ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมควบคุมโรคเผยแผนจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ กรณีบูสเตอร์โดส ย้ำ! ให้ตามกลุ่มเป้าหมาย “บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า” อันดับแรกก่อนกลุ่มอื่นๆ ส่วนกรณีมีข่าวหลาย รพ.ส่งข้อมูลขอจัดสรรวัคซีน หากไม่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย เมื่อสอบทานแล้วแล้วยังส่งยอดผิด ขอไม่จัดสรรตามนั้น

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 20 ก.ค. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) แถลงกรณีการนำเข้าวัคซีนป้องกันโควิด-19 “ไฟเซอร์” ว่า วันนี้ได้มีการลงนามในสัญญาจัดหาวัคซีน mRNA จำนวน 20 ล้านโดส ระหว่างกรมควบคุมโรค กับบริษัทไฟเซอร์ ประเทศไทย ในสัญญาเป็นการทำงานร่วมกันมา โดยจะเป็นการจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส โดยกำหนดการตามแผนที่วางไว้ คือ ส่งมอบในไตรมาสที่ 4 และยังมีข่าวดีว่า ทางสหรัฐอเมริกาจะส่งมอบวัคซีนไฟเซอร์ให้ประเทศไทยอีก 1.5 ล้านโดส เป็นการบริจาคจากรัฐบาลอเมริกามาไทยปลายเดือนก.ค.นี้ จากนั้นเมื่อเซนสัญญาแล้ว สำหรับในปี 2565 จะมีการเจรจาหาวัคซีนเพิ่มต่อไป

“ดังนั้น ขณะนี้เรามีการลงนามในสัญญาซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าไปแล้ว 61 ล้านโดส และจัดหาวัคซีนซิโนแวค 19 ล้านโดส รวมทั้งจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ ยอดรวมที่มีการจองซื้อ มีสัญญาจะส่งมอบรวมประมาณ 100 ล้านโดสภายในปี 2564 อย่างไรก็ตาม ความต้องการฉีดวัคซีนของพี่น้องประชาชนมีมาก ทางกระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการจัดหามาเพิ่มต่อไป” นพ.โอภาส กล่าว

 

00 คร.ย้ำ รพ.ไหนขอยอดจัดส่งวัคซีนไม่ตรงตามกลุ่มเป้าหมาย ขอไม่จัดสรรให้

เมื่อถามถึงกรณีมีการกระจายตัวเลขรพ.เอกชน และสถานเสริมความงามขอการจัดสรรวัคซีนจะได้รับการพิจารณาหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า วัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับบริจาคจากสหรัฐอเมริกา 1.5 ล้านโดส จะมาถึงไทยปลายเดือนนี้ โดยจะเริ่มต้นฉีดได้ช่วงเดือนส.ค. ในการจัดสรรฉีดวัคซีนกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขและความเห็นชอบจาก ศบค. กำหนดดังนี้ 1.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโควิด หรือผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกันที่ฉีดไปแล้ว 2 เข็ม จะมีการกระตุ้นเข็ม 3 หรือ บูสเตอร์โดส 2.กลุ่มผู้สูงอายุ หรือกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ระบาด 3. ชาวต่างชาติที่เป็นกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ระบาด เป็นต้น

“ในขั้นตอนการจัดการทางกระทรวงสาธารณสุขได้สอบถามข้อมูล ให้แต่ละจังหวัดแจ้งยอดมากว่า ในจังหวัดท่านมีกลุ่มบุคลการทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ที่ทำงานใกล้ชิดและเสี่ยงสูงให้มารับวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการสอบถามข้อมูล ดังนั้น ที่มีข่าวว่า มีหลายรพ.ส่งข้อมูลไม่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย เราจะมีการสอบทานเข้าไปเพื่อให้ได้กลุ่มเป้าหมายที่ตรง จึงขอเรียนว่า เราจะฉีดให้กับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าเป็นอันดับแรกก่อน ดังนั้น บางหน่วยงานที่ไม่เข้าใจ และส่งยอดผิด จะไม่จัดสรรตามนั้นจะเป็นหน้าที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร จะตรวจสอบข้อมูลและแจ้งมายังส่วนกลางต่อไป” นพ.โอภาส กล่าว

 

00 แอสตร้าฯส่งมอบวัคซีนเดือนละ 5-6 ล้านโดส ไทยหาวัคซีนชนิดอื่นเสริม!

นพ.โอภาส กล่าวถึงการจัดหาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส ว่า การบอกจำนวนการส่งมอบในสัญญาไม่ได้ระบุชัดเจนว่า เดือนนี้ส่งเท่าไหร่ แต่จะเป็นการเจรจาเดือนต่อเดือน เนื่องจากเป็นวัคซีนใหม่ และความต้องการมีเยอะ แต่เบื้องต้นทางบริษัทแอสตร้าฯ แจ้งผ่านหลายช่องทางว่าจะสามารถจัดหาวัคซีนให้กับประเทศไทยประมาณเดือนละ 5-6 ล้านโดส ส่วนจะได้มากกว่าหรือน้อยกว่าขึ้นอยู่กับกำลังผลิต แต่เบื้องต้นจะมีวัคซีนส่งให้เรา 5-6 ล้านโดส ขณะที่ประเทศไทยเรากำหนดแผนฉีดวัคซีนเดือนต่อไปจะต้องฉีดให้ได้อย่างน้อยอีก 10 ล้านโดส จึงจำเป็นต้องมีการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม หลังจากมีการเจรจากับไฟเซอร์รวมถึงมีการนำเข้าวัคซีนจากแหล่งต่างๆ เชื่อว่าปริมาณการฉีดประมาณ 10 ล้านโดสต่อเดือนพอจะให้เราดำเนินการในมาตรการรป้องกันโรคโควิดได้

นพ.โอภาส กล่าวย้ำถึงข้อสงสัยกรณีรายละเอียดในสัญญาการจองซื้อวัคซีนแอสตร้าฯ ว่า กรณีการลงนามจองซื้อวัคซีนแอสตร้าฯ ที่มีลงนามเมื่อวันที่ 27 พ.ย. 63 เป็นการทำสัญญาภาครัฐและเอกชน ในสัญญาระบุว่า ผู้ทำสัญญาจะต้องไม่เปิดเผยข้อมูลในสัญญาออกไป ทั้งนี้ หากจะเปิดเผย ต้องยินยอมพร้อมกันทั้งสามฝ่าย คือ บริษัท กรมควบคุมโรค และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ หากทำผิดก็จะอาจยกเลิกสัญญา หรือไม่ส่งวัคซีนได้ จึงต้องบอกว่า การรักษาความลับในสัญญาเป็นสิ่งสำคัญ เพราะบริษัทผู้ผลิตวัคซีน เป็นภาคเอกชน เขาคำนึงความลับทางการค้าของเขา เพราะจะมีผลต่อการทำสัญญากับที่อื่นๆเป็นต้น

(ข่าวเกี่ยวข้อง : เปิดไทม์ไลน์จัดหาวัคซีนแอสตร้าฯ ประเทศไทย พร้อมแจงทุกรายละเอียดหนังสือสัญญา)

นอกจากนี้ นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับประสิทธิผลของวัคซีนที่ใช้จริงนั้น ที่ผ่านมาได้มีการศึกษาในกลุ่มภูเก็ต สมุทรสาคร เชียงราย และกรมควบคุมโรคได้เก็บข้อมูลจากฐานข้อมูลสุขภาพของประเทศ เกี่ยวกับการใช้วัคซีนซิโนแวค ในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ซึ่งพบว่า ขณะนั้นการใช้วัคซีนซิโนแวคเป็นช่วงที่โควิดสายพันธุ์อัลฟา(อังกฤษ) ระบาด ส่วนหนึ่งที่ทำให้พบคือ ประสิทธิภาพป้องกันอัลฟาได้ อย่างไรก็ตาม ต่อมาพบว่า ประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อเริ่มลดลง เนื่องจากเชื้อมีการกลายพันธุ์เรียกว่า สายพันธุ์เดลตา(อินเดีย) จึงเป็นที่มาของการปรับสูตรฉีดวัคซีนโควิด ชณะนี้มีการศึกษาหลายหน่วยงาน ทั้งจุฬาฯ ไบโอเทค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า หากเรานำซิโนแวคเข็มแรก และจากนั้น 3-4 สัปดาห์ใช้แอสตร้าฯเข็มสอง จะทำให้ประสิทธิภาพป้องกันโรค เมื่อเทียบกับการฉีดวัคซีนแบบเดิม คือ ซิโนแวค 2 เข็มสูงขึ้นหลายเท่า จึงเป็นที่มาของการปรับสูตร อีกทั้ง ยังทำให้การฉีดวัคซีนครอบคลุมรวดเร็ว จากเดิมแอสตร้าฯ 2 เข็มต้องห่างกัน 12 สัปดาห์ แต่หากปรับสูตรใช้เวลาประมาณ 4 สัปดาห์ ก็จะรองรับสถานการณ์การระบาดได้ดียิ่งขึ้น

(อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : สธ.เปิดผลศึกษาสนามจริง! ใช้วัคซีน “ซิโนแวค” ภูเก็ต สมุทรสาคร เชียงราย ช่วง “อัลฟา” ระบาด)