ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เผยผลการศึกษาในสนามจริง ประสิทธิผลวัคซีนซิโนแวค 4 กลุ่มการศึกษาช่วงการระบาดอัลฟา(อังกฤษ) ทั้ง “ภูเก็ต-สมุทรสาคร-เชียงราย- กรมควบคุมโรคดึงฐานข้อมูลประเทศ” พบฉีดครบ 2 เข็มลดป่วยรุนแรง ขณะที่แอสตร้าฯ 1 เข็มเกิน 14 วันที่จ.เชียงรายพบป้องกันติดเชื้อได้ 83.8%

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 19 ก.ค. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ทวีทรัพย์ ศีรประภาศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค แถลงข่าวประเด็นประสิทธิผลของวัคซีนโควิดในการใช้จริงของประเทศไทย ว่า จากการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนโควิดในการใช้จริงของประเทศไทย ข้อมูล ณ วันที่ 19 ก.ค.2564 โดยศึกษา 4 กลุ่มศึกษาหลักด้วยกัน โดย 2 การศึกษาแรกจะเป็นการศึกษาในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง โดยติดตามว่าในบรรดากลุ่มดังกล่าวมีใครติดเชื้อ และมีกี่รายได้รับวัคซีน กี่รายไม่ได้รับวัคซีน คือ กลุ่มจังหวัดภูเก็ต และ สมุทรสาคร ส่วนอีกกลุ่มเป็นการศึกษาในบุคลากรสุขภาพ จากเหตุการณ์การระบาดในจ.เชียงราย และอีกการศึกษาคือ กรมควบคุมโรคได้ดึงฐานข้อมูลจากบุคลากรสาธารณสุขที่มีการติดเชื้อในเดือน พ.ค. และมิ.ย.มาทำการศึกษา

ดังนั้น ข้อมูลประสิทธิผลเกี่ยวกับวัคซีนจึงเป็นข้อมูลจากการใช้จริงในพื้นที่ ทั้งภูเก็ต สมุทรสาคร เชียงราย และพื้นที่ทั้งประเทศที่กรมควบคุมโรคดึงจากฐานข้อมูล โดยพิจารณาทั้งประสิทธิผลการติดเชื้อ ประสิทธิผลการป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง ซึ่งขึ้นอยู่กับข้อมูลที่มีอยู่ว่าเพียงพอหรือไม่ รวมทั้งการศึกษาวัคซีน ว่า ณ ขณะนั้นในแต่ละพื้นที่มีการใช้วัคซีนอะไร ซึ่งช่วงเดือน เม.ย. พ.ค. และมิ.ย. ส่วนใหญ่คนที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์จะเป็นซิโนแวค จะมีแอสตร้าเซนเนก้าบ้างเฉพาะการศึกษาเท่านั้น

00 ประสิทธิผลวัคซีนซิโนแวค จ.ภูเก็ตและสมุทรสาคร 

จากข้อมูลการศึกษาประสิทธิผลในพื้นที่จริงที่จ.ภูเก็ต ช่วงเดือนเม.ย. ที่มีการฉีดวัคซีน ขณะเดียวกันก็มีผู้ติดเชื้อ ได้มีการติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และดูว่าใครได้รับวัคซีนแล้วและติดเชื้อบ้างหรือไม่ติดเชื้อ โดยจำนวนทั้งหมด 1,500 กว่ารายของผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทั้งหมด พบติดเชื้อ 124 ราย ในจำนวนนี้เมื่อมีการเปรียบเทียบประสิทธิผลของวัคซีนจากภูเก็ตอยู่ที่ระดับร้อยละ 90.7

ส่วนสมุทรสาคร การศึกษาคล้ายคลึงกัน โดยผู้สัมผัสเสี่ยงสูงมีทั้งหมด 500 กว่าราย พบติดเชื้อ 116 ราย โดยเปรียบเทียบคนที่ได้รับวัคซีน 2 เข็มในกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงใครติดเชื้อบ้างกี่เปอร์เซ็นต์ และเปรียบเทียบคนที่ไม่ได้รับวัคซีนในกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูง และติดเชื้อกี่เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบพบประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อพอๆกัน คือร้อยละ 90.5 ดังนั้น เมื่อดูข้อมูลในช่วงการศึกษาของสองจังหวัด พบว่าประสิทธิผลวัคซีนซิโนแวค ในช่วงเม.ย. พ.ค. ขณะนั้นเป็นสายพันธุ์อัลฟา ไม่ใช่เดลตา จึงพบว่าประสิทธิผลดีพอสมควรในสนามจริงร้อยละ 90 ผลการศึกษานี้ดีกว่าการศึกษาจริงในประเทศอื่น และดีกว่าตอนเริ่มทำการทดลอง ทั้งบราซิล ตูรกี อยู่ที่ร้อยละ 50-70 ซึ่งตอนนั้นก็คนละสายพันธุ์กับบ้านเรา ดังนั้น การป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์อัลฟา สามารถป้องกันการติดเชื้อได้

00 ประสิทธิผลวัคซีนซิโนแวค เชียงราย และฐานข้อมูลสุขภาพของประเทศ

นอกจากนี้ อีกสองการศึกษาที่จ.เชียงราย ที่พบการระบาดในบุคลากรสุขภาพ มีการติดเชื้อและตรวจบุคลากรที่มีความเสี่ยงไปเกือบ 500 ราย พบติดเชื้อ 40 ราย จึงมาดูว่า ใครติดเชื้อบ้าง แล้วใครติดเชื้อมีอาการปอดอักเสบบ้าง ซึ่งครั้งนั้นเกิดช่วงเดือน มิ.ย. โดยยังเป็นสายพันธุ์อัลฟาอยู่ ทั้งนี้ พบค่าประสิทธิภาพของวัคซีนที่เปรียบเทียบคนได้รับวัคซีน 2 เข็มครบ พบประสิทธิผลอยู่ที่ร้อยละ 88.8 และประสิทธิผลป้องกันปอดอักเสบอยู่ที่ร้อยละ 84.9 แต่จ.เชียงราย ยังมีข้อมูลน่าสนใจตรง บางส่วนได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจำนวน 1 เข็ม ครบ 14 วัน ซึ่งปกติแอสตร้าฯจะฉีด 2 เข็มต้องห่างกันถึงประมาณ 10 สัปดาห์ โดยคนที่ได้รับแอสตร้าฯ 1 เข็ม 50 รายก็พบว่าป้องกันการติดเชื้อได้ โดยประสิทธิภาพ 1 เข็มอยู่ที่ร้อยละ 83.8

ส่วนการศึกษาที่นำฐานข้อมูลของประเทศมาว่า ในบุคลากรสุขภาพแต่ละเดือนมีการติดเชื้อเท่าไหร่ และมาเปรียบเทียบดู ซึ่งกรมควบคุมโรคได้ติดตามฐานข้อมูลการเฝ้าระวังการเจ็บป่วย เปรียบเทียบข้อมูลการฉีดวัคซีนของประเทศ พบว่าในเดือน พ.ค. การระบาดตอนนั้นยังเป็นอัลฟาอยู่ โดยประสิทธิผลการฉีดวัคซีน 2 เข็มอยู่ที่ร้อยละ 71 ส่วนเดือนมิ.ย. เริ่มมีการระบาดของเดลตา ซึ่งภาพรวมของประเทศอยู่ที่ร้อยละ 20-40 โดยพบประสิทธิผลอยู่ที่ร้อยละ 75

สรุปคือ วัคซีนทุกตัวปลอดภัย ส่วนประสิทธิภาพขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ความเสี่ยงมากเสี่ยงน้อย แต่ประสิทธิผลของโคโรนาแวคในการใช้จริงได้ผลดีพอสมควรในช่วงที่มีการระบาดสายพันธุ์อัลฟา และแม้ขณะนี้จะมีการระบาดของเดลตา เราก็ติดตามต่อเนื่อง ไม่ใช่ว่าให้วัคซีนมีประสิทธิผลต่ำแล้วมาเปลี่ยนการใช้วัคซีน แต่เราคาดการณ์ล่วงหน้าและปรับรูปแบบ เพราะผลทางห้องปฏิบัติการดูแล้วว่า หากใช้วัคซีนเชื้อตาย ประสิทธิผลอาจไม่สูงมาก แม้ข้อมูลจากสนามจริงยังไม่บ่งบอก ซึ่งต้องติดตามต่อไป ดังนั้น มาตรการในการฉีดวัคซีนของ สธ. และที่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาล จึงต้องใช้วิธีที่เรามีอยู่ ทั้งโคโรนาแวค และแอสตร้าฯ หรือวัคซีนอื่นๆที่จะเข้ามา เพื่อเพิ่มประสิทธิผลให้มากที่สุด

00 ซิโนแวคยังจำเป็นต้องใช้ ประกอบกับใช้กรณีวัคซีนสูตรผสมเข็ม 1 SV และเข็ม 2 AZ

เมื่อถามถึงสถานการณ์ที่เดลตาระบาด วัคซีนซิโนแวคยังจำเป็นหรือไม่ นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวว่า ข้อมูลที่มีอยู่ขณะนี้ วัคซีนซิโนแวคยังได้ผลอยู่ แต่เพื่อให้มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพสูงขึ้น ในการเพิ่มระดับภูมิคุ้มกัน จึงมาเป็นข้อมูลพิจารณาในการปรับการให้วัคซีนจากเดิมซิโนแวค 2 เข็ม  มาเป็นซิโนแวคเข็มที่ 1 และตามด้วยแอสตร้าฯเข็มที่ 2 ซึ่งจะช่วยเพิ่มภูมิต้านทานสูงขึ้นกว่าเดิม เพื่อความมั่นใจในการป้องกันมากขึ้น  และการที่ยังจำเป็นต้องใช้วัคซีนซิโนแวค เพราะเป็นวัคซีนที่จัดหาได้เร็ว ไม่ต้องรอคิวถึงปีหน้าหรือไตรมาสที่ 4 จึงต้องมีการบริหารวัคซีนที่สามารถจัดหาได้ขณะนี้ คือแอสตร้าฯ และซิโนแวค ดังนั้น ความจำเป็นของซิโนแวคยังจำเป็นในสถานการณ์ที่มีข้อจำกัดในการจัดหาวัคซีน ซึ่งประสิทธิผลยังดีอยู่ มีวัคซีนและฉีดได้เลย แต่อนาคตจะมีการปรับการใช้วัคซีนชนิดอื่นหรือไม่ ขึ้นกับสถานการณ์ สายพันธุ์และแต่ละช่วงเวลาจะจัดหาวัคซีนชนิดใดได้มาเพิ่มขึ้น โดยวัคซีนชนิด mRNA จะเข้ามาเสริมในไตรมาสที่ 4  ช่วงเดือนต.ค.เป็นต้นไป เพราะฉะนั้นในช่วงการระบาด 2-3 เดือนนี้ ต้องใช้วัคซีนที่มีอยู่ให้เป็นประโยน์สูงสุด 

00 แผนกระจายวัคซีนไฟเซอร์ สั่งซื้อ 20 ล้านโดส

     

เมื่อถามถึงแผนกระจายวัคซีนไฟเซอร์ที่มีการสั่งซื้อ 20 ล้านโดส นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวว่า วัคซีนของประเทศไทยอิงตามนโยบาย ที่มีวัตถุประสงค์ในการป้องกันการเสียชีวิตและการติดเชื้อและให้ระบบสาธารณสุขเดินต่อไปได้ เพราฉะนั้น วัคซีนที่เข้ามาแต่ละช่วงเวลา จึงขึ้นกับว่า ระยะการระบาดขณะนั้นอยู่ในสถานะใด เพราะฉะนั้น ถ้าวัคซีนไฟเซอร์เข้าามาเดือนนี้หรือเดือนหน้า นโยบายทั้งหมดเพื่อปกป้องกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มี 7 กลุ่มโรค และหญิงมีครรภ์ให้ครบก่อน รวมถึง บุคลากรสาธารณสุขให้ทำงานได้จึงจะมีวัคซีนอีกสัดส่วนหนึ่งจะเพิ่มให้บุคลากรเพื่อให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนสุดท้ายสำหรับบุคคนกลุ่มอื่นๆหรือประชาชนทั่วไป หรือเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจก็จะตามมา เพราะโควิดแม้ติดง่าย แต่ถ้าเข้าใจโควิดถ่องแท้ คนที่ติดแล้วอาการรุนแรงและเสียชีวิต มักจะเกิดในกลุ่มเสี่ยง โดยผู้สูงอายุติดเชื้อ 10 คน เสียชีวิต 1 คน ขณะที่คนทั่วไปปติดเชื้อ 1,000 คน เสียชีวิต 1 คน 

 

00 เดินหน้าจัดหาวัคซีนชนิดอื่น

 นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวอีกว่า สธ.กำหนดวัคซีนหลัก คือ แอสตร้าฯ ที่เพิ่มเข้ามาคือซิโนแวคเพราะช่วงที่มีการระบาดเดือนก.พ และเจรจาเพิ่มนำวัคซีนไฟเซอร์เข้ามา โดย 3 วัคซีนนี้เป็นวัคซีนที่มีสถานะสั่งจองแล้ว ส่วนที่มีการเจรจาแต่ยังไม่ได้สั่งจอง คือ จอห์นสันแอนด์หจอห์นสัน และสปุตนิก ซึ่งเป็นชนิดไวรัล แว็กเตอร์  โดยในส่วนของวัคซีนจอห์นสันฯยังไม่มีการจัดหา เนื่องจากเป็นปัญหาแหล่งผลิตของบริษัทเอง โดยบริษัทขอเลื่อนทำสัญญาสืบเนื่องจากทางโรงงานที่อเมริกามีปัญหาเรื่องแหล่งผลิต จึงไม่อยากลงนามทำข้อผูกมัด ส่วนสปุตนิกต้องรอให้มีการขั้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ก่อน 

สำหรับการจัดหาสำหรับปีหน้า ซึ่งคาดว่ามีการระบาดของสายพันธุ์ใหม่นั้น ได้มีการศึกษาดูว่ามีวัคซีนในแหล่งผลิตใดที่เป็นการผลิตในรุ่น 2 โดยมีการติดตามและทาบทามในเรื่องความก้าวหน้าอยู่ 3-4 บริษัทชั้นนำ เพื่อสู้กับสายพันธุ์ใหม่ในรุ่น 2 ซึ่งการเตรียมการจัดหามีกระขวบวนการตามขั้นตอน แต่สุดท้ายต้องดูสถานการร์ในพื้นที่จริง ที่จะทำให้สถานการณ์วัคซีนมีการเปลี่ยนแปลงได้