ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

สถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19 การรักษาฉุกเฉินไม่ทั่วถึงเนื่องจากมีเคสที่พุ่งสูงขึ้น บางประเทศจึงใช้วิธีให้ผู้ติดเชื้อกักตัวเองที่บ้าน (Home Isolation) และรักษาตัวเอง (Self-medication) แต่เรื่องนี้มีการถกเถียงกันมาก บางประเทศเชื่อว่าจะช่วยแบ่งเบาภาระการรักษาฉุกเฉินได้ บางคนชี้ว่าการรักษาด้วยตัวเองเป็นการทำให้ผู้ป่วยมีอำนาจในการตัดสินใจตัวเองมากขึ้น แต่ก็มีแพทย์ที่เตือนเรื่องนี้อย่างจริงจัง

ในประเด็นเรื่องให้ผู้ติดเชื้อกักตัวเองที่บ้านมีการตั้งข้อสังเกตมาตั้งแต่ปีที่แล้วว่าหลายประเทศในเอเชียปฏิเสธไม่ยอมใช้มาตรการ Home Isolation ตรงกันข้ามกับประเทศตะวันตกส่วนใหญ่ ที่ขอให้ผู้ที่ไม่จำเป็นต้องได้รับการการดูแลจากโรงพยาบาล ให้กลับไปกักตัวและรักษาตัวเองที่ในบ้าน (1)

สื่อตะวันตกเช่น WSJ รายงานงานว่าเมื่อปีที่แล้วบางประเทศ/เขตปกครองในเอเชีย เช่น เวียดนามและฮ่องกง ไม่เพียงแค่กักกันผู้ป่วยในสถานที่กักกัน (เช่นตามโรงพยาบาล) แต่ยังรวมถึงผู้ติดต่อใกล้ชิดของผู้ป่วย วิธีการนี้แตกต่างอย่างมากจากประเทศตะวันตกที่ซึ่งผู้ที่ต้องการการรักษาทางการแพทย์จะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ในขณะที่ผู้ป่วยที่ไม่รุนแรงส่วนใหญ่จะถูกขอให้แยกตัวออกจากกัน

ในเวลานั้นผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขจำนวนมากในยุโรปและสหรัฐอเมริกาไม่พอใจวิธีการส่งตัวผู้ติดเชื้อบางส่วนกลับไปรักษาตัวที่บ้าน แต่ก็มีผู้โต้แย้งว่าการนำผู้ป่วยไปกักตัวถือเป็นการจำกัดเสรีภาพของพลเมืองและทำให้ผู้ถูกกักตัวไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับคนที่พวกเขารัก ดังนั้นในประเทศตะวันตกจึงมีการยกประเด็นเรื่องสิทธิพลเมืองขึ้นมาต่อต้านการกักตัวที่โรงพพยาบาลหรือที่กักตัวของรัฐ การทำ Home Isolation จึงแพร่หลายมากกว่า อีกส่วนหนึ่งก็คือ ประเทศตะวันตกในเวลานั้นมีการติดเชื้่อค่อนข้างมาก เตียงฉุกเฉินในโรงพยาบาลต่างๆ ไม่เพียงพอ จึงต้องแบ่งผู้ติดเชื้อที่อาการไม่หนักนักไปกลับไปทำ Home Isolation ด้วยตัวเอง

ตัวอย่างที่น่าสนใจคือสหราชอาณาจักรที่ใช้มาตรการนี้ตั้งแต่เดือนก.พ. ปี 2563 มีการเผยแพร่แนวทางการปฏิบัติตนสำหรับการทำ Home Isolation ในเว็บไซต์ของรัฐบาล (2) และเว็บไซต์ของสำนักงานสาธารณสุขแห่งชาติ หรือ NHS (3) ซึ่งแนวทางปฏิบัติเหมือนกันและไม่มีอะไรซับซ้อนไปกว่าการแนะนำว่าควรจะปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อต้องกักตัวที่บ้าน เช่น การระบุว่า "สำหรับคนส่วนใหญ่ โควิด-19 จะมีอาการป่วยเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม หากคุณมีอาการใดๆ ข้างต้น (ไอต่อเนื่อง, อุณหภูมิสูง, การสูญเสียหรือการเปลี่ยนแปลงของการรับรสชาติหรือกลิ่น) แม้ว่าอาการของคุณจะไม่รุนแรง ให้อยู่บ้านและนัดตรวจ" (2) ซึ่งวิธีการนี้ก็คือการบริการจัดการการนัดตรวจไม่ให้งานไปกองสุมกับที่ศูนย์ตรวจการติดเชื้อนั่นเอง

แต่เป้าหมายหลักของการทำ Home Isolation ของสหราชอาณาจักรก็คือการสกัดกั้นการระบาดไม่ให้ลุกลามไป ข้อแนะนำระบุว่า "ทุกคนที่มีอาการ โควิด-19 หรือผลการทดสอบเป็นบวก ควรอยู่บ้านและกักตัวเองทันที เนื่องจากคุณสามารถแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้ แม้ว่าคุณจะไม่มีอาการก็ตาม" (2) และการกักตัวจะสิ้นสุดได้เมื่อผู้ป่วยมีอาการดีแล้วและทุกคนในบ้านไม่มีอาการก็สามารถยุติการกักตัวได้ ซึ่งจะตามมาด้วยการทดสอบการติดเชื้ออีกครั้ง

สำหรับผู้ที่กักตัวจะมีบริการของอาสาสมัคร NHS Volunteer Responders ที่จะช่วยไปรับสินค้าที่ผู้กักตนสั่ง ไปรับยารักษาหรือยาที่ได้รับใบสั่งจากแพทย์ และหากเป็นผู้มีรายได้น้อยและถูกขอให้แยกตัวเองตามโครงการตรวจเชื้อและแกะรอยผู้ติดเชื้อ (NHS Test and Trace) บุคคลนั้นก็อาจได้รับเงิน 500 ปอนด์เป็นเงินสนับสนุนการใช้จ่าย (3)

สำหรับยารักษาสำหรับการรักษาตนเอง หรือ Self-medication ในสหราชอาณาจักร เว็บไซต์ patient.info ซึ่งเป็นเว็บไซต์ในสหราชอาณาจักรที่ข้อมูลทางคลินิกซึ่งเขียนและตรวจสอบโดยเครือข่ายแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพที่กว้างขวางแนะนำว่า คนส่วนใหญ่หรือประมาณ 80% มีการติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือไม่แสดงอาการ ซึ่งสามารถรักษาได้ที่บ้าน ในกรณีนี้ควรกักตัวเองเป็นเวลาอย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์จนกว่าจะหายดี และแนะนำว่าให้ใช้ยาแก้ปวดทั่วไป เช่น พาราเซตามอลและ NSAIDs (ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์) เช่น ไอบูโพรเฟน ซึ่งเป็นยาสำหรับการติดเชื้อไวรัสส่วนใหญ่ รวมทั้งไข้หวัดใหญ่และไข้หวัด (4)

patient.info แนะนำว่า ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาพาราเซตามอลหรือไอบูโพรเฟนเมื่อรักษาตนเองสำหรับอาการของโรคโควิด-19 เช่น มีไข้และปวดศีรษะ "และควรปฏิบัติตามคำแนะนำของ NHS หากมีข้อสงสัยหรืออาการแย่ลง" (4) และแนะว่ายาและการรักษาบางอย่างที่ อาจใช้รักษาโรคหวัดและไข้หวัดใหญ่ก็จะช่วยบรรเทาอาการของโคโรนาไวรัสได้เช่นกัน ยาแก้ไอหรือยาระงับอาการไอสามารถช่วยลดอาการไอได้ ยาอมแก้เจ็บคอ เช่น น้ำผึ้งและมะนาว อาจช่วยให้อาการเจ็บคอดีขึ้นได้

แต่ patient.info เตือนว่า "หากคุณมียาปฏิชีวนะอยู่ในบ้าน อย่านำไปรักษาโคโรนาไวรัส เนื่องจากมันเป็นไวรัส ยาปฏิชีวนะจึงไม่ช่วยให้โคโรนาไวรัสดีขึ้น คุณไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่ได้กำหนดไว้สำหรับอาการบางอย่างโดยเฉพาะ"

หากอาการป่วยแย่ลงหรืออาการไม่ดีขึ้นหลังจาก 7 วัน ผู้กักตัวควรไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด หากไม่ใช่เรื่องฉุกเฉินให้ติดต่อ NHS ก่อน และหากออกจากบ้านไม่ควรไปพบแพทย์ประจำตัว หรือ GP (ซึ่งสหราชอาณาจักรใช้ระบบแพทย์ประจำตัวซึ่งบุคคลที่จะไปรักษาต้องจดทะเบียนประจำตัวรักษากับ GP นั้นๆ) หรือไม่ควรไปพบเภสัชกร และควรยกเลิกหมายนัดกับแพทย์อื่นๆ ทั้งหมดหากทำ Home Isolation

แนวทางของสหราชอาณาจักรมีความครอบคลุมอย่างมาก แต่ก็มีความน่าสงสัยถึงผลลัพธ์ เพราะสหราชอาณาจักรเป็นหนึ่งในประเทศที่มียอดผู้เสียชีวิจจากโรคควิด-19 มากที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป คือ 129,000 แสนราย ติดเชื้อ 5.67 ล้านราย (ตัวเลขถึงวันที่ 24 ก.ค. 2564) อย่างไรก็ตาม หลังจากเดือน เม.ย. เป็นต้นมายอดเสียชีวิตรายวันลดลงอย่างฮวบฮาบเหลือในอัตราเลขสองหลัก ซึ่งเป็นผลมาจากการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง ดังนั้น รัฐมนตรีสาธารณสุขของสหราชอาณาจักรจึงประกาศเมื่อช่วงต้นเดือน ก.ค. ว่าจะยุติมาตรการ Home Isolation สำหรับผู้ที่ติดต่อกับผู้ติดเชื้อแต่รับได้รับวัคซีนครบถ้วนแล้วโดยเริ่ใในวันที่ 6 ส.ค. กระนั้นก็ตาม มีเสียงเตือนว่าการคลายมาตรการ Home Isolation อาจทำให้สหราชอาณาจักรมีผู้ติดเชื้อสูงถึง 100,000 คนต่อวัน (5)

เป็นที่น่าสังเกตว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตในสหราชอาณาจักรลดลงอยู่ในหลักเลขสองหลักตั้งแต่เดือน เม.ย. แต่การติดเชื้อพุ่งขึ้นมาจากเลขสามหลักในเดือน เม.ย. มาเป็นเลขสี่หลักในเดือนพ.ค. และพุ่งขึ้นมาเป็นเลขห้าหลักตั้งแต่ มิ.ย. จนถึง ก.ค. โดยอัตราเฉลี่ย 7 วัน จนถึงวันที่ 24 ก.ค. คือ 40,417 ราย

ประเทศที่เห็นได้ชัดว่าการทำ Home Isolation ประสบปัญหามากมายแต่ก็มีความจำเป็นต้องทำเพราะระบบสาธารณสุขแบกรับไม่ไหว คืออินเดีย รัฐบาลอินเดียได้จัดทำแนวทางการทำ Home Isolation แบบใหม่และเผยแพร่ตามสื่อแหล่งตามๆ ในเดือน เม.ย. ซึ่งเป็นช่วงที่อินเดียเริ่มจะเกิดวิกฤตการที่รุนแรงมาก แนวปฏิบัตินี้ทำการแยกผู้ป่วยที่ไม่รุนแรงและไม่แสดงอาการไว้ที่บ้าน และแนวทางเหล่านี้ใช้แทนแนวทางที่ออกเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2563

การแก้ไขแนวทางปฏิบัตินี้เกิดขึ้นเมื่ออินเดียมีผู้ป่วย เกือบ 4 แสนรายและผู้เสียชีวิตมากกว่า 3,600 ณ ช่วงหนึ่งของปลายเดือน เม.ย. ณ เวลานั้นเตียงที่โรงพยาบาลไม่พอรองรับผู้ป่วยแล้ว

แนวทางนี้ระบุว่าผู้ที่ทำ Home Isolation คือกรณีที่ผู้ป่วยไม่มีอาการคือผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันจากห้องปฏิบัติการแต่ไม่พบอาการใดๆ และมีความอิ่มตัวของออกซิเจนในอากาศในห้องปกติมากกว่าร้อยละ 94 กรณีที่ไม่รุนแรงที่ได้รับการวินิจฉัยทางคลินิกคือผู้ที่มีอาการทางเดินหายใจส่วนบนและ/หรือมีไข้โดยไม่หายใจถี่และมีความอิ่มตัวของออกซิเจนในอากาศในห้องมากกว่าร้อยละ 94 (6)

ถึงแม้จะมีมาตรการแบบนี้ก็ยังมีรายงานว่าบางพื้นที่ เช่น ที่เมืองเบงกาลูรูมีผู้เสียชีวิตจากการทำ Home Isolation ถึง 910 ราย นับตั้งแต่เดือน มี.ค. - มิ.ย. สาเหตุที่มีผู้คนเสียชีวิตมากถึงขนาดนี้ก็เพราะช่วงเวลานั้นเตียงในโรงพยาบลไม่เพียงพอ ส่วนผู้ที่ทำ Home Isolation ก็ขาดการตรวจสอบตนเองผ่านครื่องวัดออกซิเจนในเลือด ซึ่งช่วยตรวจจับระดับความอิ่มตัวของออกซิเจนต่ำ และผู้ติดเชื้อหลายคนถูกกักตัวอยู่บ้านโดยไม่ได้พบแพทย์ (7)

ในบางรัฐของอินเดีย เช่น รัฐมหาราษฏระมีขีดจำกัดในการใช้วิธี Home Isolation โดยในเดือน พ.ค. รัฐบาลของรัฐได้สั่งห้ามการแยกตัวอยู่บ้านใน 18 เขตที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งหมด ทั้งแบบแสดงอาการและไม่แสดงอาการในเขตนี้จะต้องย้ายไปที่ศูนย์ดูแลผู้ป่วยโควิด (CCC) สาเหตุที่ต้องเลิกทำ Home Isolation ก็เพราะมีปัญหาเรื่องการติดตามอาการผู้ป่วยกักกันที่บ้าน ผู้ป่วยที่กักตัวอยู่บ้านไม่ได้ให้การรักษาที่เหมาะสม และในพื้นที่เหล่านั้นพบผู้ติดเชื้อสูงกว่าค่าเฉลี่ยของรัฐ (8)

 

อ้างอิง

1. Niharika Mandhana, Margherita Stancati, Dasl Yoon. (May 10, 2020). "Should Mild Coronavirus Cases Isolate at Home? Many Asian Countries Say No". WSJ.

2. "Guidance: Stay at home: guidance for households with possible or confirmed coronavirus (COVID-19) infection". (Updated 19 July 2021). gov.uk

3. "Self-isolation and treating symptoms of coronavirus (COVID-19)". (Retrived July 25, 2021). NHS.

4. Milly Evans, Dr Sarah Jarvis MBE (Reviewer). (April 9, 2021). "COVID-19: how to treat coronavirus at home". Patient.

5. Tim Ross, Kitty Donaldson. (July 6, 2021). "Self-Isolation Rules Ease as U.K. Faces 100,000 Cases a Day". Bloomberg News.

6. "Govt issues new guidelines for home isolation of mild, asymptomatic COVID-19 cases". (Apr 29, 2021). BusinessToday.In

7. Sunitha Rao R. (Jun 19, 2021). "Second wave: 910 died in home isolation in Bengaluru in 107 days". The Time of India.

8. Naresh Kamath. (May 26, 2021). "Maharashtra Covid tally drops; home isolation banned in 18 districts". The Hindustan Times.

ภาพ © Raimond Spekking / CC BY-SA 4.0 (via Wikimedia Commons)