ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะทำงานบริหารวัคซีนไฟเซอร์ เสนอ รพ. ทุกแห่งแจ้งข้อมูลจำนวนบุคลากรที่ได้รับไฟเซอร์ เพื่อความโปร่งใส ประกอบกับเป็นข้อมูลฉีดแล้วเท่าหร่ ขาดอีกเท่าไหร่ สร้างความมั่นใจให้แก่บุคลากรด่านหน้า ด้าน สธ.เผย ส.ค.นี้มีวัคซีนกว่า 10 ล้านโดสขึ้นไป ทั้งแอสตร้า ซิโนแวค และไฟเซอร์ พร้อมกระจายภูมิภาคมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ระบาด จังหวัดปริมณฑล ส่วนกทม.รับต่อเนื่องแต่สัดส่วนเหลือ 1 ล้านโดส เหตุต้องกระจายพื้นที่ระบาดอื่นๆ

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 2 ส.ค.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการกระจายวัคซีนโควิด ว่า ตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.เป็นต้นมา กลุ่มที่ได้รับการฉีดวัคซีนจำนวนมาก อยู่ในพื้นที่กทม.และปริมณฑลเป็นหลัก แต่ขณะนี้มีหลายพื้นที่มีการเร่งรัดฉีดวัคซีน เพราะมีการกระจายวัคซีนในพื้นที่ต่างๆ อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อมูลการฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีการฉีดวัคซีนไปแล้วเข็มที่ 1 เพียง 23.2% ซึ่งยังน้อยกว่ากลุ่มอื่นประมาณ 1 ใน 4 จึงเป็นกลุ่มที่สำคัญและต้องเร่งรัดฉีดวัคซีน โดยในช่วงเดือน มิ.ย.และก.ค.ที่ผ่านมา ผู้สูงอายุได้รับการฉีดอย่างมาก เพราะมีการจัดลำดับความสำคัญใหม่ และให้ผู้สูงอายุได้เข้าถึงอย่างสะดวก ทำให้ผู้สูงอายุได้วัคซีนเพิ่มขึ้นมากในพื้นที่กทม. และกำลังไล่ฉีดเข็มที่ 2 สำหรับคนครบกำหนด

00 สธ.เผยแผนกระจายวัคซีน ส.ค.นี้ เน้นปริมณฑล พื้นที่ระบาด ส่งทุกสัปดาห์

“สวนต่างจังหวัด ทางท่านปลัดสธ. ได้จัดสรรโดยอาศัยคำแนะนำจากคณะกรรมการเชี่ยวชาญต่างๆ ซึ่งในเดือน ส.ค. ได้มีการกระจายวัคซีนไปพื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้น โดยในเดือนนี้จะได้รับวัคซีนมากขึ้นกว่าเดือน ก.ค. คือ ประมาณ 10 ล้านโดสขึ้นไป ทั้งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า วัคซีนซิโนแวค และวัคซีนไฟเซอร์อีก 1.5 ล้านโดส ดังนั้น เป้าหมายการฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุจะเป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งในจังหวัดปริมณฑล อย่างพระนครศรีอยุธยา นครปฐม ชลบุรี นราธิวาส เปอร์เซ็นต์การฉีดผู้สูงอายุอยู่ที่ประมาณ 20-40% ดังนั้น ในเดือน ส.ค.จะได้รับวัคซีนมากขึ้น ส่วนจังหวัดถัดมา อย่างฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ เป็นช่วงที่มีการระบาดเพิ่มในเดือน ก.ค. ความเสี่ยงก็เพิ่มขึ้น โดยวัคซีนที่ไปในทุกสัปดาห์จะตกอยู่ที่ประมาณ 1-2 ล้านโดส ซึ่งเป็นทั้งซิโนแวค และแอสตร้าฯ โดยตอนนี้ทุกกลุ่มอายุสามารถฉีดสูตรผสม โดยซิโนแวคเข็มแรก และแอสตร้าฯ เข็มสองใน 3 สัปดาห์ต่อมา” นพ.โสภณ กล่าว

00 กทม.ฉีดวัคซีนต่อเนื่อง แต่จำนวนลดลงเหลือ 1 ล้านกว่าโดส เพราะต้องกระจายจังหวัดอื่น

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า ส่วนจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง คือ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา มีเปอร์เซ็นต์ฉีดวัคซีนต่ำอยู่ เพราะช่วงที่ผ่านมาได้รับการจัดสรรในเปอร์เซ็นต์น้อย แต่เมื่อสถานการณ์แพร่ระบาดขึ้น วัคซีนที่ไปจะมากขึ้นเช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงต้องเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมาย คงใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน ขณะที่กทม. จะมีการฉีดวัคซีนต่อเนื่อง แต่จำนวนจะน้อยลงประมาณ 1 ล้านกว่าโดส ที่อยู่ในกทม.

“สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ที่มาถึงประเทศไทย จำนวนที่ชัดเจนและถูกต้อง คือ 1,503,450 โดส เป็นจำนวนที่ถูกต้อง เนื่องจากล่าสุดที่เช็กนั้น วัคซีนที่ส่งมาในภาวะแช่แข็งอยู่ในอุณหภูมิติดลบ 70 องศา เวลาส่งมาต้องขนส่งในถาดขนวัคซีน ซึ่งปกติจะขนส่งลงล็อกประมาณ 1,170 โดสต่อถาด รวมแล้วคือจำนวน 1,503,450 โดส ซึ่งสอดคล้องตัวเลขที่อยู่บนเว็บไซต์สถานทูตสหรัฐ หากท่านใดได้ตัวเลขแตกต่างกว่านี้ จึงเป็นตัวเลขไม่ถูกต้อง” นพ.โสภณ กล่าว

 

00 วัคซีนไฟเซอร์ล็อต 1.5 ล้าน บุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้ารับมากสุด 7 แสนโดส

นพ.โสภณ กล่าวว่า การจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ โดยหลักคือ บุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าจำนวนมากสุดคือ 700,000 โดสจาก 1.5 ล้านโดส เพื่อเป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น สำหรับผู้ที่เคยฉีดมาแล้ว 2 โดส โดยบุคลากรทางการแพทย์ได้ฉีดไปแล้วช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย. เป็นวัคซีนซิโนแวค และบางท่านอาจยังไม่ได้รับวัคซีน ซึ่งเป็นส่วนน้อย อาจเจ็บป่วยหรือจบใหม่ก็อยู่ในกลุ่มที่ฉีดวัคซีนนี้ได้ ส่วนกลุ่มที่รับวัคซีนตัวอื่นมาก่อนเข็มแรกเข็มเดียวก็สามารถขอรับไฟเซอร์ได้ และสุดท้ายผู้ติดเชื้อแต่หายแล้วก็รับได้เช่นกัน แต่ทั้งหมดอยู่ที่ความสมัครใจ เพราะยังมีแอสตร้าฯ ซึ่งข้อมูลพบว่ามีบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้ามีประมาณ 20% ได้ฉีดกระตุ้นด้วยแอสตร้าฯไปแล้ว ส่วนคนที่เหลือที่ต้องการฉีดไฟเซอร์ก็มีให้เพียงพอทุกคน

“ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มโรคเรื้อรังจะให้ตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไป มีเด็กน้ำหนักเกิน เด็กอ้วน หรือมีโรคเบาหวานตั้งแต่กำเนิด มีภาวะโรคหัวใจ โรคไต ซึ่งกุมารแพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสม เพราะหากมีความเสี่ยงและติดเชื้อจะมีความรุนแรงได้ นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ มีวัคซีนเตรียมไว้สำหรับกลุ่มเปราะบาง 645,000 โดส ถัดมาที่ได้รับวัคซีนได้ คือ ชาวต่างชาติ ที่อาศัยในประเทศไทยที่เป็นผุ้สูงอายุ และป่วยโรคเรื้อรัง หรือคนท้องอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ รวมทั้งคนไทยที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ มีโควตา 150,000 โดส ซึ่งทางกระทรวงต่างประเทศได้จัดระบบลงทะเบียนไว้” นพ.โสภณ กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีอีกกลุ่มกันไว้สำหรับการทำวิจัยอีก 5,000 โดส เพื่อศึกษากรณีฉีดสลับ มีภูมิคุ้มกันขึ้นสูงระดับใด ลดการป่วยหนักและเสียชีวิต ซึ่งต้องเป็นโครงการวิจัยที่ต้องผ่านคณะกรรมการวิจัยจริยธรรม และอีกกว่า 3 พันกว่าโดสอันนี้กันไว้สำหรับพื้นที่ระบาดใหม่ เช่น อาจมีพื้นที่พบสายพันธุ์เบตา เป็นต้น เพราะไฟเซอร์ใช้ต่อสายพันธุ์นี้ค่อนข้างดี

00ไฟเซอร์กระจายทุกจังหวัด 1 ขวดได้ 6 คน

นพ.โสภณ กล่าวว่า การจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ จะจัดสรรไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ เนื่องจากทุกจังหวัดได้สำรวจและรวบรวมรายชื่อส่งเข้ามา ซึ่งเราก็จัดส่งและทยอยในวันที่ 3 ส.ค.เป็นต้นไป แต่วัคซีนไฟเซอร์อาจไม่ได้จัดส่งให้ทุก รพ.ทันที เพราะการจัดส่งจะไปในถาดขนส่ง ซึ่งมีประมาณ 1,170 โดสต่อถาดเดียวกัน และต้องไปในภาวะที่รักษาอุณหภูมิแช่แข็ง เมื่อไปถึงต้องเอาเข้าตู้เย็นทันที ดังนั้น รพ.จังหวัดจะมีวัคซีนนี้ไว้ และเวลาการใช้ เนื่องจากเป็นวัคซีนขวดที่มีจำนวน 6 โดส เมื่อเปิดมาแล้วต้องใช้ 6 คน จึงต้องให้ครบทั้งหมด และต้องมีการกำหนดจุดการรับบริการให้เหมาะสม ซึ่งในส่วนของกทม. กรมควบคุมโรค ได้ประสานสำนักอนามัย ในการจัดส่งวัคซีนไปที่ รพ.รัฐ และเอกชนที่กำหนด เพื่อจัดบริการฉีดให้บุคลากรการแพทย์ด่านหน้าให้ครอบคลุมสูงสุด

00 ขอ รพ.ประกาศจำนวนบุคลากรที่ได้รับไฟเซอร์ เพื่อความโปร่งใส

“ ที่ประชุมคณะทำงานด้านบริหารการจัดการวัคซีนไฟเซอร์ ยังมีข้อเสนอให้โรงพยาบาลแต่ละแห่งแสดง หรือประกาศจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ต่อสาธารณชน เพื่อความโปร่งใส จะได้ทราบว่าฉีดไปแล้วเท่าไหร่ และยังขาดอีกเท่าไหร่ ซึ่งการดำเนินการส่วนนี้จะสร้างความมั่นใจให้แก่บุคลากรด่านหน้าทุกคน” นพ.โสภณ กล่าว