ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับ กพย. - ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา จัดเวทีเสวนาการแลกเปลี่ยนข้อมูลประเด็น ‘รู้เท่าทันโฆษณาอาหารยารักษาโควิดได้หรือไม่?’ เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 64 ที่ผ่านมา โดยมี นพ.ประพจน์ เภตรากาศ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ นายชาติวุฒิ วังวล ผอ. สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เป็นผู้ดำเนินรายการ

คุณมลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้นำเสนอผลการเก็บข้อมูลก่อนเกิดโรคโควิด-19 ตั้งแต่ปี 62 – 64 ที่ผ่าน ซึ่งทางมูลนิธิได้ทำงานเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ออนไลน์ร่วมกันทั้งหมด 6 ภาค เนื่องจากพบว่า หลังจากการระบาดของโควิด-19 ประชาชนหันไปซื้อขายสินค้าผ่านทางออนไลน์มากขึ้น จึงทำให้เกิดกลไกการเฝ้าระวัง ในการทดลองเบื้องต้นใน 34 จังหวัด จะมีระบบการทำงาน และเครื่องมือการส่งต่อ การจัดการสถานการณ์ร่วมกับหน่วยงาน และแจ้งเตือนภัยให้กับผู้บริโภคทั่วประเทศ

โดยที่ผ่านมาได้เริ่มจากการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ที่ อย. ยกเลิกเลขสารบบแล้วและห้ามขาย แต่ยังมีขายในตลาดออนไลน์จำนวนมาก ตรวจพบถึง จำนวน 40 รายการ จาก 100 รายการ สารุปเป็นอัตราส่วนได้ดังนี้ ผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก 72.5% ผลิตภัณฑ์ยารักษาโรค 15.0% ผลิตภัณฑ์ผิวขาว 7.5% และ ผลิตภัณฑ์เสริมสมรรถภาพทางเพศ 5.0% และยังพบว่า บางเจ้าใช้วิธีเปลี่ยนชื่อสินค้า ปรับเปลี่ยนเนื้อหาบนฉลากแต่ลักษณะบรรจุภัณฑ์เดิม เพิ่มเลขสารบบใหม่ แต่เป็นผลิตภัณฑ์ตัวเดียวกับที่ได้ยกเลิกเลขสารบบแล้วแต่นำมาขายต่อ ซึ่งก็ได้หารือร่วมกับ อย. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้แก้ไข

ผลของการเฝ้าระวังเรื่องร้องเรียนโฆษณาเกินจริงในมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ เครือข่าย 7 ภาค ตั้งแต่ ปี 63-64 จำนวน 826 ราย ทำให้มูลนิธิฯ ได้สร้างและพัฒนาวัตกรรมใหม่ขึ้นมาคือ การใช้ระบบ AI ตรวจจับข้อความหรือความคิดเห็นของผู้บริโภคบนสื่อออนไลน์ต่าง ๆ  เพื่อที่จะได้นำข้อมูลที่ตรวจสอบข้อเท็จแล้วเข้าเผยแพร่และเสริมความรู้ให้กับผู้บริโภคได้รวดเร็วมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงทดลองการใช้งานจริง

คุณสมศักดิ์ ชมภูบุตร ประธานศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจ.ลำปาง ตัวแทนเครือข่ายเฝ้าระวังฯ ทางภาคเหนือ กล่าวว่า เริ่มจากการเฝ้าระวังการขายสินค้าในอินตราแกรมทั้งหมด 22 ผลิตภัณฑ์ ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ผิวขาว ที่ไม่แสดงเลขที่จดทะเบียนของ อย. หรือโฆษณาเกินจริง ในส่วนการเฝ้าระวังทางสื่อโทรทัศน์ร่วมกับ กสทช. พบกว่า 30 รายการผลิตภัณฑ์รักษาโรคที่โอ้อวดคุณสมบัติเกินจริง อ้างว่ามีผู้เชี่ยวชาญรับรอง สัมภาษณ์บุคคลเสริมความน่าเชื่อถือ และที่สำคัญ มีการจัดโปรโมชั่นที่ชักชวนจูงใจ แม้ว่าจะมีการติดตามและแก้ไข แต่ก็ยังเจอปัญหาเดิมวนซ้ำเรื่อย ๆ ซึ่งอุปสรรคที่ทำให้การเฝ้าระวังทำได้ยาก คือ การจัดการที่ยังไม่เป็นระบบที่ชัดเจน การเชื่อมต่อกับหน่วยงานเกี่ยวข้องที่มีความล้าช้าเรื่องการส่งต่อข้อมูล และการติดตามต้นตอในฐานผู้ร้องเรียนก็ทำได้ยากมาก เพราะ ต้นตอมีการเปลี่ยนแปลงตัวตนไปเรื่อย ๆ

จึงได้ส่งข้อเสนอต่อเครือข่าย ควรมีการตรวจสอบเพจขายของออนไลน์อย่างเข็มงวด กรณีที่เจอผลิตภัณฑ์เดิมโพสต์ขายหรือเพจนั้น ๆ ไม่มีการเคลื่อนไหว อยากให้มีการลบออกจากสารบบให้หมด เนื่องพบว่าหลังเฝ้าระวังมาในระยะเวลา 1 ปี ยังคงพบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอยู่บนสังคมออนไลน์ อยากให้มีการพัฒนาระบบเข้ามาช่วยตรงนี้ และอยากให้มีตีกลับของข้อมูลที่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือร้องเรียนแล้ว กลับเข้ามาในหน่วยงานในพื้นที่ ให้ทราบถึงกระแสการตอบรับ เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขหรือเผยแพร่ต่อไป

คุณวรสุดา ยูงทอง ผอ.กองส่งเสริมงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น กล่าวว่า ทางกองฯ จะส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินในระดับภูมิภาคร่วมกับเครือข่าย มีบทบาทหลัก คือ จะเป็นผู้ดำเนินการวินิฉัย ตรวจสอบข้อร้องเรียนเพิ่มเติม ทำหลักฐานยืนยัน ที่มีการโฆษณาเกินจริงในโทรทัศน์หรือสถานีวิทยุ เพื่อจัดการปัญหาโดยการใช้กฎหมายต่าง ๆ ส่งต่อไปให้หน่วยงานในเครือข่ายได้ออกกฎหมายบังคับใช้ ซึ่งทางกองฯ ได้ทำงานเชื่อมต่อเรื่องร้องเรียนในแต่ละเครือข่าย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหา เช่น กสทช. อย. เป็นต้น

คุณธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย สรุปใจความได้ว่า ทางสมาคมเป็นศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและให้ข้อมมูลแก่กลุ่มผู้ป่วยโรคไตหรือประชาชนทั่วไปที่ให้ความสนใจในโรคเรื้อรังต่าง ๆ  ที่ผ่านมาเจอการโฆษณาเกินจริงไม่ใช่แค่ทางสื่อออนไลน์เท่านั้น ยังมีกลุ่มที่เป็นตัวบุคคลที่มีความต้องการขายผลิตภัณฑ์ด้วย โดยใช้วิธีการโฆษณาชวนเชื่อ ชักจูงความสนใจชักจูง ทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อได้ซื้อสินค้าที่ถูกหลอกขาย บางรายได้ซื้อผลิตภัณฑ์ที่สรรพคุณจริง ๆ ไม่ตรงกับความต้องการหรือไม่เหมาะกับโรคที่เป็นอยู่ ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบกับสุขภาพตามมา เพราะคนไทยมักมีความเชื่อว่าสมุนไพรไทยยอมมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย กินไว้ก่อน กันไว้ดีกว่าแก้ จึงเลือกมองข้ามข้อควรระวังการใช้งาน 

ภญ. อรัญญา เทพพิทักษ์ ผอ.ศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียน และปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (อย.) ให้ข้อมูลจากสถิติเรื่องร้องเรียน ในปี 2563 ที่ผ่านมา ทาง อย.ได้ดำเนินคดีโฆษณาเกินจริงไปแล้วจำนวน 1388 รายการ คิดเป็น 54% เมื่อเทียบกับคดีทั้งหมดของ อย. สถิติผู้กระทำผิดที่เก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 63 ถึง กุมภาพันธุ์ปี 64 จากจำนวน 1,010 คน พบว่าเป็นคนกรุงเทพฯ 351 คน (38%) คนต่างจังหวัด 576 คน (62%) และเรื่องที่ร้องเรียนจะเป็นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับอาหาร เครื่องสำอาง ยารักษาโรค ตามลำดับ พอมีเกิดโรคโควิด-19 ระบาดก็มี หน้ากากอนามัย เครื่องมือการแพทย์ต่าง ๆ ที่พบว่ามีลักษณะการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย 

ปัญหาหลักที่พบ คือ การตลาดออนไลน์ในปัจจุบัน ที่มีระบบ AI ตรวจจับคำพูด ข้อความของผู้บริโภค มันจะทำให้เข้าถึงสินค้านั้น ๆ ได้ง่ายจากการจ่ายเงินซื้อโฆษณายิงตรงกลุ่มเป้าหมายของพ่อค้าแม่ค้า โดยเฉพาะสื่อ Facebook ใช้กลยุทธ์โฆษณาซ้ำๆ ให้เห็นผ่านตาบ่อย ๆ จนทำให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่มีการระมัดระวัง

ด้วยกระบวนการโฆษณาที่เกิดขึ้นได้ง่าย แต่การจัดการทางกฎหมายใช้ระยะเวลานาน จึงทำให้ต้องมีการออกแบบวิธีการในการจัดการให้เร็วขึ้น คือ การเข้าไปแจ้งเรื่องร้องเรียน การกีดกั้นการมองเห็น หรือ รีพอร์ตโฆษณานั้นๆ แต่ อย. ไม่ได้มีอำนาจจัดการได้ทั้งหมด อย่างกรณีการตรวจจับต้องส่งต่อให้ ตำรวจเพื่อให้ดำเนินการต่อ การส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ และที่สำคัญได้สร้างจริยธรรมร่วมกับผู้ประกอบการในการผลิตและจำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัย

ฉะนั้นปัจจุบัน อย. จึงได้มีการร่วมมือกับ Facebooking ดำเนินการตรวจจับสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย หรือผิดมาตรฐานชุมชน เมื่อรีพอร์ตทางทีมงานและระบบของ Facebook จะปิดกั้นให้ภายใน 48 ชม. อย่างไรก็ตามก็ต้องขอความร่วมมือจากผู้บริโภค คือ การไม่แชร์ ไม่ติดตาม ไม่กดไลค์ ที่ควรทำคือกดรีพอร์ด 

ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการ เฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา กล่าวว่า อยากเน้นย้ำ เรื่องการสร้างข่าวเฟคนิวส์ ซึ่งพบว่าใน 9 เดือนที่ผ่านมา คนไทยแชร์ข่าวปลอมถึง 20 ล้านคน และเป็นที่น่าตกใจเพราะกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมมากว่า 90% อยู่ในช่วงอายุ 18-34 ปี และพบว่า 70% ข้อมูลปลอมที่แชร์เป็นเรื่องเกี่ยวกับ สุขภาพ ข่าวที่มีเคยตรวจสอบว่าเป็นเท็จในอดีต แต่ในปัจจุบันข้อเท็จจริงที่เคยตีพิมพ์ได้มีความหมายตรงข้าม เพราะโดนตัดสินจากข้อมูลที่มีไม่มากพอ บางข่าวได้มีการพิสูจน์ข้อมูลเพิ่มเติมตามมาภายหลัง และที่สำคัญคือ ขาดแหล่งข้อมูลสนับสนุนโดยรัฐที่เป็นรูปธรรม ส่วนการเฝ้าระวังควรจะต้องทำร่วมกันของน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพร้อม ๆ กัน