ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมควบคุมโรค เผยวัคซีนสูตรผสม จะเป็นวัคซีนหลักของไทย ยกเว้นบางกรณี พร้อมเดินหน้าแผนกระจายวัคซีนรองรับแล้วเฉลี่ยเดือนละ 10 ล้านโดส แบ่งเป็นเข็มแรกใช้ซิโนแวค และเข็ม 2 เป็นแอสตร้าฯ คำนวณแต่ละเดือน Sinovac 4-5 ล้านโดส AZ 5-6 ล้านโดส คาดเพียงพอฉีดกับจำนวนที่ไทยหาได้ !! พร้อมมีแผนสำรองหาวัคซีนแพลตฟอร์มอื่นๆ ล่าสุดอยู่ระหว่างเจรจาชนิดวัคซีนโปรตีนซับยูนิต ทั้งโนวาแวกซ์ สหรัฐ จีน และคิวบา

เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) และนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ให้ข้อมูลถึงกรณีการเตรียมพร้อมวัคซีนโควิดในประเทศไทย โดยเฉพาะหลังจากมีการใช้สูตรการฉีดวัคซีนสูตรผสม (Mix And Match Vaccine) หรือการสลับวัคซีนเข็มที่ 1 เป็นซิโนแวค และเข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า ผ่านระบบออนไลน์

(ข่าวเกี่ยวข้อง : เปิดไทม์ไลน์จัดหาวัคซีนแอสตร้าฯ ประเทศไทย พร้อมแจงทุกรายละเอียดหนังสือสัญญา)

โดยผู้สื่อข่าวได้สอบถามถึงกรณีหากการนำเข้าวัคซีนแอสตร้าฯ ไม่เพียงพอ หรือไม่เป็นไปตามเป้าหมาย 61 ล้านโดสในปี 2564 จะมีแผนสำรองอย่างไรนั้น

นพ.โอภาส กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า แผนสำรองจะมีการหาวัคซีนจากแหล่งอื่นๆ เข้ามาเพิ่มเติมตามสถานการณ์ ส่วนต้องเอาซิโนแวคเข้ามาอีกหรือไม่นั้น ก็เป็นไปตามกรอบ ครม. เห็นชอบและอนุมัติงบประมาณ แต่สถานการณ์วัคซีนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะตอนนี้ก็มีการสลับวัคซีนโควิด ที่ใช้วัคซีนซิโนแวคเป็นเข็มแรก และแอสตร้าซิโนแวคเข็มที่สอง โดยต้องขอเรียนว่า วัคซีนทุกชนิดที่องค์การอนามัยโลกและ อย.รับรอง มีประสิทธิภาพ ทั้งลดการติดเชื้อ ลดการรุนแรง ลดการเสียชีวิตได้หมด มากน้อยขึ้นกับงานวิจัย แต่ไม่มีวัคซีนใดสมบูรณ์แบบ 100% ไม่มีวัคซีนใดลดการติดเชื้อ 100% ไม่มีวัคซีนใดลดการป่าวยหนักได้ 100% ไม่มีวัคซีนใดป้องกันการเสียชีวิต 100% แต่ก็พยายามหาวัคซีนจากหลายๆ แหล่งและเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยการนำเข้ามาก็จะเป็นการสลับวัคซีน ซึ่งข้อดีของการใช้เข็มแรก ซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า

00 อยู่ระหว่างเจรจาวัคซีนแพลตฟอร์มอื่นๆ เช่น โปรตีน ซับยูนิต จากสหรัฐ จีน และคิวบา

เมื่อถามว่า มีการเจรจาวัคซีนแพลตฟอร์มอื่นๆ หรือมีการเจรจาแลกเปลี่ยนวัคซีนกับประเทศอื่นๆหรือไม่ อย่างไร นพ.โสภณ  กล่าวว่า มีการเจรจากับต่างประเทศเกี่ยวกับวัคซีนแพลตฟอร์มอื่นๆ อย่างกรณีคำถามว่า เป็นไปได้หรือไม่เพื่อขอแลกเปลี่ยนวัคซีนมาใช้ในประเทศไทยก่อนนั้น ที่ผ่านมาก็มีการเจรจากับหลายประเทศ เช่น ที่ญี่ปุ่นบริจาควัคซีนแอสตร้าฯ ให้ไทย และปลายเดือนนี้มีอีก 1 ประเทศ ที่ก่อนหน้านี้เรามีการเจรจาเพื่อขอแลกวัคซีนแอสตร้าฯ ที่เขามีเหลือเนื่องจากจองไว้เยอะ และต่อมาเขามีการเปลี่ยนไปใช้วัคซีนชนิดอื่น ไทยจึงเจรจาขอแลกวัคซีนนั้นมาใช้ก่อน ล่าสุดเขาก็จะเปลี่ยนมาเป็นการบริจาคให้เราแทน

“ดังนั้นขอชี้แจงว่าเรามีการเจรจาอยู่ตลอด แต่กรณีที่ยังอยู่ระหว่างเจรจาไม่สำเร็จก็เลยยังไม่ได้มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ ส่วนวัคซีนชนิดโปรตีนซับยูนิต (Subunit vaccine) เป็นเทคโนโลยีที่น่าสนใจ ทั่วโลกมีอยู่ 3 ประเทศ ที่กำลังพัฒนา คือโนวาแวกซ์ สหรัฐอเมริกา บริษัทที่ประเทศจีน และที่ประเทศคิวบา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา ทั้งการจัดซื้อวัคซีนมาใช้ในประเทศ และปกติในการเจรจาตรงนี้จะมีการเจาต่อในเรื่องของการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตด้วย” นพ.โสภณ กล่าว

จากสัดส่วนการนำเข้าวัคซีนแอสตร้าฯ มีแผนกระจายวัคซีนโควิดในกทม.และต่างจังหวัดอย่างไร นพ.โอภาส กล่าวว่า แผนกระจายวัคซีนอย่างน้อยฉีด 10 ล้านโดส โดยขณะนี้มีวัคซีน 2 ชนิด คือ ซิโนแวค และแอสตร้าฯ ส่งให้จังหวัดต่างๆ และส่งให้กลุ่มเป้าหมายหลักขณะนี้ ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา โดยช่วงแรกๆ เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เพราะมีความเสี่ยงอาจติดเชื้อจากคนไข้ ซึ่งมีการฉีดวัคซีนแล้ว ส่วนกลุ่มต่อมา คือ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ซึ่งกลุ่มนี้เมื่อติดเชื้ออาการจะรุนแรง และเสียชีวิตสูง จากข้อมูลพบเกินร้อยละ 70 ดังนั้น การกระจายกลุ่มนี้จะมากที่สุด นอกจากนี้ จะฉีดให้กับพื้นที่ระบาดสุด ตอนนี้คือ กรุงเทพฯและปริมณฑล เพราะฉะนั้น แผนการกระจายวัคซีนแต่ละช่วงเวลาจะปรับเปลี่ยนไปตามช่วงเวลาตามสถานการณ์ระบาด

00 คร.เผยรายละเอียดสัดส่วนวัคซีนซิโนแวค-แอสตร้าฯ นำเข้าไทยรองรับวัคซีนสูตรผสม

ผู้สื่อถามถามว่า เมื่อมีการสลับวัคซีน จะต้องมีการปรับสัดส่วนการนำเข้าวัคซีนซิโนแวค และแอสตร้าฯ อย่างไร นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า การสลับวัคซีน หรือการฉีดวัคซีนสูตรผสม (Mix And Match Vaccine) นั้น พบว่าหลายประเทศมีการดำเนินการดังกล่าว ซึ่งสามารถทำให้เพิ่มภูมิคุ้มกันต่อต้านโควิด โดยเฉพาะสายพันธุ์ใหม่ๆ อย่างเดลตา และจากการศึกษาของไทยพบว่า หากใช้เข็มแรกเป็นซิโนแวค และเข็มสองเป็นแอสตร้า จะทำให้ภูมิคุ้มกันขึ้นใกล้เคียงแอสตร้าฯ 2 เข็ม ภูมิฯขึ้นสูงกว่าการติดเชื้อธรรมชาติ และข้อดีอีกอย่าง คือ จากเดิมแอสตร้าฯ 2 เข็มต้องใช้เวลา 12 สัปดาห์ และต้องรออีก 2 สัปดาห์กว่าวัคซีนสร้างภูมิฯเต็มที่ ดังนั้น ต้องใช้เวลาเกือบ 4 เดือนกว่าผู้ที่รับวัคซีนจะได้มีภูมิฯเต็มที่ แต่หากสลับเป็นซิโนแวคเข็มแรก และแอสตร้าฯ เข็ม 2 ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ โดยใช้เวลา 2 สัปดาห์ภูมิฯจะขึ้น แปลว่า จะใช้เวลาเพียง 5-6 สัปดาห์ภูมิคุ้มกันจะใกล้เคียงกับแอสตร้าฯ 2 เข็ม ดังนั้น ระยะต่อไปเราจะพยายามให้ใช้สูตรนี้เป็นวัคซีนหลักในการฉีดให้คนประเทศไทย ยกเว้นบางกรณี

“จากการคำนวณในแต่ละเดือนใช้ซิโนแวค 4-5 ล้านโดส และแอสตร้าฯประมาณ 5-6 ล้านโดส ซึ่งก็จะสอดคล้องกับที่เราหาได้” นพ.โอภาส กล่าว

00 บางรพ. แจ้งเลื่อนฉีดวัคซีน เหตุเพราะยังไม่มั่นใจว่าเริ่มใช้สูตรผสมหรือไม่ ล่าสุดแจ้งทางการแล้ว

เมื่อถามกรณีบางจังหวัดมีการแจ้งเลื่อนฉีดวัคซีนโควิด นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ส่วนจังหวัดที่มีการเลื่อนฉีดวัคซีนนั้น ได้รับทราบว่า ไม่แน่ใจว่าต้องปรับเปลี่ยนสูตรฉีดอย่างไร แต่เขามีวัคซีนในมือแล้ว ซึ่งปลัดสธ.ย้ำว่า สูตรฉีดหลักเป็นซิโนแวค กับแอสตร้า หรือแอสตร้าและแอสตร้า แต่ขอให้เน้นผุ้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม การจัดส่งนั้น เราจะส่งไปยังจังหวัด และทางผู้ว่าฯ ก็จะดำเนินการตามแผนของจังหวัด แต่ก็ขึ้นกับนโยบายว่า ฉีดกลุ่มไหนเป็นหลักก่อน ซึ่งขอให้สอดคล้องกับนโยบาย อย่างโคราชมีกว่า 30 อำเภอ การจัดสรรก็แตกต่างกัน อย่างพื้นที่กทม.มีการระบาดสูงก็ยังใช้วัคซีนแอสตร้าฯกับแอสตร้าฯ ในผู้สูงอายุ

00โคแวกซ์ มีคณะกรรมการพิจารณาเฉพาะ

ส่วนคำถามที่ว่าบริษัทแอสตร้าฯได้เคยแนะนำให้ประเทศไทยเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ นพ.โอภาส กล่าวว่า เรื่องนี้มีคณะกรรมการระดับกระทรวงพิจารณา จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตอบในคราวหน้า