ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ตอบคำถามกรณีเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ ไทยอยู่ในส่วน Self-financing participant ไม่ใช่ได้วัคซีนฟรี! และถ้าเข้าร่วมตั้งแต่แรกจะเพิ่งได้รับวัคซีนจากโคแวกซ์ ข้อมูล ณ วันที่ 22 ก.ค. ส่งวัคซีน 136 ล้านโดสใน 136 ป. เฉลี่ยประเทศละ 1 ล้านโดส ซึ่งไม่ทันระบาด ส่วนเข้าร่วมล่าสุดเป็นการเตรียมพร้อมปี 65 เมื่อวิเคราะห์สถานการณ์ ผู้ผลิตจะเริ่มทยอยส่งวัคซีนให้ COVAX ทำให้เราจะได้ประโยชน์ เพิ่มช่องทางการมาของวัคซีนปีหน้า

เมื่อวันที่ 23 ก.ค. นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวตอนหนึ่งในการแถลงข่าวออนไลน์ โครงการความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปและองค์การอนามัยโลกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ว่าด้วยการรับมือและความพร้อมในการจัดการโรคระบาดในประเทศไทย โดยตอบคำถามประเด็นการเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ (COVAX) ว่า

ขออธิบายเรื่องโคแวกซ์ เนื่องจากอาจมีความเข้าใจและอาจนำไปปนกันระหว่าง โคแวกซ์ AMC (Advance Market Commitment: AMC) และโคแวกซ์ SFP (Self-financing participant ) ซึ่งประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศในส่วนของโคแวกซ์ AMC 92 ประเทศ เนื่องจากเราเป็น Upper Middle Income เวลาที่มักมีคำเปรียบเทียบว่า อาเซียนเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์แล้วได้วัคซีน 

จริงๆ ต้องแยกประเทศอาเซียนเป็น 2 กลุ่ม อย่าง โคแวกซ์ AMC เป็นประเทศที่ทำสัญญาจองล่วงหน้า ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว เมียนมา ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ส่วนโคแวกซ์ SFP ประเทศที่สั่งซื้อวัคซีนด้วยเงินทุนของประเทศตนเอง ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน รวมทั้งไทย ดังนั้น หากเราไม่มีความเข้าใจส่วนนี้ก็จะนำไปผสมกัน และคิดว่าเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์แล้วได้วัคซีนฟรี ซึ่งไม่ใช่ เพราะต้องจ่ายเงิน

ทั้งนี้ เมื่อดูโครงการโคแวกซ์ ข้อมูล ณ วันที่ 22 ก.ค. 2564 ได้ส่งมอบวัคซีนไปแล้วจำนวน 136 ล้านโดส ใน 136 ประเทศ ซึ่งเมื่อหารแล้วแต่ละประเทศได้รับวัคซีนประเทศละ 1 ล้านโดส ดังนั้น เหตุผลเดิมที่ไทยไม่เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ตั้งแต่ต้น เพราะต้องจ่ายเงินเอง และต้องรอรับวัคซีนที่ไม่รู้ได้เมื่อไหร่ และเหตุการณ์เชิงประจักษ์ ณ เวลานี้ มีการส่งมอบวัคซีน 136 ล้านโดสใน 136 ประเทศ เหตุผลจึงเหมือนเดิม ไม่ได้ว่าเราตัดสินใจ ไม่ได้จองวัคซีนโคแวกซ์แล้วผิดพลาด

ส่วนเหตุผลที่ว่าทำไมเราจะพิจารณาเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ เพราะสถานการณ์เปลี่ยนไป การที่ผู้ผลิตได้ส่งมอบวัคซีนให้แก่ประเทศรายได้สูง ที่จองไว้จนเกินพอ และมีการบริจาคออกมานั้น นี่คือสถานการณ์จริง ว่าเริ่มมีซับพลายด์ที่เกินพอจากประเทศที่จองเกินล่วงหน้า แต่ซับพลายด์จริงที่จะเกิดขึ้นใหม่ยังขาดอยู่ เพียงแต่เราวิเคราะห์สถานการณ์ปี 2565 ดูทิศทางแล้วว่า บริษัทผู้ผลิตวัคซีน หลังจากได้ซับพลายด์ให้กับประเทศรายได้สูงจนเกินพอ ต่อไปก็จะกลับมาดูในส่วน Global Solidarity จะเกิดขึ้นในปีหน้า ไม่ใช่ปีนี้ จึงต้องพูดกันตรงๆ จะได้เข้าใจ ไม่งั้นจะคิดว่าเรากลับไปกลับมา ซึ่งคนละเรื่อง

ดังนั้น ปีหน้า เมื่อตรวจสอบดูแนวโน้มผู้ผลิตหลายราย ที่เป็นรายใหญ่ๆจะเริ่มส่งมอบให้กับโครงการโคแวกซ์ เรียกว่าน่าจะส่งมอบเป็นหลัก จากการตรวจสอบผู้ผลิตรายใหญ่ 2-3 เจ้า จึงเป็นที่มาของการร่วมโครงการโคแวกซ์ เราไม่ได้มุ่งหวังปีนี้ เพราะเขาส่งไม่ทันอยู่แล้ว แต่เรามุ่งปีหน้า เพื่อเพิ่มช่องทางการนำเข้ามาของวัคซีนปีหน้า ดังนั้น การเข้าร่วมโคแวกซ์ ณ เวลานี้ จึงเป็นการบริหารความเสี่ยงสำหรับอนาคตในปีหน้า หากผู้ผลิตวัคซีนมุ่งเน้นส่งวัคซีนให้โคแวกซ์ ประเทศไทยก็จะมีช่องทางเข้าถึงวัคซีนในปี 2565 เป็นการบริหารตามสถานการณ์เปลี่ยนแปลง จึงขอฝากทำความเข้าใจเรื่องนี้ ต้องเข้าใจก่อนจะวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งจริงๆสถาบันวัคซีนแห่งชาติได้ทำการวิเคราะห์และสื่อสารไปตั้งแต่ต้นปี 2564 ยังเป็นเหมือนเดิม และสถานการณ์ก็เป็นเหมือนที่บอก เพราะประเทศที่เข้าร่วมยังได้วัคซีนล่าช้า 136 ล้านโดส ใน 136 ประเทศ สามารถเข้าไปดูได้ในกาวี นี่คือเหตุการณ์จริง