทย จึงจะจัดสรรวัคซีนโมเดอร์นาให้ ทั้งนี้ หน่วยงานที่รับวัคซีนโมเดอร์นา ตามที่สภากาชาดไทยจัดสรร ต้องนำวัคซีนไปฉีดโดยไม่คิดมูลค่า และห้ามจำหน่ายต่อ ทั้งนี้ ขอเชิญชวนบริจาคให้แก่ "กองทุนกาชาด เพื่อการจัดซื้อวัคซีน และยาโควิด-19 สำหรับประชาชน”

“ในประเทศไทยมีผู้ด้อยโอกาสประมาณ 11 ล้านคนใน 77 จังหวัด ต้องขอความเห็นใจว่าสภากาชาดฯ ไม่ได้เป็นรัฐ เป็นเพียงองค์การกุศลหนึ่งที่ต้องการช่วยเหลือประชาชน เท่าที่เรามีขีดความสามารถ และงบประมาณของเรามีจำกัด เราจะต้องพยายามหางบประมาณมาช่วยเท่าที่จะทำได้” นายเตช กล่าว

เมื่อถามถึงการประสานงานของสภากาดชาดฯ เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไหร่ นายเตช กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มต้นที่จะมีวิกฤตระลอกที่ 3 สภากากชาดฯ ได้มอบหมายให้หาวัคซีนทางเลือก ซึ่งมีหลายสาย ปรากฎว่า ทางบริษัทผู้ผลิตวัคซีนจะดำเนินการเจรจากับรัฐบาลหรือองค์การที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลเท่านั้น และต้องเป็นองค์การเดียว ซึ่งบริษัทที่ก้าวหน้าที่สุดขณะนั้น คือ บริษัทซิลลิค ฟาร์ม่า ที่เป็นตัวแทนในประเทศไทยของบริษัทโมเดอร์นา 

“การเจรจาวัคซีนที่ต้องผ่านองค์การของรัฐเท่านั้น เพราะมีนัยยะทางกฎหมาย ว่าใครจะรับผิดชอบ เพราะยังเป็นบัญชียาในภาวะฉุกเฉิน หากมีการล้มป่วย ไม่สบายขึ้นมาใครจะรับผิดชอบทางกฎหมาย เขาจึงให้องค์การเภสัชกรรมดำเนินสั่งเข้ามา แต่ที่จริงแล้ว สายหนึ่งที่ของสภากาชาดฯ ก็ได้ติดต่อและจองกับบริษัทซิลลิค มาตั้งแต่ต้น แม้ว่าตอนนั้นโมเดอร์นายังไม่ได้รับทะเบียนจาก อย.ไทย แต่ก็ขอจองไว้ประมาณ 1 ล้านโดส ซึ่ง อภ. ก็รับทราบว่าเราเจรจาไว้ก่อนแล้ว และเมื่อ อภ.สามารถเจรจากับบริษัทซิลลิค ได้ 5 ล้านโดส อภ. ก็เลยกัน 1 ล้านโดสให้สภากาชาดไทย” นายเตช กล่าวและว่า เราไม่ได้ไปแย่งจากใครมาทั้งสิ้น

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงขั้นตอนการจองวัคซีนโมเดอร์นาจากสภากาชาดฯ ของแต่ละหน่วยงาน รวมถึงเรื่องค่าใช้จ่าย นายเตช กล่าวว่า สภากากชาดฯ ได้ส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการฯ ทุกจังหวัด เพื่อให้บริจาคมาที่กองทุนกาชาด เพื่อการจัดซื้อวัคซีน และยาโควิด-19 สำหรับประชาชน เชิญชวนให้บริจาคก่อน โดยจะมีกฎเกณฑ์ว่าจะนำไปฉีดให้ใคร และต้องฉีดโดยไม่คิดเงิน

“เราไม่ได้มีการกำหนดราคาที่แน่นอน เคยดูไว้ที่ 1,200 บาทต่อโดส หรือ 1,100 บาท ซึ่งยังไม่แน่นอน แต่คาดว่า 1-2 สัปดาห์นี้จะทราบตัวเลขที่แน่นอน” นายเตช กล่าว

เมื่อถามว่า หาก รพ.เอกชนมาขอบริจาคเพื่อรับการจัดสรรวัคซีนโมเดอร์นาจากสภากาชาดฯ ได้หรือไม่ และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) จะต้องดำเนินการอย่างไร ได้สัดส่วนเท่าไหร่ นายเตช กล่าวว่า เราก็จะพิจารณากันต่อไป ซึ่งในวันนี้ก็จะมีการหารือกันในช่วง 13.30 น. รวมถึงเรื่องการจัดสรรวัคซีนให้อปท. เราจะขอว่าให้ฉีดกลุ่มเป้าหมาย 5 กลุ่ม 1.คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง หญิงตั้งครรภ์ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนโควิดมาก่อน 2.ผู้อายุ 70 ปีขึ้นไปยังไม่เคยได้รับวัคซีนโควิดมาก่อน 3.บุคลากรแพทย์ พยาบาลในถิ่นทุรกันดาร 4.ผู้ทำงานประจำในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ครูผู้สอนในโรงเรียนอนุบาลหรือครู อาจารย์ที่สอนในโรงเรียน และยังไม่เคยได้รับวัคซีนโควิด และ 5.บุคลากรที่ต้องปฏิบัติงานสัมผัสประชาชนตามโครงการของอปท.จังหวัด ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน และบุคคลที่ยังไม่สามารถได้รับวัคซีนโควิดได้ เนื่องจากติดขัดระเบียบและกฎหมาย และองค์การบริหารส่วนจังหวัด ต้องทำแผนเสนอการขอรับจัดสรรวัคซีน โดยต้องรับความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด

 

ข่าวต่อ :  สภากาชาดไทยนำเข้าวัคซีน “โมเดอร์นา” ฉีดให้ประชาชนกลุ่มเปราะบาง-ผู้สูงอายุ 70 ปี