ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองปลัดสธ. เผยขณะนี้ 77 จังหวัดเร่งสำรวจรายชื่อบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าสมัครใจรับวัคซีนโควิด “ไฟเซอร์” ทั้งรัฐและเอกชน สรุปข้อมูลนำส่งกรมควบคุมโรค พร้อมประชุมการกระจายวัคซีน 29 ก.ค.นี้ ยืนยันไร้วีไอพี ไม่มีการแย่งวัคซีนจากบุคลากร กลุ่มคนจำเป็นเ กลุ่มเสี่ยง แน่นอน

เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2564 นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะทำงานด้านบริหารจัดการการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กรณีวัคซีนโควิดไฟเซอร์ กล่าวถึงการเก็บและขนส่งวัคซีนไฟเซอร์ในประเทศไทย 1.5 ล้านโดส ว่า จากการประชุมเมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา รายงานเรื่องการเก็บวัคซีนที่ทางบริษัทแจ้งมา คือการขนส่งวัคซีนในตู้คอนเทรนเนอร์มานั้นจะอยู่ในอุณหภูมิ - 60 องศาฯ ถึง – 90 องศาฯ จะเก็บได้ค่อนข้างนาน เมื่อมาถึงประเทศไทยผ่านการตรวจสอบต่างๆ แล้วจะขนส่งกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ โดยควบคุมอุณหภูมิที่ -25 ถึง – 15 นั้น เก็บได้ 2 สัปดาห์ และเมื่อถึงพื้นที่แล้วสามารถเก็บในตู้เย็นปกติที่ความเย็น 2-8 องศาฯ สามารถเก็บวัคซีนไฟเซอร์ได้ 30 วัน และเมื่อดูดออกมาใส่เข็มฉีดยาแล้วจะเก็บได้ 6 ชั่วโมง

ดังนั้นเราจึงไม่ได้มีการปรับเรื่องระบบการทำความเย็นใหม่แต่อย่างใด สามารถใช้ตู้เย็นปกติในการเก็บได้ รวมถึงกรณีวัคซีนไฟเซอร์ที่สั่งซื้ออีก 20 ล้านโดส ก็ใช้ระบบเดียวกัน ไม่ต้องปรับปรุงระบบใหม่ ไม่ต้องกังวลเรื่องคุณภาพของวัคซีน คุณภาพยังคงที่

เมื่อถามว่า ขณะนี้มีหลายกลุ่มกังวลว่าจะมีการนำวัคซีนไฟเซอร์ไปให้กับกลุ่มวีไอพี แย่งโควตาของคนที่จำเป็นต้องฉีดจริงๆ เช่นบุคลากรการแพทย์ ที่จะใช้เป็นวัคซีนบูสเตอร์โดส นพ.สุระ กล่าวว่า ยืนยันว่าบุคลากรสาธารณสุขด่านหน้าต้องได้รับวัคซีนบูสเตอร์โดสแน่นอนทั้งไฟเซอร์ และแอสตร้าเซนเนก้า มีการสำรวจตัวเลขกันอยู่

นพ.สุระ กล่าวต่อว่า ขณะนี้เราประสานให้ทางจังหวัด 77 จังหวัดเร่งสำรวจรายชื่อบุคลากรแพทย์ พยาบาลที่ทำงานด่านหน้ากลุ่มที่จำเป็นที่สุด ที่สมัครใจรับวัคซีนไฟเซอร์ ทั้งในโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน สรุปข้อมูลนำส่งมาให้กรมควบคุมโรค โดยจะมีการประชุมร่วมกันในเรื่องของจำนวนแต่ละจังหวัดในวันที่ 29 ก.ค. นี้ เพื่อเตรียมการกระจายวัคซีนไปตามจำนวน ขอยืนยันว่าบุคลากรแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าจะได้รับทุกคน เราได้กันวัคซีนให้ในกลุ่มนี้อย่างเพียงพอ ย้ำว่า คนที่จำเป็นต้องได้วัคซีนตามหลักวิชาการ ก็ต้องได้ก่อน แล้วเหลือจากกลุ่มนี้ เราจะพิจารณากระจายให้ 13 จังหวัดที่เป็นพื้นที่ระบาด ในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์ ผู้มีภาวะอ้วน และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ในรหัส 602 และ 608 ซึ่งส่วนนี้ทางจังหวัดก็ต้องสำรวจแล้วส่งรายชื่อมาให้กรมควบคุมอีกครั้ง