ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะทำงานจัดการวัคซีนไฟเซอร์ เผยหลักเกณฑ์บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้ารับไฟเซอร์ได้ ระยะแรกเป็นกรณีบูสเตอร์โดส เท่านั้น เหตุมีข้อมูลวิชาการรองรับและกรมควบคุมโรคเสนอต่อ ศบค. หลักการให้บูสเตอร์โดสได้เฉพาะกลุ่มฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ส่วนกลุ่มอื่นๆ อยู่ระหว่างศึกษา ขณะที่บุคลากรไม่ได้รับวัคซีนเลย กำลังสำรวจตัวเลขก่อนพิจารณาจัดสรรต่อไป

เมื่อวันที่ 31 ก.ค.2564 นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในฐานะประธานคณะทำงานด้านบริหารจัดการการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กรณีวัคซีนโควิดไฟเซอร์ (Pfizer) เปิดเผยถึงการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส ว่า จากฐานข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข มีการจัดสรรให้กับบุคลากรด่านหน้าเพื่อฉีดกระตุ้นเป็นเข็มที่ 3 จำนวน 7 แสนโดส กรณีที่มีบุคลากรทางการแพทย์ได้ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าเป็นเข็มที่ 3 ไปก่อนหน้านี้แล้วนั้น ตัวเลขจะอยู่ที่กรมควบคุมโรค ที่ได้มีการทำแบบสำรวจไปที่รพ.แต่ละแห่ง ซึ่งผลสรุปออกมายังไม่ทันในการประชุมพิจารณาจัดสรร ดังนั้นที่ประชุมจึงได้อนุมัติในหลักการให้เข็ม 3 บุคลากรด่านหน้าไปจำนวนรวม 7 แสนโดส

ทั้งนี้เมื่อได้ยอดเข้ามาชัดเจนแล้วส่วนต่างที่เหลือจากกรณีที่บุคลากรฉีดแอสตร้าฯ เป็นเข็มที่ 3 ไปแล้วจะจัดสรรให้กับกลุ่มใดต่อไปนั้น จากการประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) กรณีโรคโควิด 19 ที่มีนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา (31 ก.ค.) ที่ประชุมเห็นว่ายังมีกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการดูแลคนไข้ที่ติดโควิดได้ เช่น บุคลากรทางการแพทย์ ที่ถึงแม้ไม่ได้อยู่ด่านหน้าโดยตรงแต่ก็ยังมีความเสี่ยง ก็จะมีการพิจารณาตรงนี้เพิ่มเติม ทั้งนี้เราเสนอ ศบค.ไปว่าเข็ม 3 สำหรับบุคลากรการแพทย์ด่านหน้า ศบค.ก็รับทราบแบบนั้น ก็ต้องจัดตามแบบนี้ก่อน ส่วนรอบถัดไปก็ต้องมีการผ่อนคลาย เพราะว่าคนของเราที่มีความเสี่ยงอีกเยอะ

ผู้สื่อข่าวสอบถามกรณีเกณฑ์การจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม จนมีบุคลากรด่านหน้าบางคนท้วงถามว่า ไม่ได้ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม แต่ปฏิบัติงานด่านหน้าเช่นกันนั้น นพ.สุระ กล่าวว่า การพิจารณาเป็นไปตามข้อมูลวิชาการ ที่ก่อนหน้านี้กรมควบคุมโรคได้เสนอต่อ ศบค. เนื่องจากมีการศึกษาว่า เมื่อรับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มอาจไม่เพียงพอ จำเป็นต้องกระตุ้นด้วยเข็มที่ 3 หรือบูสเตอร์โดส ด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และไฟเซอร์ จึงเป็นเหตุผลที่ต้องระบุเกณฑ์ เพราะต้องอิงข้อมูลทางวิชาการ ส่วนกรณีอื่นๆ นอกเหนือจากนั้น เช่น กลุ่มได้รับแอสตร้าฯ ครบ 2 เข็ม หรือกลุ่มฉีดซิโนแวค 1 เข็มแล้วแอสตร้าฯเข็มที่ 2 นั้น ได้มีการเตรียมศึกษาวิจัยเรื่องนี้แล้ว

นพ.สุระ กล่าวว่า ส่วนกรณีบุคลากรที่ไม่ได้รับวัคซีนใดๆ เลยนั้น อาจเพราะไม่สามารถฉีดได้ทั้งซิโนแวค หรือแอสตร้าฯ เนื่องจากอาจมีอาการข้างเคียง หรือปัจจัยอื่นๆ ตรงนี้จะมีการพิจารณาเป็นกรณี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจตัวเลขว่า มีจำนวนเท่าไหร่ แต่โดยหลักขอเน้นฉีดให้บุคลากรด่านหน้าสำหรับบูสเตอร์ โดสก่อน เพราะมีข้อมูลวิชาการรองรับ

นพ.สุระ กล่าวว่า การจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส เป็นไปตามหลักเกณฑ์อยู่แล้ว ส่วนต่างที่เหลือจากกรณีที่บุคลากรฉีดบูสเตอร์ด้วยแอสตร้าฯ แล้วจะต้องมีการพิจารณาว่าจะเกลี่ยไปลงตรงจุดไหน กลุ่มเป้าหมายที่เรากำหนดไว้ในล็อตนี้ยังขาดอยู่ก็จะเกลี่ยไปให้ เช่น กลุ่มนักเรียนที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จะเป็นผู้รวบรวมมา ถ้ามีตัวเลขเกินกว่า 1.5 แสนโดสที่เราจัดสรรให้ก็เกลี่ยมาให้ตรงจุดนี้เพิ่ม หรือถ้าในยอด 1.5 แสนโดสที่จัดให้กับทางกต. เหลือ ก็อาจจะนำมารวมเป็นกองกลาง แล้วกระจายไปยัง 13 จังหวัดเป้าหมายที่กำหนด เพราะเป็นพื้นที่เสี่ยง ที่ยังมีตัวเลขของกลุ่มเสี่ยงทั้งผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์ ที่เราต้องเข้าไปฉีดเพื่อลดอัตราการป่วยเสียชีวิต

เมื่อถามย้ำว่าแล้วคนที่ตั้งใจรอวัคซีนไฟเซอร์ตัวเดียวเลยจะทำอย่างไร นพ.สุระ กล่าวว่า อันนี้ก็ดูยากนิดหน่อย เราก็จะพิจารณาตามเหตุผลหากเพียงพอ เช่น ถ้าอยู่ในพื้นที่ที่มีสายพันธุ์ระบาดต้องการฉีดไฟเซอร์เพื่อกระตุ้นภูมิฯ ก็อาจจะพิจารณาให้ เช่นในพื้นที่ที่มีการติดเชื้อสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) ทางภาคใต้

รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อว่า สำหรับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ที่ต้องมีการผสมน้ำเกลือนั้น เป็นสูตรการฉีดที่ทางไฟเซอร์กำหนดอยู่แล้ว ส่วนบุคลากรของเราก็พร้อมที่จะฉีดด้วยเทคนิคนี้อยู่แล้ว เพราะที่ผ่านมา ในการปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยโรคอื่นๆ พยาบาลก็มีการผสมยากับน้ำเกลือ มีการผสมวัคซีนตัวอื่นๆ มาก่อนหน้านี้แล้ว เช่น การฉีกวัคซีนพิษสุนัขบ้า ก็ต้องมีการผสมน้ำกลั่นกับวัคซีนแห้งก่อนฉีด เป็นต้น ดังนั้นเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ และไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ บุคลากรมีการปฏิบัติงานอยู่แล้ว เพียงแต่ที่มีการประชุมคอนเฟอร์เรนส์กันเมื่อวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา ก็เป็นการซักซ้อมทำความเข้าใจกัน ขอประชาชนอย่ากังวล ย้ำว่าการผสมน้ำเกลือ ก็เป็นข้อกำหนดการฉีดวัคซีนไฟเซอร์อยู่แล้ว เราไม่ได้มาคิดเอง

ข่าวเกี่ยวข้อง : 

: เปิด 3 กลุ่มจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ พร้อมรายละเอียดสัดส่วนเบื้องต้น 13 จังหวัด

CDC สหรัฐฯ ออกใบกำกับให้วัคซีนไฟเซอร์ ผสมน้ำเกลือ ก่อนใช้งานจริง

เปิดรายชื่อคณะทำงานบริหาร พิจารณาจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org