ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เผยเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด พบเดลตา 71 จังหวัด เพิ่มมา 11 จังหวัด รวมกทม.ที่พบแล้ว 77% เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว! ขณะที่เบตา ส่วนใหญ่พบในภาคใต้ นราธิวาสยังเยอะสุด ส่วนบึงกาฬพบ 4 รายยังหาต้นตอการติดเชื้อ พร้อมย้ำ! ยังไม่พบเพิ่มสองสายพันธุ์ในคนเดียว “อัลฟา+เดลตา” และไม่ใช่สายพันธุ์ไฮบริด

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 19 ก.ค. 2564 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวผ่านระบบออนไลน์ (Facebook : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์) การระบาดของสายพันธุ์โควิด19 ว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ตรวจสายพันธุ์โควิด ซึ่งพบว่า ขณะนี้สายพันธุ์เดลตา(อินเดีย) แซงหน้าสายพันธุ์อังกฤษหรืออัลฟา โดยสิ้นเชิง ส่วนสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) จะพบในเขตสุขภาพที่ 8 ทางภาคใต้ อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมของประเทศที่ตรวจไปกว่า 3 พันตัวอย่าง พบสายพันธุ์เดลตา 63% อัลฟา 34% ที่เหลือเป็นเบตา ส่วนกทม. สายพันธุ์เดลตา ครอบคลุมไปทั่วเกือบ 77% และในภูมิภาคนี้เราพบถึง 47.3% จะเห็นได้ว่าแนวโน้มเพิ่มขึ้นรวดเร็วตามที่คาดไว้ ซึ่งภาพรวมประเทศพบ 63%

“ขณะนี้สายพันธุ์เดลตาพบ 71 จังหวัด เพิ่มมา 11 จังหวัดจากสัปดาห์ที่แล้วบวกกับกทม.ที่มีอยู่แล้ว โดยจังหวัดหลายจังหวัดเดิมเป็นศูนย์ แต่คราวนี้ก็เพิ่มขึ้น ยกตัวอย่าง แม่ฮ่องสอน เดิมไม่มีแต่ล่าสุดพบติดเชื้อเดลตา 3 ราย กาญจนบุรี 1 ราย สมุทรสงคราม 4 ราย ฉะเชิงเทรา 20 ราย ตราด 2 ราย สุรินทร์ 28 ราย ชุมพร 1 ราย นครศรีธรรมราช 2 ราย กระบี่ 2 ราย พังงา 1 ราย และปัตตานี 2 ราย สรุปคือ สายพันธุ์เดลตากระจายไปทั่ว และเป็นคำตอบว่า ทำไมตัวเลขรายวันถึงสูงขึ้นรวดเร็ว เพราะสายพันธุ์นี้ติดกันง่าย แต่อัตราความรุนแรง เสียชีวิตยังไม่มาก ยกเว้นถ้ามากขึ้นจนเราดูแลไม่ได้ก็อาจมีผล” นพ.ศุภกิจ กล่าว

00 เบตา ยังพบมากสุดทางภาคใต้ พร้อมจับตาบึงกาฬ หาต้นตอติดเชื้อ

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า กรณีสายพันธุ์เบตา เดิมทะลุชายแดนเข้ามาทางนราธิวาส วันนี้ยังอยู่บริเวณนั้นเป็นส่วนใหญ่ สัปดาห์ที่ผ่านก็พบที่นราธิวาส 91 ราย จังหวัดใกล้เคียง คือ ปัตตานี ยะลา สงขลา พัทลุง พบเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีอยู่บ้าง ขึ้นไปจนถึงชุมพรพบ 1 ราย ซึ่งเป็นรายใหม่ ส่วนบึงกาฬสัปดาห์ที่แล้วพบ 1 ราย เป็นคนงานกลับมาจากไต้หวัน ซึ่งอยู่ในสเตท ควอรันทีน ตอนนั้นตรวจไม่เจอ พอกลับบ้าน มีอาการป่วย เมื่อส่งตรวจจึงพบเชื้อเบตา คนใกล้ชิดที่มีความเสี่ยงพบอีก 3 ราย คงต้องดูแลต่อไปว่าจะหยุดที่ 4 รายหรือไม่ ส่วนที่พบใน กทม.จากมีญาติมาเยี่ยมจากจ.นราธิวาส เอามาติดพ่อและคนในครอบครัวติดอีก 2 คน สัปดาห์นี้ยังไม่เจอรายใหม่ ถ้าสัปดาห์หน้าใน กทม.ยังเป็นศูนย์รายในกรุงเทพฯ เบตาก็อาจจะจบได้ไม่ระบาดในวงกว้าง ต้องเฝ้าระวังดูต่อไป

เมื่อถามถึงกรณีเคสสายพันธุ์เบตาที่บึงกาฬ มีกลุ่มเสี่ยงสูงเฝ้าระวังจำนวนเท่าไหร่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ขณะนี้เจอ 4 ราย ได้ประสานกับพื้นที่ และจะมีการตรวจเพิ่มเติมอยู่ ส่วนการสอบสวนโรคจะเป็นหน้าที่ของพื้นที่ และจะมีการเก็บตัวอย่างส่งเพิ่มเติม

ถามต่อว่าทราบแล้วหรือไม่ว่าสายพันธุ์เบตาที่บึงกาฬมาจากไหน นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ต้องขอข้อมูลเพิ่มเติม ในเชิงสายพันธุ์เราเรียกว่าสายตระกูลก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับไต้หวัน ตอนแรกคิดว่าพ่อแม่อยู่ไต้หวันสายตระกูลมาที่เรา แต่ตรวจสอบก็ไม่ใช่ เทียบกับภาคใต้ที่เกิดเยอะก็ไม่ใช่ เลยขอหาข้อมูลเพิ่มเติม ถ้ามีความชัดเจน อาจต้องใช้ข้อมูลอื่นประกอบ เช่น เจเนติก ใช้สารพันธุกรรมอย่างเดียวอาจจะไม่สามารถอธิบายทั้งหมดได้ ขอให้รออีกระยะ

00 ยังไม่พบสองสายพันธุ์ในคนเดียว "อัลฟา+เดลตา" เพิ่มจากเดิม 7 ราย

เมื่อถามถึงกรณีการจับตาสายพันธุ์เดลตากลายพันธุ์ หรือสองสายพันธุ์ผสมกัน นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า หากการติดเชื้อมีสูงมาก โอกาสการกลายพันธุ์ก็มีสูงมากเช่นกัน เพราะฉะนั้น หากปล่อยให้มีการติดเชื้อมากเท่าไหร่ โอกาสให้มีการกลายพันธุ์ก็สูงขึ้น อย่างสัปดาห์ที่ผ่านมาเราเจอคนคนเดียวเจอสองสายพันธุ์ ทั้งอัลฟา และเดลตา พบ 7 คน ซึ่งไม่ได้ป่วยหนัก แต่ยังไม่ได้ผสมกันเป็นไฮบริด หรือพันธุ์ใหม่ แต่หากเราปล่อยให้เป็นแบบนี้มากๆ เจอแบบนี้เยอะก็อาจเกิดการเปลี่ยนเป็นพันธุ์ใหม่ได้ แต่ขอย้ำว่า ตอนนี้เรายังไม่เจอแบบไฮบริด แต่หากมีการกลายพันธุ์อีก จะมีความรุนแรงหรือไม่ หรืออัตราการติดเชื้อจะเป็นอย่างไร ก็ต้องดูตำแหน่งการกลายพันธุ์ หากกลายพันธุ์ไม่ได้มีขีดความสามารถในการดื้อวัคซีนก็จะไม่เป็นไร แต่หากเป็นทางองค์การอนามัยโลกก็จะบอกว่า เป็นการกลายพันธุ์น่าห่วง ซึ่งเราก็ติดตามอยู่ โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้มีการร่วมกับเครือข่ายในการติดตามเรื่องนี้ ส่วนกรณีเจอสองสายพันธุ์ในคนเดียวยังไม่พบเพิ่มเติมแต่อย่างใด

(ข่าวเกี่ยวข้อง : ด่วน! แรงงานแคมป์ ในกทม. ติดเชื้อโควิดผสม 2 สายพันธุ์ "เดลตา+อัลฟา" 7 ราย)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เฝ้าระวังสายพันธุ์โควิดตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-16 ก.ค.2564 โดยภาพรวมทั้งประเทศจำนวน 3,340 ตัวอย่าง พบสายพันธุ์เดลตา (B.1.617 : อินเดีย) 62.6% สายพันธุ์อัลฟา (B.1.1.7 : อังกฤษ) 34.1% และสายพันธุ์เบตา (B.1.351 : แอฟริกาใต้) 3.3% โดยกรุงเทพมหานคร ตรวจตัวอย่าง 1,745 ตัวอย่าง พบเดลตา 76.5% อัลฟา 23.5% ขณะที่ภาพรวมในภูมิภาคตรวจ 1,595 ตัวอย่างพบเดลตา 47.3% อัลฟา 45.7% และเบตา 7%