ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมควบคุมโรคเผยตัวเลขวัคซีนแอสตร้าฯ เข้าไทยรวม 8,193,500 โดส ย้ำ! มีการเจรจากับบริษัททุกเดือนขอจัดส่ง 61 ล้านโดสในธ.ค.ปี 64 ส่วนที่มีการขยายไปถึงพ.ค. 65 บริษัทไม่ได้แจ้ง

เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) แถลงกรณีการเจรจากับทางบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ผ่านระบบออนไลน์ ว่า สำหรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในประเทศไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เมื่อวันที่ 20 ม.ค.2564 โดยได้รับวัคซีนตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-16 ก.ค.2564 แบ่งเป็นวันที่ 28 ก.พ.ได้ประมาณ 117,300 โดส วันที่ 28 พ.ค. 242,100 โดส วันที่ 4 มิ.ย.ได้ 1,787,100 โดส วันที่ 16 มิ.ย. 610,000 โดส วันที่ 18 มิ.ย. 970,000 โดส วันที่ 23 มิ.ย. 593,300 โดส วันที่ 25 มิ.ย. 323,600 โดส วันที่ 30 มิ.ย. 846,000 โดส วันที่ 3 ก.ค. 590,000 โดส วันที่ 9 ก.ค. 555,400 โดส 12 ก.ค.ส่งมา 1,053,000 โดส และวันที่ 16 ก.ค. ส่งมา 505 ,700 โดส รวมทั้งสิ้น 8,193,500 โดส

 

ภาพจากกรมควบคุมโรค

00 ไทม์ไลน์จัดหารวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า สำหรับไทม์ไลน์การจัดหาวัคซีนแอสตร้าฯ นั้น เริ่มตั้งแต่พบโควิด-19 ในจีน โดยไทยพบนักท่องเที่ยวชาวจีนจากอู่ฮั่นในเดือน ม.ค.2563 ต่อมาการระบาดเพิ่มขึ้นจึงมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในวันที่ 25 มี.ค.2563 จากนั้นคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติเห็นชอบแผน blueprint การเข้าถึงวัคซีนในวันที่ 22 เม.ย.63 เห็นได้ว่าเราดำเนินการเรื่องนี้มาปีก่อน ตั้งแต่การระบาดแรกๆตอนเม.ย.2563 ที่ผ่านมา ต่อมาวันที่ 24 ส.ค. กระทรวงสาธารณสุขลงนามสนับสนุนถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัท AZ ให้ผู้ผลิตในประเทศไทย ทำให้เรามีแหล่งผลิตในประเทศไทย จากนั้นวันที่ 23 ก.ย. คณะกรรมการการขับเคลื่อนการจัดหาวัคซีนฯ เห็นชอบแผนจัดหาวัคซีนเบื้องต้น

วันที่ 9 ต.ค.2563 รมว.สธ.ได้ออกประกาศเรื่องการจัดหาวัคซีนในกรณีมีเหตุฉุกเฉินฯ วันที่ 17 พ.ย.2563 ครม.เห็นชอบการจองวัคซีนล่วงหน้า(AZ) 26 ล้านโดส จากนั้น 27 พ.ย. 2563 ลงนามในสัญญา 3 ฝ่าย ที่ทำเนียบรัฐบาล คือ แอสตร้าฯ ประเทศไทย สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และกรมควบคุมโรค และวันที่ 5 ม.ค. 2564 ครม.เห็นชอบสั่งเพิ่มอีก 35 ล้านโดส รวมเป็น 61 ล้านโดส กระทั่งวันที่ 20 ม.ค. อย.ขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิดของแอสตร้าฯ ใช้ได้ในภาวะฉุกเฉิน วันที่ 23 ก.พ. ครม.เห็นชอบแก้ไขสัญญาจองซื้อวัคซีนจากเดิม 26 ล้านโดส เพิ่ม 35 ล้านโดส เป็น 61 ล้านโดส ต่อมาวันที่ 2 มี.ค. ครม.เห็นชอบกรอบวงเงิน ซึ่งกรมควบคุมโรคก็มีการเจรจาแก้ไขสัญญาเพิ่มเติมจาก 26 ล้านโดส เพิ่มอีก 35 ล้านโดส โดยประสานกับแอสตร้าฯประเทศไทย จากนั้นวันที่ 25 มี.ค.2564 ส่งสัญญาที่ลงนามโดยกรมควบคุมโรค ให้บริษัทแอสตร้าฯ ประเทศไทย

“สังเกตได้ว่าเวลาเราส่งสัญญาไป ทางแอสตร้าฯลงนามสัญญากลับมาจะใช้เวลา 2 เดือน ซึ่ง คร.ได้รับสัญญาวันที่ 4 พ.ค. เห็นได้ว่าเรามีการดำเนินการต่อเนื่อง และใช้เวลาพอสมควร ต่อมาวันที่ 1 มิ.ย.2564 ครม.เห็นชอบให้ดำเนินการจัดหาวัคซีนแอสตร้าฯ กรอบ 61 ล้านโดสตั้งแต่มิ.ย.-ธ.ค.64” อธิบดีกรมควบคุมโรค

ภาพจากกรมควบคุมโรค

00 อธิบดีคร.ย้ำ หนังสือจากแอสตร้าฯ ส่งถึง "อนุทิน" เป็นการขอบคุณ

นพ.โอภาส กล่าวถึงหนังสือที่บริษัทแอสตร้าฯ ส่งถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ว่า เป็นหนังสือที่ทำถึงรมว. สธ. โดยเป็นหนังสือที่บริษัทขอบคุณรมว.ที่สนับสนุนให้ไทยเป็นฐานการผลิตของบริษัท แอสตร้าฯ ที่ทำให้สามารถผลิตวัคซีนได้ในภูมิภาคอาเซียน และนอกอาเซียน ทั้งหมด 8 ประเทศ รวมทั้งรายงานด้วยว่า การส่งวัคซีนให้ตั้งแต่ต้น ซึ่งกำหนดการส่งวัคซีนตกลงกันว่า จะส่งมอบได้ในโรงงานที่ผลิตในไทยช่วงมิ.ย. แต่ก็ส่งให้ไทยล่วงหน้าตั้งแต่ ก.พ.

ส่วนประกาศต่อมามีการพูดถึงวัคซีนที่มีการสั่งจองกับเขา โดยไทยจองมากที่สุดในภูมิภาค 61 ล้านโดส จาก 8 ประเทศ คิดเป็น 1 ใน 3 ของวัคซีนที่มีการจองในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งบริษัทยืนยันว่า จะส่งให้เราได้อย่างน้อย 1 ใน 3 จากวัคซีนที่ผลิตได้ แต่อย่างไรก็ตาม ตอนที่ทำสัญญาวันที่ 27 พ.ค.63 ณ ขณะนั้นยังไม่ได้วัคซีนแม้แต่ขวดเดียว จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะบอกว่า เดือนไหนต้องได้จำนวนมากน้อยแค่ไหน แต่จะมีการเจรจาแจ้งเป็นรายเดือนว่าเราต้องการแต่ละเดือนเท่าไหร่ และกรมควบคุมโรค มีหนังสือแจ้งบริษัทแอสตราฯ ไทยแลนด์ เมื่อวันที่ 24 เม.ย. โดยแจ้งล่วงหน้าทุกเดือน โดยหนังสือระบุว่า ขอวัคซีนเดือนมิ.ย. 6 ล้านโดส เดือนก.ค. 10 ล้านโดส เดือน ส.ค. 10 ล้านโดส เดือน ก.ย. 10 ล้านโดส เดือน ต.ค.10 ล้าน โดส เดือน พ.ย. 10 ล้านโดส และเดือนธ.ค. 5 ล้านโดส เพื่อครบ 61 ล้านโดส เป็นการหนังสือยืนยันว่าเราต้องการเท่าไหร่ แต่การส่งมอบก็ขึ้นกับกำลังการผลิตของเขา การขอจึงอาจไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

 

00 เคลียร์ประเด็นแอสตร้าฯ เผยในหนังสือส่งวัคซีน 3 ล้านโดส

สำหรับรายละเอียดในหนังสือว่า แอสตร้าฯจะส่งให้ 3 ล้านโดสนั้น ในหนังสือได้อ้างอิงการประชุมไม่เป็นทางการเมื่อวันที่ 7 ก.ย2563 ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยในเดือน ก.ย. 2563 ตอนนั้นมีการสอบถามว่า ความสามารถในการฉีดวัคซีนของไทยมีเท่าไหร่ ข้อมูลตอนนั้น คือ ฉีดได้ 3 ล้านโดส แต่ความเป็นจริง กรมควบคุมโรคไม่เคยบอกเป็นทางการ ว่าเราจะสามารถฉีดได้ 3 ล้านโดส เพราะจริงๆ เรามีการแจ้งเป็นทางการกับแอสตร้าฯว่า เรามีขีดความสามารถฉีดได้ถึง 10 ล้านโดส หากมีวัคซีนเพียงพอ ดังนั้น ข้อมูลที่ว่าแอสตร้าฯ จะส่งให้เราได้เท่าไหร่ มีสองส่วนคือ ความต้องการของประเทศไทย และกำลังการผลิตของเขา ซึ่งสองส่วนนี้ต้องเชื่อมต่อกันและเป็นการส่งวัคซีนจริง

เมื่อถามว่าก่อนทำสัญญามีการระบุตัวเลขอย่างไร นพ.โอภาส กล่าวว่า ในชุดสัญญาสามฝ่าย ของแอสตร้าฯ กรมควบคุมโรค และสถาบันวัคซีนแห่งชาติเป็นการจองล่วงหน้า จึงระบุไม่ได้ว่า เขาผลิตเท่าไหร่อย่างไร การผลิตและการส่งมอบจึงต้องเจรจาเป็นรายเดือน ส่วนการส่งออกไปต่างประเทศเท่าไหร่ ก็ไม่ได้แจ้งเราในสัดส่วนตอนทำสัญญา แต่ในสัญญาระบุว่า หากต้องส่งออกไปต่างประเทศ ขอให้ไทยสนับสนุน ไม่ขัดขวางการส่งออกโดยไม่สมควร

“ แอสตร้าฯ ยังส่งวัคซีนให้เราต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้มีความพยายามผลิตให้ได้มากขึ้น โดยปัจจุบันกำลังการผลิตเท่าที่คำนวนเองอยู่ที่ 15 ล้านโดสต่อเดือน หากคิด 1 ใน 3 ของกำลังการผลิต เราคำนวณเองก็น่าจะได้ 5 ล้านโดส แต่ก็ต้องมีการเจรจา เพราะเรายืนยันว่า อย่างไรเสีย 61 ล้านโดสหากเป็นไปได้ต้องได้ในเดือน ธ.ค. 2564 ซึ่งก็ต้องมีการเจรจารายเดือนต่อไป ส่วนที่มีข่าวว่า จะขยาย พ.ค.65 ก็ต้องเจรจาต่อไป แต่แอสตร้าฯ ไม่เคยระบุกรณีนี้” นพ.โอภาส กล่าว

 

00โคแวกซ์ มีคณะกรรมการพิจารณาเฉพาะ

ส่วนคำถามที่ว่าบริษัทแอสตร้าฯได้เคยแนะนำให้ประเทศไทยเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ นพ.โอภาส กล่าวว่า เรื่องนี้มีคณะกรรมการระดับกระทรวงพิจารณา จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตอบในคราวหน้า

 

(อ่านรายละเอียดอื่นๆ : “หมอโอภาส” เผยแผนกระจายวัคซีนสูตรผสม “ซิโนแวค-แอสตร้าฯ” เฉลี่ยเดือนละ 10 ล้านโดส)

 

*****************************

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org