ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

(19 กรกฎาคม 2564) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ (สายเลิกบุหรี่ 1600) จัดเสวนาออนไลน์หัวข้อ “เข้าพรรษายุคโควิด เลิกเสพติดบุหรี่ด้วยสายเลิกบุหรี่ 1600” เพื่อร่วมกันหาแนวทางให้คนไทยเข้าถึงช่องทางการสื่อสารในการลด ละ เลิก สูบบุหรี่ โดยเฉพาะในช่วงที่กำลังมีการระบาดของโรคโควิด-19 ที่การสูบหรี่ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลให้เกิดความรุนแรงจนถึงเสียชีวิตในผู้ที่ติดเชื้อ และในโอกาสเข้าพรรษาที่พุทธศาสนิกชนจะได้ถือศีล ลด ละ เลิกพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำร้ายตนเองและผู้อื่น

นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันแนวโน้มคนไทยมีอัตราการสูบบุหรี่มีลดลง โดยข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 คนไทยสูบบุหรี่ลดลงเหลือร้อยละ 17.4 ซึ่งลดลงจากร้อยละ 19.1 ในปี 2560 ขณะที่องค์การอนามัยโลก ประมาณการในปี 2562 มีคนไทยที่เสียชีวิตจากบุหรี่ถึง 70,952 คน และเสียชีวิตจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง 9,435 คน ซึ่งก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายถึงสูงถึงร้อยละ 15 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศทั้งหมด ในสถานการณ์การระบาดโควิด-19 สสส. และภาคีเครือข่าย ได้ปรับแผนการทำงาน โดยให้ความสำคัญการทำงานผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ในการให้ความรู้ การณรงค์สังคม ให้ลด ละ เลิกยาสูบ และสิ่งเสพติดต่างๆ ทั้ง เฟซบุ๊ก เว็บไซต์ ยูทูบ และซูม

“ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 อยากเชิญชวนผู้ที่ยังสูบบุหรี่อยู่ ใช้โอกาสในช่วงเข้าพรรษาที่กำลังจะมาถึง เป็นวันเริ่มต้นที่ตัดสินใจเลิกพฤติกรรมการสูบบุหรี่ เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย และเตรียมพร้อมรับการฉีดวัคซีน ซึ่งมีข้อมูลจากหลายประเทศยืนยันว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีประวัติการสูบบุหรี่ มีความเสี่ยงที่อาการของโรคจะรุนแรงและเสียชีวิตได้มากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ ที่สำคัญคนสูบบุหรี่เมื่อได้รับวัคซีนโควิด-19 ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้น้อยกว่าคนไม่สูบ ดังนั้น เพื่อเตรียมความพร้อมของผู้ที่จะได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ควรเลิกสูบบุหรี่ก่อนได้รับวัคซีน เพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันและปอดฟื้นฟูกลับมาทำงานได้แข็งแรง นอกจากนี้ ยังช่วยลดควันบุหรี่มือสองที่อาจกระทบกับผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ โดยเฉพาะคนในครอบครัว คนที่เรารัก โดยสามารถขอรับคำปรึกษาเลิกบุหรี่จากสายเลิกบุหรี่ 1600” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว

รศ.ดร.จินตนา ยูนิพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ (สายเลิกบุหรี่ 1600) กล่าวว่า ในช่วงวิกฤตโควิด-19 มีประชาชนขอรับปรึกษาเลิกบุหรี่กับสายเลิกบุหรี่ 1600 จำนวนมาก โดยให้เหตุผลว่า กลัวการติดเชื้อโควิด-19 จากเดิมที่เหตุผลของการโทรมาปรึกษาคือ เลิกเพื่อสุขภาพ และเลิกสูบเพื่อคนรอบข้าง สะท้อนว่าประชาชนให้ความสำคัญต่อการระบาดของโควิด-19 โดยขณะนี้สายเลิกบุหรี่ 1600 ได้ปรับแผนการทำงานเพื่อให้สามารถบริการประชาชนได้ดียิ่งขึ้น โดยเพิ่มเวลาให้บริการตั้งแต่ 09.00 – 23.00 น. เนื่องจากพบว่าช่วงเวลาบ่ายและค่ำ เป็นช่วงที่มีการโทรเข้ามาขอคำปรึกษาจำนวนมาก นอกจากนี้ ได้เพิ่มช่องทางการติดต่อทางแอปพลิเคชันไลน์ เฟชบุ๊กแฟนเพจ เว็บไซต์ และศูนย์บริการเลิกบุหรี่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการบริการอย่างเต็มที่ นอกจากให้ความรู้เรื่องยาสูบแล้ว ยังสามารถให้คำปรึกษาการสูบบุหรี่ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ด้วย โดยประชาชนสามารถโทรศัพท์ขอรับคำปรึกษาเลิกบุหรี่ได้ฟรีทุกเครือข่าย

รศ.ดร.จินตนา กล่าวต่อว่า การสูบบุหรี่มีผลโดยตรงกับโควิด-19 เนื่องจากบุหรี่จะส่งผลกระทบโดยตรงกับระบบทางเดินหายใจ ทำให้ระบบหายใจไม่แข็งแรง หากผู้ที่สูบบุหรี่อยู่ติดโควิด-19 มีโอกาสสูงที่อาการจะทรุดหนักจนถึงขั้นเสียชีวิต คนที่สูบบุหรี่ เนื้อปอดจะถูกทำลาย ถ้าสูบบุหรี่หนักและสูบมานาน เสี่ยงเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ถุงลมในปอดถูกทำลาย หากติดโควิด-19 จะทำให้เกิดปัญหาในระบบทางเดินหายใจมากขึ้น เพราะฉะนั้นยิ่งเลิกสูบบุหรี่ได้เร็ว จะปลอดภัยต่อสุขภาพ และโอกาสเสี่ยงติดโควิด-19 น้อยลง หรือหากติดโควิด-19 แล้ว โอกาสที่อาการรุนแรงจะน้อยลง รวมถึงการเสียชีวิตน้อยลงตามไปด้วย

“อยากให้ประชาชนมีความตื่นตัว และเห็นว่าการเลิกบุหรี่ทำได้ เป็นไปได้ แต่สิ่งที่จะต้องสู้กันคือเรื่องของความเข้าใจผิดว่า บุหรี่ไฟฟ้าช่วยลดช่วยเลิกบุหรี่ได้ ซึ่งข้อเท็จจริงคือ บุหรี่ทุกชนิดสามารถเลิกได้ หากได้รับคำปรึกษาที่ถูกต้อง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม แต่สำหรับคนที่ติดบุหรี่หนัก หรือเริ่มมีปัญหาสุขภาพ จำเป็นต้องใช้ยาช่วยเลิกบุหรี่” รศ.ดร.จินตนา กล่าว

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org