ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์ปรับแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา ป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลกรณีโรคโควิด-19 พร้อมเปิดแนวทางการให้ยาฟาวิพิราเวียร์ เร็วที่สุดในกลุ่มผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง ขณะที่ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการสบายดี ให้พิจารณายาฟ้าทะลายโจร ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์

กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศ แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ฉบับปรับปรุง วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

โดยประกอบด้วยเกณฑ์การวินิจฉัย การดูแลรักษา และการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล

สำหรับเกณฑ์วินิจฉัยอาการ

1. กรณีอาการผู้ป่วยหากมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ มีประวัติไข้ หรือวัดอุณหภูมิได้ตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบาก ตาแดง ผื่น ถ่ายเหลว และมีประวัติเสี่ยง ในช่วง 14 วัน ก่อนวันเริ่มป่วยอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้

-เดินทางไปยัง มาจาก หรืออยุ่อาศัยในประเทศที่มีรายงานผู้ป่วยในช่วง 1 เดือน ย้อนหลังนับจากวันที่ออกจากพื้นที่นั้น

-สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันโควิด-19

-ไปในสถานที่ชุมนุมชน หรือสถานที่มีการรวมกลุ่มคน เช่น สถานบันเทิง ตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า สถานพยาบาล หรือขนส่งสาธารณะที่มีรายงานผู้ป่วยยืนยันโควิด ในช่วง 1 เดือน ย้อนหลังนับจากวันที่ออกจากพื้นที่นั้น

-ปฏิบัติงานในสถานกักกันโรค

2.ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบที่แพทย์ผู้ตรวจรักษาสงสัยว่าเป็นโควิด-19

3.เป็นบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งในโรงพยาบาล คลินิก รพ.สต. สถานที่ตรวจห้องปฏิบัติการ ร้านขายยา ทีมสอบสวนโรค หรือปฏิบัติงานในสถานกักกันโรคที่มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ มีไอ น้ำมูก เจ็บคอ ไม่กลิ่น ลิ้นไม่รับรส หายใจเร้ว หายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบาก ตาแดง ผื่น ถ่ายเหลว และ/หรือมีประวัติไข้หรือวัดอุณหภูมิได้ตั้งแต่ 37.5องศาขึ้น ที่แพทย์ผู้ตรวจรักษาสงสัยว่าเป็นโควิด-19

4.พบผู้มีอาการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจเป็นกลุ่มก้อนตั้งแต่ 5 รายขึ้นไป ในสาถนที่เดียวกันในช่วงสัปดาห์เดียวกัน โดยมีความเชื่อมโยงกันทางระบาดวิทยา

5.ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ทั้งที่มีอาการและไม่มีอาการ (ตามนิยามกรมควบคุมโรค)

จากนั้นเมื่อเข้าเกณฑ์ให้ดำเนินการตามแนวทางเวชปฏิบัติที่กำหนด

อย่างไรก็ตาม สำหรับการรักษาโควิด-19 แบ่งกลุ่มตามอาการได้เป็น 4 กรณี ดังนี้

1.ผู้ติดเชื้อโควิดไม่มีอาการ หรือสบายดี แนะนำให้แยกกักตัวที่บ้าน หรือในสถานที่รัฐจัดให้อย่างน้อย 14 วัน นับจากวันที่ตรวจพบเชื้อ ให้ดูแลรักษาตามดุลยพินิจของแพทย์ ไม่ให้ยาต้านไวรัส เนื่องจากส่วนมากหายได้เอง และอาจได้รับผลข้างเคียงจากยา พิจารณาให้ยาฟ้าทะลายโจรในกลุ่มที่ไม่มีอาการขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์

2.ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/โรคร่วมสำคัญ ภาพถ่ายรังสีปอดปกติ

- พิจารณาให้ยาฟาวิพิราเวียร์ เริ่มให้ยาเร็วที่สุด

-หากตรวจพบเชื้อมาเกิน 7 วัน และผู้ป่วยไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย อาจไม่จำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัส เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้น่าจะหายได้เอง โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน

-แนะนำให้แยกกักตัวที่บ้าน หรือในสถานที่รัฐจัดให้ หากเข้าเกณฑ์ที่จะรับการรักษาแบบ Home isolation หรือ community isolation ก็สามารถให้การรักษาในลักษณะดังกล่าวได้ โดยให้ปฏิบัติตามหลักการแยกโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ เป็นเวลาอย่างน้อย(รวมทุกระบบรักษา) 14 วัน นับจากวันที่เริ่มมีอาการหรือจนกว่าอาการจะดีขึ้น อย่างน้อย 24-48 ชั่วโมง

3.ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือมีโรคร่วมสำคัญ หรือผู้ป่วยที่มีปอดบวมเล็กน้อย ซึ่งไม่เข้าเกณฑ์ข้อ 4 ปัจจัยเสี่ยงข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้ ได้แก่ อายุมากกว่า 60 ปี โรคปอดอุดกั้นเรื้อรรัง รวมโรคปอดเรื้อรังอื่นๆ โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมโรคหัวใจแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ ภาวะอ้วน ตับแข็ง ฯลฯ แนะนำให้รักษาในรพ. ให้อยู่ในระบบรักษาและแยกโรคอย่างน้อย 14 วัน แนะนำให้ยาฟาวิพิราเวียร์ โดยเริ่มให้เร็วที่สุด ให้ยานาน 5 วัน หรือมากกว่า ขึ้นอับอาการทางคลินิกตามความเหมาะสมหรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น

4.ผู้ป่วยยืนยันที่มีปอดบวม หรือมีภาวะลดลงของออกซิเจน ฯลฯ แนะนำให้ยาฟาวิพิราเวียร์เป็นเวลา 5-10 วันขึ้นกับอาการทางคลินิก

ทั้งนี้ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม ตามลิงค์ด้านล่าง

แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)  สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ฉบับปรับปรุง วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2564