ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.รพ.บุษราคัมเผยปัจจุบันมีเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด 3,700 เตียง เปิดกว่า 2 เดือนรักษาผู้ป่วยสะสม 12,929 คน นอนอยู่ 3,500 คน กลับบ้านแล้วประมาณ 9 พันคน เตรียมขยายหอผู้ป่วยวิกฤตเพิ่ม 17 เตียงรองรับคนไข้หนัก!! พร้อมสั่งซื้อเครื่องผลิตออกซิเจนอีก 550 เครื่องรับสถานการณ์ระบาดต่อเนื่อง

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 31 ก.ค. 2564 นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้อำนวยโรงพยาบาลบุษราคัม แถลงข่าวประเด็น “UPdate การให้บริหาร รพ.บุษราคัม” ผ่านระบบออนไลน์ ว่า โรงพยาบาล(รพ.) บุษราคัม เปิดดำเนินการตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. 2564 เดิมมีเตียงจำนวน 1,100 เตียง จากนั้นก็มีการขยายเตียง เนื่องจากผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนขณะนี้มีเตียงรองรับจำนวน 3,700 เตียง ตั้งแต่เปิดบริการมา 2 เดือนครึ่ง มีผู้ป่วยสะสม 12,929 คน ผู้ป่วยทั้งหมดที่ให้บริการไปแล้ว และนอนอยู่ 3,500 คน กลับบ้านแล้วประมาณ 9 พันคน และมีบางส่วนส่งต่อไปรักษาที่รพ.อื่นๆ ที่มีศักยภาพสูงกว่า

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.ถึง 30 มิ.ย.ประมาณเดือนครึ่ง ซึ่งเป็นช่วงแรกเราใช้เตียงแค่ 2 พันเตียง ช่วงแรกผู้ป่วยประมาณ 4,200 คน เฉพาะเดือน ก.ค.เดือนเดียวรับผู้ป่วยแล้วเกือบ 9 พันคน แสดงให้เห็นว่าเดือน ก.ค.มีผู้ป่วยจำนวนมาก และอาการซับซ้อน อาการหนักกว่าเดือน พ.ค. และ มิ.ย. โดยผู้ป่วยสีแดงต้องให้เครื่องหายใจช่วงพ.ค. แทบไม่มี แต่มิ.ย.มีประมาณ 2 % แต่ก.ค.มี 5% แต่หากครึ่งเดือนหลังของก.ค.คิดเป็น 10% มีการใช้เครื่องช่วยหายใจ เครื่องออกซิเจนจำนวนมาก โดยเรามีจุดบริการออกซิเจน 800 จุดจากกว่า 3 พันเตียง และเมื่อ 3-4 วันก่อน เราใช้ออกซิเจนไปเกือบหมด ใช้ไปประมาณ 750 จุด เราตระหนักแล้วว่า ผู้ป่วยมีอาการหนัก จำเป็นต้องจัดหาเครื่องผลิตออกซิเจนมาเสริม ขณะนี้สั่งซื้อไปแล้ว 550 เครื่องมารองรับ เพราะจากการพยากรณ์จะมีการระบาดต่อเนื่องอีกระยะหนึ่ง

ทั้งนี้ ในระยะแรกนโยบายอยากให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาในรพ.ทุกคน ซึ่งรพ.บุษราคัม จะมีผู้ป่วยทุกประเภท ทุกสัญชาติ ทั้งไทย ต่างชาติ ลาว เมียนมา กัมพูชา โดยช่วงแรกสัดส่วนคนต่างด้าวจำนวนมากประมาณ 40% ปัจจุบัน ก.ค. ลดลงเหลือ 20% ที่เหลือเป็นคนไทย อย่างไรก็ตาม ในการให้บริการผู้ป่วยเรารับทุกประเภท ยิ่งปัจจุบันอาการซับซ้อนมาก รุนแรงมากขึ้น เห็นได้จากการใช้เครื่องช่วยหายใจ อย่างต้นเดือนใช้เครื่องช่วยหายใจ 50-60 เครื่อง ปัจจุบันใช้ 160 เครื่องเป็นบางวัน และประเภทของผู้ป่วย

แฟ้มภาพจากกระทรวงสาธารณสุข

“ในผู้ป่วยหลายส่วนการดูแลอาจไม่ 100% เต็มที่เหมือนอยู่รพ. เพราะสถานการณ์ไม่ได้อยู่ในภาวะปกติ แต่เราก็พยายามเพื่อให้เขาได้เข้าสู่ระบบ รพ.ก่อน และพยายามบริการให้มากที่สุดใกล้เคียงเหมือนอยู่ รพ.จริงๆ ตามความสามารถของเรา ซึ่งขณะนี้บุคลากรก็เต็มที่” นพ.กิตติศักดิ์ กล่าว และว่า รพ.บุษราคัม มีการแยกกลุ่มผู้ป่วยตามความเสี่ยง เช่น หมู่บ้านเบาหวาน หมู่บ้านรอล้างไต หรือกลุ่มผู้ป่วยวิกฤต จะแบ่งออกเป็นโซนๆ เช่น โซนใช้ออกซิเจน โซนใช้เครื่องช่วยหายใจ ส่วนกรณีผู้ป่วยที่มีลักษณะเป็นครอบครัว ยิ่งช่วง ก.ค. ติดต่อในครอบครัวเพิ่มขึ้น จะพบผู้ป่วยมาเป็นครอบครัว ทั้งพ่อแม่ลูกเล็ก เราก็จัดให้อยู่ด้วยกัน หรืออยู่ใกล้กันที่สุด

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้กำลังจัดทำหอผู้ป่วยวิกฤต 17 เตียงพร้อมระบบความดันลบเฉพาะผู้ป่วยวิกฤตอาการหนัก คาดว่าจะเปิดได้ในสัปดาห์หน้า มีเครื่องไม้เครื่องมือครบตามแบบไอซียู และมีทีมแพทย์พยาบาลประจำไอซียู ซึ่งกำลังเดินทางมาจากต่างจังหวัดในวันพรุ่งนี้(1 ส.ค.) นอกจากนี้ ต้องขอขอบคุณคุณหมอประมาณ 69 คน ซึ่งเป็นหมอเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทั้งด้านวิกฤตฉุกเฉิน โรคติดเชื้อ ฯลฯ ซึ่งหลังจากจบเป็นผู้เชี่ยวชาญ ทาง สธ. ได้ให้อยู่ต่อในกทม.เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย โดยประจำอยู่ทั้ง รพ.รามา ธรรมศาสตร์ รพ.พลังแผ่นดินของ รพ.มงกุฏวัฒนะ และอีกครึ่งหนึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่รพ.บุษราคัม เรียกว่าเป็นเสาหลักของทีมในการดูแลผู้ป่วยที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ