ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Community Isolation (CI) ศูนย์พักคอยในชุมชน "นครปฐมโมเดล" กลายเป็นอีกหนึ่งต้นแบบในการช่วยเหลือผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดในพื้นที่ โดยใช้วิธีให้คนในชุมชนได้เข้ามาร่วมถอดบทเรียน หาวิธีการแก้ปัญหาผู้ติดเชื้อ หลังจากปัจจุบัน จ.นครปฐม เป็นจังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมและเข้มงวด (สีแดงเข้ม)

นพ.วิโรจน์ รัตนอมรสกุล สาธารณสุขจังหวัดนครปฐม ให้ความเห็นถึงสถานการณ์ระบาดใน จ.นครปฐม ขณะนี้ว่า กรณี CI ใน จ.นครปฐม นั้น ได้มีการพยายามเพิ่มจำนวนให้มากขึ้นแล้ว แต่ก็ไม่สามารถขยายได้มากกว่านี้อีกแล้ว

"การจะไปขอจากจังหวัดอื่นๆก็ยาก ปัญหาคือตอนนี้เตียงจะมาจากไหน CI ของ จ.นครปฐม หลังจากที่ได้มีการประชุมร่วมกันกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครปฐม (อบจ.) อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐม และผู้ว่าราชการจังหวัด ทางออกคือการทำ มินิ CI ให้มีทุกตำบล" นพ.วิโรจน์ กล่าว

มินิ CI คือการขยาย CI ออกไปยังพื้นที่ต่างๆทั่วจังหวัด เพื่อรองรับกับจำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด ให้เกิดการสร้าง CI ในชุมชน และตำบล แบ่งเบาสถานการณ์เตียงในโรงพยาบาลเต็มและบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ

"ตอนนี้เราสามารถรองรับได้ 900 กว่าคน จากยอดที่ตั้งเป้าไว้ 4,000 คน ในขณะที่ Home Isolation (HI) เนื่องจากมีการติดเชื้อในครัวเรือนสูงจากการที่ประชาชนภายในจังหวัดพักอาศัยด้วยกันในลักษณะเป็นครอบครัวใหญ่ แทนที่จะ HI ก็ควรทำเป็น CI เพราะเป็นผู้ติดเชื้อสามารถอยู่ร่วมกันได้ ซึ่งสถานที่ควรจัดเป็นสัดส่วนพอสมควร เช่น ศูนย์เด็กเล็กฯ ที่ไม่ต้องปรับปรุงโครงสร้างมาก แต่ต้องเน้นเรื่องห้องน้ำที่ควรจะสะอาดและเป็นสัดส่วน" นพ.วิโรจน์ กล่าว

ซึ่งแน่นอนว่า อย่างแรกคือต้องยอมรับความจริงกรณี HI ที่ไม่สามารถทำได้ในทุกครัวเรือน แต่ชาวบ้านต้องให้ความร่วมมือในการไปกักตัวอยู่ใน CI ซึ่งบุคลากร สถานที่ เครื่องมือ และมาตรการในการจัดการต่างๆนั้น ในแต่ละชุมชนต้องสร้างขึ้นมาให้ได้

ปัญหาเรื่องสถานที่นั้น นพ.วิโรจน์ ไม่เป็นห่วง เนื่องจากในแต่ละชุมชนมีอาคาร สถานที่ ทั้งในโรงเรียน ศูนย์ต่างๆในหมู่บ้าน ที่มีความพร้อม แต่เรื่องที่น่าเป็นห่วงในการทำ มินิ CI คือเรื่องงบประมาณที่อาสาสมัคร หรือ เจ้าหน้าที่เบิกจ่ายมาอาจถูกเช็คบิลย้อนหลังเพราะไม่ทราบระเบียบกฎเกณฑ์

"งบประมาณการดำเนินการจัดตั้งใช้งบจากท้องถิ่น และผู้บริจาคแล้วดำเนินการต่อด้วยงบจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตรงนี้มีสนับสนุนอยู่แล้ว การเข้าไปทำ CI การเข้าไปดูแลผู้ติดเชื้อใน CI โดยบุคลากรด้านสาธารณสุขขณะนี้ไม่ไหวแล้ว ต้องให้ท้องถิ่นเข้าไปดูแลจาก อสม. แต่ปัญหาที่เขากลัวจะตามมาคือการเบิกจ่ายบางส่วนที่ไม่ได้นำมาใช้กับ CI เช่น อาหารที่ต้องกินด้วยกันจะถูกเช็คบิลย้อนหลังหรือไม่ การใช้งบท้องถิ่นก็จะกลัวปัญหาตรงนี้ ส่วนเรื่องจะเปิดช่องให้ทุจริตหรือไม่ ผมคิดว่าไม่ เพราะคนที่ตั้งใจจะทุจริตเขาจะทำให้เนียน แต่คนที่คิดว่าจะเอามาช่วยผู้ป่วยอาจจะไม่รู้เรื่องการเบิกงบเลยเกรงว่าจะถูกเช็คบิล" สาธารณสุขจังหวัดนครปฐม ให้ความเห็น

นพ.วิโรจน์ ยืนยันว่า งบประมาณที่จะทำมาใช้สร้าง CI สามารถนำเงินจากกองทุนตำบล และงบจาก สปสช. ที่ลงมาที่ท้องถิ่น ซึ่งมีนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (นายกฯ อบต.) เป็นประธาน นำมาใช้จ่ายได้

"เม็ดเงินไม่ต้องถึงกับใช้คล่อง แต่ให้ใช้สะดวก"

อย่างไรก็ตาม หลักการทำ CI คือ การหาเชื้อให้ได้เร็วที่สุด รักษาชีวิตให้ทัน และสร้างภูมิคุ้มกันให้ครบ ด้วยการระดมตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วย Antigen Test Kit (ATK) ก่อนจะไปถึงการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ซึ่งตัวอย่างที่ได้ดำเนินการไปแล้วใน จ.นครปฐม คือการจัดตั้ง “Community Isolation Complex” แบบครบวงจรขึ้น สามารถตรวจหาเชื้อและนำเข้าสู่ระบบการรักษาได้ทันที เป็นโมเดลตัวอย่างที่ให้ชุมชนเป็นฐาน จัดวาง CI ขนาดเล็กที่กระจายไปในพื้นที่ระดับตำบลแล้วให้ชุมชนดูแลกันเอง

นอกจาก มินิ CI แล้ว สำหรับ "นครปฐมโมเดล" นั้น นพ.วิโรจน์ กล่าวถึงการดำเนินงานในปัจจุบันว่า มีการทำ CI ใหญ่ เป็นของจังหวัด จำนวน 600 เตียง แล้วให้แยกทำ CI ตำบล โดยให้ อบจ.ดำเนินการ ทำเรื่องงบประมาณ ร่วมมือกับภาคประชาสังคมรับคนไข้ที่ผล ATK เป็นบวก รับผู้ป่วยเข้าระบบ โดยมีโรงเรียนเอกชนในจังหวัดร่วมมือ เชื่อมต่อกับโรงพยาบาล ส่วนท้องถิ่นก็ทำภารกิจ CI และคัดกรอง

"โรงพยาบาลต้องเข้ามาช่วยบ้างในด้านการมอนิเตอร์ ตอนกลางวันยังใช้ Day time แต่ในส่วนกลางคืนหรือคนไข้ที่อาการหนักต้องส่งโรงพยาบาลเร่งด่วน CI ต้องสามารถประสานกับเจ้าหน้าที่ให้รถไปรับผู้ติดเชื้อเข้ามารับการรักษาได้ทันที"

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การระบาดใน จ.นครปฐม ยังคงรุนแรง และมีบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะพยาบาลต้องติดเชื้อไปจำนวนหลายคน จนหน้างานหรือคนที่ทำงานด่านหน้าขาดแคลน จึงต้องขอให้คณะพยาบาลเข้ามาร่วมดูแล

"ตอนนี้บุคลการทางการแพทย์ไม่เพียงพอ เราได้รับความร่วมมือจาก สถาบันการศึกษาเอกชน คือพยาบาลจาก มหาวิทยาลัยคริสเตียน และคณะพยาบาลจากราชภัฎนครปฐม เข้ามาช่วยเหลือ ในขณะที่ความเป็นห่วงคือ ผมกลัวว่าสถานการณ์จะบานปลายไปมากกว่านี้เพราะเชื้อเดลต้าติดง่ายระบาดง่าย จากเดิมที่ดูอาการ 7 วัน แต่สายพันธุ์เดลต้าใช้เวลาเพียงแค่ 3 วัน โดยที่เป็นห่วงคือประชาชนยังคงไปเดินตามตลาดนัด ซึ่งควรจะซื้อของแล้วรีบกลับเลย แต่ก็ยังเดินเลือกดูสินค้าอยู่ ตรงนี้น่าเป็นห่วง" นพ.วิโรจน์ กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง