ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เผยความสำเร็จผลิต “ยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์” ให้เด็กและผู้ใหญ่ที่ไม่สามารถกลืนยาเม็ดได้ พร้อมเปิดลงทะเบียนขอรับยาผ่านเว็บไซต์ https://favipiravir.cra.ac.th ตั้งแต่วันที่ 6 ส.ค. 64 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ แต่การใช้ต้องแพทย์สั่งเท่านั้น เพราะต้องติดตามอาการผลข้างเคียง และยานี้ต้องใช้ภายใน 30 วัน พร้อมเดินหน้าหาความร่วมมือ รพ.อื่นๆ ช่วยผลิตร่วมกัน เหตุจุฬาภรณ์ผลิตให้ผู้ป่วยได้เพียงสัปดาห์ละ 100 ราย หรือวันละ 20 ราย

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 5 ส.ค. 2564 นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ แถลงข่าวผ่านระบบออนไลน์กรณีการชี้แจงข้อมูลผ่านช่องทางออนไลน์การพัฒนาและคิดค้นสูตร“ตำรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์” สำหรับผลิตในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ (Hospital preparation) ต้านเชื้อไวรัสสำหรับเด็ก และผู้ป่วยที่มีความลำบากในการกลืนยาเม็ด ตำรับแรกในประเทศไทย ว่า ปัจจุบันการระบาดโควิดเพิ่มขึ้นมาก และผู้ติดเชื้อในเด็กก็มาก ขณะที่วัคซีนในเด็กยังไม่เป็นที่รับรองอย่างกว้างขวาง ซึ่งเมื่อเด็กได้รับเชื้อก็จะไปแพร่เชื้อในผู้ใหญ่ได้ และสิ่งที่เป็นห่วงคือ แม้จะได้รับวัคซีนและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีการกระจายการฉีดแม้จะช้านิด แต่ก็ไปได้ อย่างไรก็ตามจะมีการติดเชื้อไประยะหนึ่ง

ดังนั้น สิ่งสำคัญในการป้องกันไม่ให้คนรับเชื้อแล้วและมีอาการหนัก และเสี่ยงเสียชีวิต สิ่งที่ทำได้คือ การใช้ยา ซึ่งยามีแนวโน้มใช้ได้ในโลกนี้มีไม่กี่ตัว โดยยาฟาวิพิราเวียร์ มีการพิสูจน์แล้วว่า ใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งญี่ปุ่นเป็นประเทศต้นผลิตใช้กันมานานแล้ว ขณะที่ตอนมีการระบาดของอีโบลาก็มีการนำไปใช้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ขณะเดียวกันโรคโควิดก็มีรายงานว่า หากได้ยาเร็วภายใน 4 วันหลังมีอาการจะลดอาการหนักจนต้องเข้ารพ. และน่าจะลดการเสียชีวิตได้ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการดูแลโรคได้ ณ ขณะนี้

 

นพ.นิธิ กล่าวว่า จึงเป็นที่มาที่ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ทรงเป็นห่วงและติดตามสถานการณ์มาตลอด และทรงเป็นห่วงประชาชน โดยเฉพาะเด็กเล็กๆ เมื่อป่วยจะใช้ยาก็ลำบาก จึงมีการพูดคุยหารือกันระหว่างจุฬาภรณ์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท เมดิกา อินโนวา จำกัด เพื่อผลิตยาในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ (Hospital preparation) ซึ่งยาตัวนี้ทางเภสัชฯ สามารถทำเป็นยาน้ำได้ และเหมาะกับเด็กที่ไม่สามารถกลืนยาเม็ด แต่การจะทำยาตัวนี้ให้ได้ผล เราได้คำนึงถึงประสิทธิภาพ ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยการทำไปทั้งหมดก็เพื่อช่วยเด็ก หรือผู้ใหญ่ที่ไม่สามารถกลืนได้ ก็จะได้รับยาอย่างรวดเร็ว

พญ.ศรัยอร ธงอินเนตร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กล่าวว่า การใช้ยาต้านไวรัส เป็นหัวใจสำคัญในการลดความรุนแรงของโรค โดยยาฟาวิพิราเวียร์ มีการเริ่มใช้ในญี่ปุ่น กรณีใช้ในโรคไข้หวัดใหญ่ อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคโควิดจะใช้ในขนาดที่มากพอสมควร โดยวันแรก 70 มก./กก./วัน วันต่อมาใช้ 35 มก./กก./วัน แบ่งรับประทานวันละ 2 ครั้ง ดังนั้น หากเด็ก 10 กก.จะต้องทานถึง 1 เม็ดกับอีก 3 ส่วน 4 เม็ด แต่หากใช้เป็นยาน้ำจะป้อนเด็กได้ง่ายขึ้น โดยวันแรกจะใช้ 27 cc ต่อครั้ง วันละ 2 ครั้ง และวันต่อมาจะใช้ 12 cc หรือ 3 ส่วน 4 เม็ด

พญ.ครองขวัญ เนียมสอน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์ กล่าวว่า จากการระบาดที่ผ่านมามีเคสเด็กติดเชื้อทางเดินหายใจมากขึ้น โดยเฉพาะเดือน ก.ค. ยอดขึ้นไป 2-3 เท่า นอกจากนี้ ยังพบว่าด้วยสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์ เคสเด็กก็มีอัตราการเกิดโควิดติดเชื้อ หรือเชื้อลงปอดเพิ่มมากขึ้น จากเด็กมีการติดเชื้อ 50% เพิ่มเป็น 80-90% เมื่อมีการติดตามการรักษา แต่ยังสบายใจตรงที่อาการเด็กเบากว่าผู้ใหญ่ โดยเด็กปอดติดเชื้อยังไม่ต้องการออกซิเจนมากเท่าไหร่ ยังคงออกซิเจนในเลือดได้เกิน 95-96%เป็นส่วนใหญ่

พญ.ครองขวัญ กล่าวอีกว่า สำหรับข้อเปรียบเทียบการใช้บดยาเม็ด และยาน้ำนั้น ข้อดีของยาเม็ดบดละลายน้ำ อาจทำให้บดและเจือจางในน้ำได้ในปริมาณที่เราต้องการ แต่ข้อเสียเราจะไม่สามารถทราบได้ว่า มีตะกอนยาที่ตกค้าง ทำให้ได้รับปริมาณยาไม่คงที่ และเมื่อบดได้ไม่ละเอียดก็จะมีรสชาติขมติดลิ้นหลังกลืนยา ทำให้อาจมีการอาเจียนได้ ส่วนยาน้ำข้อดีมีปริมาณยาคงที่ ทำให้เด็กได้รับการดูดซึมยาอย่างดี แต่มีปริมาตรยามากกว่ายาน้ำทั่วไป เช่น ในเด็กน้ำหนัก 10 กก. ปกติจะป้อนยาประมาณ 1 ช้อน หรือ 5 cc โดยวันแรกจะได้รับยาค่อนข้างมาก แต่วันถัดไปก็จะกินยาไม่แตกต่างยาน้ำเด็กตำรับทั่วไป

“ขณะนี้มีการทดลองใช้จริงในคนไข้เด็ก และมีการสังเกตอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งเปรียบเทียบกับยาบดละลายน้ำ โดยเราให้เด็กช่วงอายุ 8 เดือน -5 ปี จำนวน 12 ราย โดยพบว่าตอบสนองต่อการรักษาได้ดี และไม่พบผลข้างเคียงร้ายแรง มีเพียงเด็ก 8 เดือนที่อาจมีการแหวะยาในช่วงแรก แต่ปริมาณน้อย คือ 1 cc นอกนั้นสามารถรับยาได้หมด” พญ.ครองขวัญ กล่าว

พญ.ครองขวัญ กล่าวถึงอาการโควิดในเด็ก ว่า อาการทั่วไป มีไข้ หรือออกผื่น ซึ่งอาจขึ้นใบหน้า หรือลำตัว อาจมีอาการนอกเหนือจากนี้ เช่น ทางเดินอาหาร เบื่ออาหารคล้ายเด็กเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ มีอาการถ่ายเหลวได้ อาการนี้อาจนำมาร่วมกับการสัมผัสผู้ป่วย ดังนั้น หากเด็กมีอาการก็อย่านิ่งนอนใจ อาจเป็นโควิดได้ ซึ่งเด็ก 1 คนอาจมีอาการเหล่านี้ได้ภายใน 1-3 วัน จึงอาจต้องมีการตรวจ ส่วนอาการอาจอยู่นานประมาณ 1-2 สัปดาห์ในเด็กไม่มีโรคประจำตัว หากได้รับยานี้ เบื้องต้นแนะนำให้ยาเป็นเวลา 5 วัน โดยวันแรก หรือยา 2 มื้อแรก ต้องรับยาค่อนข้างมากมากตามที่กำหนด คือ 4 เท่าของปริมาณปกติ เพื่อให้ระดับยาในเลือดสูงขึ้นเพียงพอต่อการแข็งตัวของไวรัส จากนั้นให้เป็นไปตามข้อกำหนด และต้องติดตามใน 4 วัน และต่อเนื่อง

พล.อ.ต.นพ.สันติ ศรีเสริมโภค รองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า การให้ยาในรพ.จะไม่มีปัญหา โดยมีข้อบ่งชี้เป็นผู้ป่วยเด็ก หรือผู้สูงอายุที่ไม่สามารถกินอาหารได้เอง และต้องมีผลตรวจเชื้อโควิดด้วยแอนติเจน เทสต์คิท ก่อน หากเป็นบวกก็ให้ยา จากนั้นค่อยคอนเฟิร์มด้วยการตรวจแบบ RT-PCR แต่เรามองภาพไปยังคนไข้คนอื่นที่ไม่ใช่ของ รพ.จุฬาภรณ์ จึงได้วางแผนว่า จะหาหน่วยบริการอื่นๆมาร่วมมือ ทั้งการให้ยา ติดตามคนไข้ และอนาคตอาจให้ร่วมผลิตในรพ. เพราะผลิตได้ อย่างไรก็ตา จะให้มีการขอยารับยาได้ในวันที่ 6 ส.ค.นี้ ผ่านเว็บไซต์ https://favipiravir.cra.ac.th โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ เนื่องจากได้รับการสนับสนุนมูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ ในพระอุปถัมภ์

ทั้งนี้ โดยสถานพยาบาลอื่นๆหรือแพทย์สามารถขอมาทางราชวิทยาลัยได้ แต่ระยะแรกสามารถผลิตยาได้ไม่มากประมาณ 100 รายต่อสัปดาห์ หรือ 20 รายต่อวัน และจะได้ยาภายใน 1 วัน หลังจากลงทะเบียนกรอกข้อมูลเรียบร้อย และจะจัดยาไม่เกินเวลา 20.00 น.ของทุกวัน ซึ่งค่าใช้จ่ายในการจัดส่งอาจต้องรับผิดชอบเอง หรือประสานผู้ร่วมมือจัดส่งให้ อย่างไรก็ตาม ท่านสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการให้เพื่อก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน ร่วมบริจาคสมทบทุนเพื่อต้านภัยโควิดกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ที่ บัญชีธนาคารทหารไทยธนชาติ ชื่อบัญชี มูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ ในพระอุปถัมภ์ฯ เลขที่บัญชี 236-1-00491-0

นพ.นิธิ กล่าวย้ำว่า สิ่งสำคัญยาน้ำตัวนี้ต้องเป็นแพทย์สั่งเท่านั้น เพราะต้องติดตามอาการข้างเคียง ต้องติดตามทั้งผลดี ผลข้างเคียงได้อย่างเป็นระบบ ดังนั้น หากมีแพทย์สั่ง ทางราชวิทยาลัยฯสามารถจัดส่งได้ โดยหากตรวจโควิดเบื้องต้นแล้วบวก ก็ต้องให้ยาเร็ว แต่เราจะมีการกำหนดช่วงเวลาในการขอ และจะจัดยาให้ตามช่วงเวลา ทั้งนี้ หากใครจะนำตำรับยาเราไปผลิต รพ.ที่อื่นๆ โดยราชวิทยาลัยไปช่วยควบคุมมาตรฐาน ทางเราก็ยินดี เพราะสถานการณ์ระบาดรุนแรงจึงจำเป็นต้องช่วยกัน แต่การผลิตต้องมีขั้นตอนตามมาตรฐานด้วย และยาตัวนี้เมื่อให้ไปแล้ว ต้องรับประทานให้หมดภายใน 30 วัน จึงไม่สามารถเก็บได้นาน แต่ขณะนี้ทางเภสัชฯ ก็จะมีการวิเคราะห์และเก็บข้อมูลต่อไป

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

เรื่องที่เกี่ยวข้อง