ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิดตัวเลขภาพรวมฉีดวัคซีนโควิดกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. – 28 ก.ค. สะสม 5,668,720 โดส จากประชาชนกรุงเทพฯตั้งเป้า 7.6 ล้านราย กรมควบคุมโรคเผยผลสำรวจประชาชนในกทม. ทั้ง 50 เขต จำนวน 1,500 ราย ถามว่าได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มแล้วหรือไม่ พบว่า 76.5% ได้รับแล้ว ส่วนคำถาม “ผู้สูงอายุในบ้านฉีดวัคซีนแล้วหรือไม่” พบว่า ฉีดวัคซีนแล้ว 79.92%

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ที่ กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวประเด็น “กระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานคร ร่วมมือสู้โควิด-19” ว่า สถานการณ์โควิด-19 ประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อใหม่ 17,669 ราย สะสมทั้งหมด 561,030 ราย ผู้รักษาหายเพิ่ม 9,798 ราย ผู้เสียชีวิตรายใหม่ 165 ราย สะสม 4,562 ราย ทั้งนี้ การระบาดของประเทศไทย จุดศูนย์กลางระบาดยังอยู่ที่กรุงเทพมหานคร(กทม.) และปริมณฑล โดยมีการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อไปต่างจังหวัด ทำให้ภาพรวมพบการระบาดในต่างจังหวัดเพิ่มเติม  อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อใน กทม.มีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นเดียวกับแนวโน้มของประเทศ ฉะนั้น การทำงานร่วมมือระหว่าง สธ. และหน่วยงานต่างๆ เช่นกรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ กรมสนับสนุนบริหารสุขภาพ กรุงเพทมหานคร สำนักอนามัยกทม. สำนักการแพทย์กทม. และหน่วยงานอื่นๆ จึงมีความสำคัญในการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19

นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือกับสำนักอนามัยกทม. ในการสนับสนุนวัคซีน ผ่านคณะอนุกรรมการการจัดการการให้วัคซีนโควิด-19 กรุงเทพมหานคร โดยจัดสรรให้กับหน่วยงานและพื้นที่ต่างๆ ผ่านสำนักอนามัยกทม. อีกประการหนึ่งที่สำคัญมาก คือ การทำงานเชิงรุกในชุมชนด้วยทีมเคลื่อนที่เร็ว หรือ Comprehensive COVID-19 response(CCRT) ซึ่งเป็นทีมเชิงรุก มีกำลังคนจากหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงสาธารณสุข สำนักอนามัย กทม. จิตอาสา ฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายพัฒนาสังคม ลงไปในชุมชนเพื่อวัตถุประสงค์สำคัญ คือ 1.ค้นหาผู้ป่วยในชุมชน ด้วยการตรวจชุดแอนติเจน เทสต์ คิท(ATK) 2.การฉีดวัคซีนให้กลุ่มที่เข้าถึงยาก โดยเฉพาะผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้น ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ป่วยติดเตียงในชุมชน และ 3.การให้ความรู้ แนวปฏิบัติตัวป้องกันโควิด-19 ทั้งนี้ ทีม CCRT เรามีทั้งหมด 260 ทีม มีการฉีดวัคซีนให้ประชาชนแล้ว 59,708 ราย มีการตรวจคัดกรองผู้ที่อยู่ในข่ายสงสัยว่าจะติดเชื้อ 81,290 ราย

นพ.โอภาส กล่าวว่า ภาพรวมการฉีดวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. – 28 ก.ค. ขณะนี้ กทม. ฉีดวัคซีนสะสม 5,668,720 โดส เป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 4,643,227 ราย และได้รับครบ 2 เข็มอีก 1,025,493 ราย หากเทียบกับจำนวนประชากรในกรุงเทพฯ ที่เราตั้งเป้าในการฉีดวัคซีน 7,699,174 ราย ก็ถือว่ากรุงเทพฯ ฉีดวัคซีนค่อนข้างเป็นไปตามแผนที่เราวางไว้ว่า สิ้นเดือน ก.ค.64 จะต้องฉีดวัคซีนในกรุงเทพฯ ให้ได้อย่างน้อย 5 ล้านโดส รวมถึงกลุ่มเสี่ยงที่เรากำหนดไว้ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ที่ต้องได้รับวัคซีน ประมาณ 80% ขณะนี้ก็ค่อนข้างใกล้เคียงกับเป้าหมาย

“ทั้งหมดนี้เกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ทั้ง สธ. กทม. โดยเฉพาะสำนักอนามัยกทม. นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายการฉีดวัคซีนของกทม.อีกหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล(รพ.)ภาครัฐ รพ.สังกัดมหาวิทยาลัย รพ.ฝ่ายความั่นคง รพ.เอกชน และอื่นๆ ที่สนับสนุนร่วมมือกัน และยังมีภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ในเขตกรุงเทพฯ ด้วย” นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ได้รับวัคซีนในเขตกรุงเทพฯ นอกจากการรายงานตัวเลขแล้ว ทางกรมควบคุมโรค ได้มีการสุ่มสำรวจประชาชนในกทม. ทั้ง 50 เขต จำนวน 1,500 ราย ข้อมูลวันที่ 24-25 ก.ค.64 แบบสำรวจมีคำถามสำคัญคือ “ท่านได้รับการฉีดวัคซีนแล้วหรือไม่” พบว่า ประชาชน 76.5% ตอบว่า ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 เข็ม ซึ่งสอดคล้องกับการผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ผลสำรวจพบว่า ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 47.3% ซิโนแวค 28.3% และยังไม่ได้ฉีด 23.5% อย่างไรก็ตาม สำหรับอีกกลุ่มที่เราให้ความสนใจคือ กลุ่มผู้สูงอายุ แบบสำรวจจึงมีคำถามว่า “ในบ้านท่านมีผู้สูงอายุหรือไม่” พบว่า ตอบว่ามีผู้สูงอายุ 65.7% โดยในกลุ่มนี้มีการสอบถามต่อว่า “ผู้สูงอายุในบ้านฉีดวัคซีนแล้วหรือไม่” พบว่า ฉีดวัคซีนแล้ว 79.92%

ด้าน พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวว่า คณะอนุกรรมการ ให้แผนการบริการวัคซีนกับทาง รพ.ทุกสังกัด ที่ร่วมมือกับกทม. รวม 132 แห่ง ที่เปิดให้จองฉีดกับ รพ.ไว้แล้วส่วนหนึ่ง อีกส่วนเพื่อควบคุมโรคในจุดต่างๆ โดยที่ผ่านมาเราได้ดำเนินการในหลายชุมชน นอกจากนั้น มีความร่วมมือกับหอการค้าแห่งประเทศไทย จุดบริการฉีดอีก 25 แห่ง ที่เราสนับสนุนวัคซีนลงไป และเร่งฉีดให้กลุ่มผู้สูงอายุให้มากที่สุด และสุดท้ายคือ ทีมเคลื่อนที่เร็วเชิงรุก(CCRT) ที่ลงไปดำเนินการในชุมชนจัดตั้ง เราตั้งเป้าหมายไว้ 2,016 ชุมชน โดยจะดำเนินการให้สิ้นเสร็จภายในเดือน ก.ค.64

“การบริการวัคซีนในกรุงเทพมหานคร เรามี 25 ศูนย์ฉีดกระจายทั่วกรุงเทพฯ โดยดำเนินการฉีดให้ผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนผ่านร้านสะดวกซื้อต่างๆ และนัดวันไปฉีดในศูนย์ฯ ฉะนั้น การให้บริการวัคซีนโควิด-19 เราดำเนินการภายใต้หลักเกณฑ์ นโยบายและเป้าหมายที่ สธ.กำหนด และทาง สธ. ก็สนับสนุนวัคซีนให้เราเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว” พญ.ป่านฤดี กล่าว