ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ แจ้งแนวทางฉีดวัคซีนโควิด-19 กลุ่มเสี่ยงเพิ่มเติม! ส่งถึงผู้ว่าราชการทุกจังหวัด ย้ำชัด! พื้นที่แดงเข้มกลุ่มสูงอายุ – 7 โรคเรื้อรัง-หญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ต้องรับวัคซีนแอสตร้าฯ 2 เข็มห่างกัน 12 สัปดาห์ ส่วนกลุ่มเป้าหมายอื่นอาจรับแอสตร้าฯ 2 เข็ม หรือสลับชนิดขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณวัคซีน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้ลงนามในหนังสือคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เรื่อง แจ้งแนวทางการฉีดวัคซีนโควิด19ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเพิ่มเติม โดยส่งถึง ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด มีสาระสำคัญคือ ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ในปัจจุบันที่ยังคงระบาดต่อเนื่อง ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยมีโอกาสสัมผัสเชื้อไวรัสโควิด19 เพิ่มสูงขึ้น ตามจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่เพิ่มมากขึ้น

ผู้ป่วยส่วนหนึ่งต้องสูญเสียชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ที่เมื่อป่วยด้วยโรคโควิด19 จะมีความรุนแรงของโรคและมีโอกาสเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤตเพิ่มขึ้น มีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าคนปกติ เพื่อบริบาลระบบสาธารณสุขของประเทศไทย และเพิ่มประสิทธิภาพการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีนโควิด 19 ทุกชนิดที่มีให้บริการในประเทศไทยขณะนี้

ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2564 มีมติให้ฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้นให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า เป็นเข็มที่ 3 และการให้วัคซีนโควิด 19 แบบสลับชนิด ประกอบกับในการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2564 มีมติเห็นชอบให้กลุ่มหญิงตั้งครรภ์เป็นกลุ่มเสี่ยงเพิ่มเติมที่ควรได้รับวัคซีนโควิด 19 และจากการประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคโควิด19 เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2564 และข้อสั่งการวันที่ 18 ก.ค. 2564 ให้จัดระบบการฉีดวัคซีนสลับชนิดในกลุ่มประชากรกลุ่มเสี่ยงทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

ได้แก่ ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป โดยฉีดวัคซีนซิโนแวคเป็นเข็มที่ 1 และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เป็นเข็มที่ 2 กรณีจังหวัด ที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดในระดับควบคุมสูงสุดและเข้มงวดให้พิจารณาฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าครบทั้ง 2 เข็ม

กรมควบคุมโรค ขอสรุปสาระสำคัญจากมติการประชุมและข้อสั่งการที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด19 แก่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ดังนี้

1.วัคซีนที่จัดสรรในช่วงเดือนก.ค.-ส.ค. 2564 ขอให้เร่งรัดในกลุ่มเป้าหมายทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ แบ่งเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย ประเภทที่ 1 กลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยงป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ได้แก่ ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค รวมถึง หญิงตั้งคหรรภ์ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ประเภทที่ 2 บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโควิด19 โดยได้รับวัคซีนซิโนแวคไปแล้ว 2 เข็ม อย่างน้อย 4 สัปดาห์ขึ้นไป และต้องการฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ประเภทที่ 3 กลุ่มเป้าหมายที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคเข็มที่ 1 และครบกำหนดนัดรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2

2.การจัดบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 สำหรับกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ให้ฉีดวัคซีนเมื่ออายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ณ คลนิกรับฝกาครรภ์ของสถานพยาบาล หรือจุดให้บริการวัคซีนปกติ(หากมีความจำเป็น) ซึ่งสามารถรับวัคซีนโควิด 19 ทุกชนิดที่มีให้บริการในประเทศไทยขณะนี้

3.การให้วัคซีนโควิด 19 สลับชนิดในพื้นที่ ขอให้ถือแนวทาง ดังนี้

3.1 สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา สมุทรสาคร นครปฐม สงขลา ยะลา ปัตตานีและนราธิวาส แบ่งเป็น

3.1.1 กลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคเรี้อรัง 7 กลุ่มโรค รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ให้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม โดยฉีดห่างกัน 12 สัปดาห์ ทั้งนี้ สามารถฉีดวัคซีนด้วยชนิดหรือวิธีอื่นใดตามดุลยพินิจของแพทย์ ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีนและปริมาณที่มี

3.1.2 กลุ่มเป้าหมายอื่น อาจให้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มหรือให้รับวัคซีนซิโนแวคเป็นเข็มที่ 1 และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มที่ 2 ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีนและปริมาณที่มี

3.2สำหรับจังหวัดอื่น นอกเหนือจากข้อ 3.1 ให้ทุกกลุ่มเป้าหมายรับวัคซีนซิโนแวคเป็นเข็มที่ 1 และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มที่ 2 โดยให้ฉีดห่างกัน 3-4 สัปดาห์