ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.กองระบาดวิทยา เผยทุกจังหวัดพบผู้ติดเชื้อหมด! ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงวันนี้แตกต่างจาก 3-4 สัปดาห์ก่อนที่พบติดจากคนในครอบครัว เพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงาน แต่ตอนนี้ในพื้นที่ระบาดติดเชื้อมาก! เมื่อสอบสวนหลายกรณี ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า ติดเชื้อจากใคร ยิ่ง กทม.ปริมณฑล ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ เบื้องต้นพบว่าผู้เสียชีวิต 65 คนอาศัยในพื้นที่ระบาดสอบสวนหาต้นตอติดเชื้อไม่ได้ ย้ำ! ขอให้ลูกหลานพาผู้สูงวัยฉีดวัคซีน หลังพบตัวเลขยังน้อย!!

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 25 ก.ค.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคโควิด19 ว่าสำหรับสถานการณ์การระบาดในวันนี้ยอด 15,335 ราย มาจากต่างประเทศ 19 ราย อยู่ในกทม.และปริมณฑล 6,069 ราย ชายแดนใต้ 805 ราย จังหวัดอื่นๆ 7,801 ราย วันนี้ต้องแสดงความเสียใจ เนื่องจากมีตัวเลขผู้เสียชีวิตค่อนข้างมากมีรายงานเสียชีวิตวันนี้ 129 ราย รวมสะสม 3,965 ราย เกินครึ่งอยู่ในกทม.และปริมณฑล ซึ่งสถานการณ์เท่าที่ดูตัวเลขผู้เสียชีวิตยังคงสูงเกินร้อย และตัวเลขติดเชื้อรายใหม่ก็ยังสูงมาก

ภาพรวมมีการกระจายของผู้ติดเชื้อในส่วนต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นต่อเนื่องใน 77 จังหวัด โดยพบว่า ต่างจังหวัดพบการระบาดหลายส่วน ทั้งภาคอีสาน ภาคกลาง ตะวันออก ส่วนภาคเหนือ และภาคใต้ อยู่บางจังหวัดที่เพิ่มขึ้น แต่บางจังหวัดคงตัว แต่ในภาคอีสาน ส่วนใหญ่เพิ่มในอีสานกลาง อีสานใต้ที่รับผู้เดินทางจากกรุงเทพฯและปริมณฑล กลับไปรักษาในภูมิลำเนา และพบคลัสเตอร์ พบผู้ป่วยตามมาในครอบครัว รวมถึงสถานประกอบการ และตลาดในบางจังหวัด โดยเฉพาะภาคกลางและภาคตะวันออก

สถานการณ์ภาพรวมทุกจังหวัดมีรายงานติดเชื้อทุกจังหวัด โดยเฉพาะภาคอีสานตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออกก็มีรายงานติดเชื้อค่อนข้างมาก โดยองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้มีการแพร่โรค มี 3-4 ประเด็น คือ 1.คนที่ไปจับจ่ายใช้สอย และไปอยู่ใกล้กับผู้ติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว 2.โรงงาน หรือสถานประกอบการที่เริ่มพบผู้ติดเชื้อ และสั่งปิดโรงงาน แต่คนงานกระจายออกไปโดยไม่ทราบว่าติดเชื้อ ทำให้มีการแพร่เชื้อ 3.ในส่วนแคมป์คนงาน หรือในชุมชน เช่น 4 จังหวัดภาคใต้ มีการระบาดในชุมชน เป็นต้น

สำหรับผู้เสียชีวิต 129 ราย ในกทม. 66 ราย ในส่วนปริมณฑล มี สมุทรปราการ 7 ราย ปทุมธานี 6 ราย นอกนั้นมี ปัตตานี 5 ราย นราธิวาส 3 รา ยะลา 1 ราย สุราษฎร์ธานี 1 ราย ภูเก็ต 1 ราย ตาก 6 ราย กำแพงเพชร 2 ราย เชียงใหม่ เชียงราย อุตรดิตถ์อย่างละ 1 ราย สุพรรณบุรี 5 ราย สิงห์บุรี 2 ราย นครนายก 2 ราย พระนครศรีอยุธยา 2 ราย ประจวบคีรีขันธ์ 1 ราย ชลลุรี ตราด ระยอง สระแก้ว 1 ราย อุบลราชธานี 3 ราย กาฬสินธุ์ 2 ราย นครราชสีมา มหาสารคาม ร้อยเอ็ด หนองคาย ยโสธร อำนาจเจริญ และอุดรธานีอย่างละ 1 ราย ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ยังพบผู้มีโรคประจำตัวหลักๆ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต โรคอ้วน เป็นสาเหตุที่ทำให้ความรุนแรงโรคเพิ่มได้

“วันนี้น่าเสียใจตรงเราพบผู้เสียชีวิตเป็นหญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 20 สัปดาห์เสียชีวิตอีก 1 ราย ปัจจัยเสี่ยงสำคัญวันนี้แตกต่างจากช่วง 3-4 สัปดาห์ก่อน ที่เป็นคนในครอบครัว เพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงาน แต่ตอนนี้ในพื้นที่ระบาดมีการระบาดค่อนข้างมาก เมื่อสอบสวนหลายกรณี ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า ติดเชื้อจากใคร ดังนั้น การอาศัยหรืออยู่ในพื้นที่ระบาดหนักมากๆ เช่น กทม.ปริมณฑล เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ เพราะเราไม่ทราบว่า คนใกล้ชิดเราติดเชื้อหรือยัง โดยเราพบว่าผู้เสียชีวิต 65 คน อาศัยอยู่พื้นที่ระบาดและไม่สามารถค้นได้ว่าติดเชื้อจากใคร” นพ.จักรรัฐ กล่าว

ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตเป็นชายมากกว่าหญิง คนไทยส่วนใหญ่ และจากการเก็บข้อมูล แต่อาจไม่ครบ 100% พบว่ามี 79 รายไม่เคยได้รับวัคซีน และที่เหลืออีกกว่า 40 ราย ไม่สามารถระบุได้ ต้องติดตามข้อมูลอีก อย่างไรก็ตาม เมื่อคิดในกลุ่ม 60 ปีคิดเป็น 70% ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมาก

กรณีจำนวนการได้รับวัคซีนโควิด19 ของประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-24 ก.ค.2564 ในกลุ่มต่างๆ เราจะพบว่าในผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ตั้งเป้าหมาย 12.5 ล้านคนต้องฉีดให้ได้ภายในปีนี้ ปรากฏว่าเราฉีดได้แค่ 2.5 ล้านคนในเข็มที่ 1 คิดเป็น 20% ส่วนเข็มที่ 2 ฉีดได้ 1.3% หรือ 1.6 แสนคน จึงต้องขอให้ลูกหลานพาท่านไปฉีดวัคซีน รวมถึงกลุ่ม 7 โรคเรื้อรังก็ยังฉีดไม่มากในส่วนเข็มที่ 1 เช่นเดียวกัน

“สรุปคือ สถานการณ์วันนี้ยังติดเชื้อมาก โดยเฉพาะพื้นที่ระบาดหนัก และมีการกระจายของผู้ติดเชื้อไปยังจังหวัดอื่นๆ ทั้งโครงการกลับไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนา หรือกลับไปโดยไม่ทราบ ดังนั้น พื้นที่ระบาดเป็นปัจจัยสำคัญมาก เพราะเราไม่ทราบว่าใครติดเชื้อไปบ้างแล้ว เพราะ 80% ไม่มีอาการ หากไม่ได้ตรวจ หรือตรวจแล้ววันนี้เป็นลบ พรุ่งนี้อาจติดก็ได้จากการสัมผัสคนอื่น จึงไม่ทราบอยู่ดี ดังนั้น ต้องเข้มมาตรการในการป้องกันโรคที่ยังต้องทำต่อเนื่อง ทำเสมือนคนรอบข้างติดเชื้อแล้ว เพื่อป้องกันเชื้อมาสู่ตัวเอง รวมทั้งเป็นการป้องกันหากตัวเองมีเชื้อ ดังนั้น คนที่เรารู้จัก หรือไม่รู้จักมีความเสี่ยงหมด ทั้งการออกไปซื้อของ การเดินทาง มีปัจจัยเสี่ยงหมด” นพ.จักรรัฐ กล่าว

นพ.จักรรัฐ กล่าวฝากถึงโรงงานและสถานประกอบการ ว่า ขอความร่วมมือโรงงาน สถานประกอบการ รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้ว่าฯ แรงงานจังหวัด ต้องเร่งสื่อสาร โดยหากโรงงานไหนยังไม่พบผู้ติดเชื้อให้เร่งศึกษาการควบคุมโรคแบบบับเบิ้ล แอนด์ซิล เตรียมความพร้อมทั้งหมด และหากโรงงานที่พบผู้ติดเชื้อแล้ว เราเน้นไม่ปิดโรงงาน และป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ชุมชน โดยต้องแยกกลุ่มเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง เช่น มีโรคประจำตัว หรือหญิงตั้งครรภ์ หรือกลุ่มมีความเสี่ยงอื่นๆ โดยต้องแยกกลุ่มออกจากกัน จัดหาเตียงสนาม/ห้องแยกกัก เป็นต้น การไม่ปิดโรงงาน เพราะมีประสบการณ์ คือ เมื่อปิดโรงงาน หลังจากนั้นการแพร่ระบาดในชุมชนจะตามมาทันที แต่การไม่ปิดโรงงาน สิ่งสำคัญต้องแยกผู้ติดเชื้อให้ได้ จัดระบบควบคุมกำกับ อย่างการเดินทาง หากไปเช้าเย็นกลับต้องมีระบบมั่นใจว่า จะไม่สัมผัสผู้อื่น ที่สำคัญขอให้พักในโรงงานดีที่สุด และต้องไม่กินข้าวร่วมกันในโรงงาน เพราะตรงนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงมาก