ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักรังสี วอนผู้ใหญ่กระทรวงสาธารณสุข เห็นใจให้ความสำคัญเทียบเท่าวิชาชีพอื่น เหตุทำงานช่วยโควิดไม่แตกต่าง ต้องเอกซเรย์ผู้ป่วยทุกกลุ่มอาการ ทำงานต่อเนื่องเฉลี่ย 1 คนเอกซเรย์ผู้ป่วย 30-40 คน แต่กลับไม่ถูกให้ความสำคัญ เครื่องมืออุปกรณ์ยังให้สวมหน้ากากอนามัยทั่วไป อัตราตำแหน่งความก้าวหน้าวิชาชีพยังไม่ได้ ขอสธ.เร่งรัดค่าตอบแทนเสี่ยงภัย

เมื่อวันที่ 23 ก.ค.2564 น.ส.กมลวรรณ แสงสุวรรณ นักรังสีการแพทย์ชำนาญการ ในฐานะคณะกรรมการและเลขานุการฝ่ายกิจกรรมและวิชาการ ชมรมรังสีการแพทย์ชุมชนแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า นักรังสี เป็นอีกวิชาชีพที่ปฏิบัติงานช่วงสถานการณ์โควิด-19 เป็นผู้ที่ต้องใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด เนื่องจากผู้ป่วยต้องมีการเอกซเรย์ปอด ซึ่งเราต้องเอกซเรย์ทั้งในรถโมบาย และในตึกโควิด โรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม ผู้ป่วยหลายคนอาการหนัก ไม่สามารถลุกเดินไปเอกซเรย์ นักรังสีต้องเข้าไปเอกซเรย์ถึงเตียง เรียกว่า เราต้องสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด ทั้งกลุ่มอาการสีเขียว สีเหลือง และสีแดง และต้องมีการเอกซเรย์ตามกำหนดต่อเนื่อง เช่น วันที่ 1 วันที่ 3 หรือวันที่ 5 แล้วแต่เคสคนไข้

น.ส.กมลวรรณ กล่าวว่า โควิดระบาดหนักตอนนี้ ทำให้นักรังสีทำงานหนักไม่ต่างจากวิชาชีพอื่นๆ อย่างที่ รพ.บุษราคัมของกระทรวงฯ พวกเรานักรังสีเป็นหนึ่งแรงหนึ่งกำลังที่สำคัญตรงนั้นวันนึงเราเอกซเรย์คนไข้ ประมาณ700 คน ใช้ชีวิตอยู่บนรถเอกซเรย์เคลื่อนที่ ทั้งวันที่เราปฏิบัติงานเราไม่ได้พัก พลัดกันกินข้าว ไม่ใช่แค่ทำงานในรถ ต้องลงเข้าไปเอกซเรย์คนไข้ใน ward ที่ไม่สามารถเดินได้วัน วันหนึง่เราเอกซเรย์ทีเป็น 100 คน แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่เคยมีใครเห็นความสำคัญของนักรังสีเช่นเดิม จริงๆ ทั้งหมดไม่ได้ว่าจะปฏิเสธงาน เราพร้อมทำงาน เพราะเราเห็นใจผู้ป่วย วันนี้เอกซเรย์ปอด เหมือนอาการไม่มีอะไร แต่พรุ่งนี้อาการทรุด ตอนนี้สถานการณ์แย่จริงๆ

“ที่เราอยากขอร้องผู้ใหญ่ อยากให้เห็นถึงพวกเราบ้าง มีชื่อพวกเราอยู่ในนโยบายต่างๆ เพราะตอนนี้ปรากฏว่าวิชาชีพเรา ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญ เช่น เราเป็นวิชาชีพที่มีความเสี่ยง แต่ในเรื่องอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยของพวกเรา กลับไม่มีการกำหนดว่า นักรังสีต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยชนิด N95 ด้วยเหตุผลว่า เราเอกซเรย์ไม่นาน ใส่หน้ากากอนามัยปกติได้ ทั้งที่ความเป็นจริง สถานการณ์ระบาดหนักมาก เราไม่ได้เอกซเรย์แค่ 1-2 คน แต่หลายสิบคน และอยู่เป็นเวลานาน ซึ่งตรงนี้หากรพ.ที่ให้ความสำคัญก็จะมีจัดให้ แต่อยากให้เป็นระดับนโยบายมากกว่า” น.ส.กมลวรรณ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้ สธ.เตรียมให้ค่าตอบแทนนอกเวลาราชการเป็น 2 เท่าสำหรับ รพ.บุษราคัม น.ส. กมลวรรณ กล่าวว่า เป็นเรื่องดี เป็นขวัญกำลังใจให้กับคนที่ทำงานช่วยที่รพ.บุษราคัม เพราะทุกคนตั้งใจไปช่วยคนไข้หมด แต่ละรายน่าเห็นใจ แต่สิ่งหนึ่งอยากฝากถึงผู้ใหญ่ที่กระทรวงสาธารณสุข ช่วยเร่งรัดเรื่องค่าตอบแทนเสี่ยงภัย หรือค่าตอบแทนพิเศษที่จะได้คนละ 1,500 บาท และ 1,000 บาท แบ่งตามกลุ่มตามเกณฑ์ อย่างวิชาชีพแพทย์ พยายาลจะได้ 1,500 บาท แต่ทางรังสีกำหนดให้เรา 1,000 บาท เพราะเห็นว่าเราเป็นฝ่ายสนับสนุน ปัญหาคือ ตอนนี้ยังไม่ได้รับ จึงขอให้มีการเร่งรัดตรงนี้

“ปัจจุบันเรามีนักรังสีที่ทำงานในกระทรวงสาธารณสุขเพียง 1,794 คน เป็นเจ้าพนักงานรังสี 193 คน ซึ่งสัดส่วนไม่เพียงพอต่อปริมาณผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น ที่เรามีอยู่ เราขอความเป็นธรรม ขอให้ผู้ใหญ่เห็นว่าพวกเรามีอยู่ และให้สิทธิสวัสดิการพวกเราเหมือนวิชาชีพอื่นๆ อย่างการบรรจุอัตรากำลัง อย่างน้อยเราขอคืนตำแหน่งพนักงานราชการ ที่เราเคยมีแต่ถูกดึงกลับไป เราขอคืนเพื่อให้กับนักรังสีที่จะจบใหม่จากสถาบันบรมราชชนกได้มีตำแหน่ง เป็นขวัญกำลังใจครั้งนี้” น.ส.กมลวรรณ กล่าว