ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ยอมรับว่ามาตรการปิดเกาะห้ามเข้าภูเก็ตทุกช่องทาง จากภายในประเทศที่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 3-16 ส.ค.ยกเว้นผู้ได้รับยกเว้น อาจมีผลกระทบต่อกลุ่มแซนด์บ็อกซ์ในแง่ของครอบครัวและเพื่อนที่ตั้งใจจะเดินทางเข้ามาพบกันที่ภูเก็ต เช่นเดียวกับประกาศห้ามบินภายในประเทศในพื้นที่สีแดงที่ส่งผลให้นักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งซึ่งมีแผนจะเดินทางต่อไปที่อื่นในประเทศไทย เช่น กรุงเทพ เชียงใหม่ ต้องประสบปัญหาในการเดินทาง ขณะที่การเดินทางโดยรถก็ลำบาก โดยกลุ่มนี้จะมีอยู่ประมาณ 20 % ซึ่งกำลังหาทางแก้ไขอยู่ เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดในช่วงนี้รัฐบาลไม่อยากให้มีการเคลื่อนย้าย

“ตอนนี้ยอดผู้ติดเชื้อในภูเก็ตเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 30 คนต่อวัน ซึ่งโดยส่วนตัวผมห่วงความปลอดภัยของคนที่เป็นพี่น้องผมเป็นหลัก เพราะถ้าความปลอดภัยไม่มี ต่อให้แซนด์บ็อกซ์เดินต่อไปมันก็เดินแบบไม่มีคนเข้า ต้องเอาเรื่องความปลอดภัยก่อน ถ้าคนในบ้านปลอดภัยแซนด์บ็อกซ์ก็จะดีเอง ส่วนอนาคตมาตรการที่กล่าวมาจะทำให้บุ๊คกิ้งชะลอลงหรือไม่ หากอิงจากข้อมูลเดือนก.ค.ก็อาจจะมีผลประมาณ 20 %”

ทั้งนี้ล่าสุด จังหวัดภูเก็ตได้มีการจัดแซนด์บ็อกซ์ เอ็กซ์เพรส บัส สำหรับให้บริการผู้โดยสารในโครงการ รวมถึงผู้ติดตามและสมาชิกครอบครัว เพื่อเดินทางไปยังปลายทางสนามบินสุวรรณภูมิ โดยจองผ่าน Sha+ Manager เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 4 – 16 ส.ค.

เมื่อถามถึงความเสี่ยงในการยุติโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต เผยว่า ถ้าเปรียบโครงการนี้เป็นธุรกิจก็มีอยู่ 3 หุ้น คือ ราชการ ผู้ประกอบการ และประชาชน ถ้าผู้ถือหุ้นไม่ถอนหุ้นก็ยังเดินไปต่อ ซึ่งด้วยสถานการณ์ตอนนี้ยังไม่มีความเสี่ยง แต่จังหวัดก็อยู่ในขั้นเฝ้าระวังไม่ได้ตายใจแต่อย่างใด โดยการเตรียมแผนต้องทำอะไรบ้าง หนึ่งในนั้น คือ การตั้งเงื่อนไขในการเดินทางเข้า-ออกสูงขึ้น ซึ่งบางอย่างเป็นการป้องกันไว้ก่อนไม่ต้องรอให้เกิดความเสียหายแล้วมานั่งแก้ไขภายหลัง

ด้านนพ.กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ยืนยันแม้จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในภูเก็ตจะเกิน 90 คนต่อสัปดาห์แล้ว แต่ไม่ได้มีความเสี่ยงมาจากโครงการแซนด์บ็อกซ์ เพราะพบนักท่องเที่ยวติดเชื้อแค่ 34 คน จากทั้งหมด 14,910 คน (ข้อมูลณ วันที่ 1 ส.ค.) คิดเป็น 0.22 % เท่านั้น โดยส่วนที่เกินมาจากผู้ติดเชื้อภายใน จึงต้องเพิ่มมาตรการคัดกรองเข้มข้นขึ้น เพื่อหยุดการเคลื่อนไหวและป้องกันการนำเชื้อมาจากข้างนอกยากขึ้น และเคลียร์ภายในให้มากที่สุด

นอกจากนี้ ยังมีการประสานให้ศูนย์ต่างประเทศของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตเข้ามาช่วยจัดการและสื่อสารกับนักท่องเที่ยวในกรณีตรวจพบเชื้อโควิดหรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ต้องกักตัว หลังจากมีนักท่องเที่ยวติงผ่านกลุ่มภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เรื่องการไม่มีเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษและให้ความชัดเจนได้อย่างที่ต้องการ ซึ่งการสื่อสารกับผู้ติดเชื้อแต่ละคนอาจจำเป็นต้องใช้เวลานาน