ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จับมือกับ มูลนิธิพุทธธรรม 31 โคราช เปลี่ยนรถตู้โยสารธรรมดาเป็น ห้องความดันลบ เคลื่อนที่ ด้วยต้นทุนเพียง 30,000 - 50,000 บาท เพื่อเพิ่มศักยภาพขนย้ายผู้ป่วยโควิด-19  ทั้งช่วยลดความเสี่ยงติดเชื้อแก่ผู้ขับรถ

ผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ระบาดสูง จนเป็นเหตุมีเตียงรองรับไม่เพียงพอ จึงเกิดแนวทางนำผู้ป่วยจากพื้นที่เสี่ยงกลับภูมิลำเนา ซึ่งรถรับส่งผู้ป่วยนั้นต้องออกแบบให้สามารถสร้างความปลอดภัยและป้องกันการติดเชื้อแก่คนขับด้วย ทางสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ซึ่งมีประสบการณ์สร้างห้องความดันลบเพื่อรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ จึงนำความเชี่ยวชาญดังกล่าวมาดัดแปลงรถตู้ธรรมดาให้กลายเป็นรถรับส่งผู้ป่วยได้ด้วยต้นทุนเพียง 30,000 - 50,000 บาท

นครราชสีมา: สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ร่วมมือกับมูลนิธิพุทธธรรม 31 นครราชสีมา ดัดแปลงรถตู้โดยสารขนาด 9 ที่นั่ง ให้เป็น “รถตู้โดยสารความดันลบ” เพื่อรับส่งผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการเพียงเล็กน้อยและยังไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจให้กลับไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนา ทำให้ทางมูลนิธิฯ ซึ่งมีหน่วยกู้ภัยฮุก 31 นครราชสีมา สามารถรับผู้ป่วยจากพื้นที่เสี่ยงกลับภูมิลำเนาได้มากขึ้น 

นายพิสิษฐ์ พงษ์ศิริศุภกุล เลขาธิการมูลนิธิพุทธธรรม 31 นครราชสีมา กล่าวว่า “รถตู้โดยสารความดันลบคันนี้เป็นรถต้นแบบคันแรก และสามารถเปิดเครื่องปรับอากาศเพื่อความเย็นสบายแก่ผู้ป่วยระหว่างเดินทาง จึงเพิ่มเที่ยวในช่วงกลางวันได้ และจากเดิมลำเลียงผู้ป่วยได้เที่ยวละ 4 คน เพิ่มขึ้นเป็นเที่ยวละ 9 คน ทำให้จำนวนรอบในการรับส่งผู้ป่วยลดลง คนขับจึงเหนื่อยล้าน้อยลง ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ และมีความปลอดภัยในการเดินทางมากขึ้น หากสถานการณ์การแพร่ระบาดยังคงรุนแรง ทางมูลนิธิฯ ยังมีรถตู้ที่พร้อมดัดแปลงเป็นรถตู้โดยสารความดันลบทั้งหมด 4 คัน”

ด้านนายเกริกฤทธิ์ สิทธิศาสตร์ วิศวกรเครื่องกลสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า “รถตู้โดยสารความดันลบนี้ประยุกต์จากการพัฒนาและสร้างห้องแยกโรคความดันลบ สำหรับโรงพยาบาลสนาม ที่สถาบันฯ ได้ต่อยอดจากความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีสุญญากาศ เทคโนโลยีระบบควบคุมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง โดยการดัดแปลงรถตู้โดยสารได้ออกแบบให้มีการปิดกั้นแยกห้องระหว่างคนขับและผู้โดยสารเพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อนของเชื้อไวรัส และห้องผู้โดยสารติดตั้งระบบดูดอากาศผ่านแผ่นกรอง HEPA filter ที่ใต้เบาะผู้โดยสารด้านหลัง เพื่อให้มีความดันต่ำกว่าความดันบรรยากาศและป้องกันเชื้อไวรัสกระจายสู่ภายนอก ทั้งนี้มีต้นทุนในการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ประมาณ 30,000 - 50,000 บาท”

ก่อนหน้านี้ สถาบันฯ ได้นำความเชี่ยวชาญที่สั่งสมมากว่า 20 ปี ทางด้านเทคโนโลยีสุญญากาศ เทคโนโลยีระบบควบคุมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง มาพัฒนาและสร้างห้องแยกโรคความดันลบสำหรับโรงพยาบาลสนาม และตู้สำหรับตรวจและคัดกรองผู้ป่วยติดเชื้อแบบความดันบวก และได้มอบให้แก่โรงพยาบาลและหน่วยงานที่ต้องการ อาทิ โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โรงพยาบาลเทพรัตน์นครราชสีมา โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และเรือนจำกลางคลองไผ่ จ.นครราชสีมา