ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19 ในพื้นที่ กทม.ซึ่งมีตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นว่า ผู้ป่วยในสัปดาห์ที่ผ่านมาทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 2,000 ราย และเมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเป็น 3,000 ราย ล่าสุดวันที่ 6 ส.ค.จำนวน 4,000 ราย ซึ่งค่อนข้างจะสูง ประกอบกับการตรวจเชิงรุกค่อนข้างจะมาก และพยายามที่จะค้นหาผู้ป่วย โดยใช้ทั้ง ATK และ RT- PCR เพิ่ม ดังนั้นคาดว่าช่วงเดือนส.ค.นี้ตัวเลบจำนวนผู้ติดเชื้อจะมีค่อนข้างมากอย่างแน่นอน ดังนั้นกทม.จึงต้องดำเนินการใน 3 ด้านโดยเร่งด่วน

โฆษกกทม.กล่าวว่าสิ่งที่ต้องทำมีอยู่ 3 อย่าง อย่างแรกคือลดอัตราการเคลื่อนไหว โดยกทม.ร่วมกับศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ลดอัตราการเคลื่อนไหว มีการออกมาตรการที่มีความเข้มข้นต่างๆ ไม่ว่าจะปิดสถานที่สำคัญ การห้ามเคลื่อนย้ายคน เป็นสิ่งที่ต้องทำภายใน 1-2 เดือนนี้ อย่างที่ 2 คือการรองรับสถานการณ์ซึ่งมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากเยเพิ่มศักยภาพการรองรับของสถานพยาบาล จากเดิมบางแห่งรับผู้ป่วยสีเขียว บางแห่งรับเหลือง บางแห่งรับผู้ป่วยสีแดง แต่ได้ปรับเปลี่ยนให้ทุกโรงพยาบาลของ กทม.รับผู้ป่วยสีเหลืองและแดงทั้งหมด โดยสีเขียวให้เป็น Home Isolation (HI) ถ้าไม่สามารถ HI ได้ ก็จะให้ไปที่ Community Isolation (CI) โดยเพิ่มศักยภาพเป็นศูนย์พักคอยกึ่งโรงพยาบาลสนามหรือ ที่เรียกว่า CI Plus มีอยู่ประมาณ 7 แห่ง สิ่งที่ 3 คือการฉีดดวัคซีน

“ตอนนี้เราได้รับการจัดสรรวัคซีน AZ มาพร้อมแล้ว 175,000 โดส ที่จะใช้ใน 25 จุด และบางส่วนที่สำนักอนามัยใช้ในการควบคุมโรค จะใช้ฉีดให้กับประชาชนทั่วไปที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ในวันที่ 7-10 ส.ค.นี้ในเบื้องต้น โดย 4 วันฉีดวันละ 4 หมื่นกว่าโดส อีกส่วนคือผู้สูงอายุหรือมีปัจจัยเสี่ยงเช่นคนท้อง โดยที่ผ่านมาการลงทะเบียนนั้นผู้สูงอายุถนัดการโทรศัพท์มากกว่าใช้แอพ กทม.ก็ได้ร่วมกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เป็นศูนย์ประสานงานฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุ มี 40 คู่สายคอยรับโทรศัพท์และการจองให้ผู้สูงอายุ โดยวันแรกๆจะมีประมาณ 1 พันกว่าราย ในสถานการณ์ที่คาดว่าจะมีผู้ป่วยมากที่สุดในเดือนนี้" ร.ต.อ.พงศกร กล่าว

โฆษก กทม. กล่าวอีกว่า ศูนย์พักคอยในการดูแลของ กทม.ขณะนี้มีทั้งหมด 65 แห่ง สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 8,625 ราย ใน 65 แห่งนี้ได้มีการยกระดับให้มีอุปกรณ์ช่วยเหลือมากขึ้นที่เรียกว่า CI Plus ทั้งหมด 7 แห่ง รองรับผู้ป่วยสีเหลืองได้อีก1,036 เตียง โดยยังมีทีม CCRT ลงไปในชุมชนเพื่อคัดกรอง ถ้าพบว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงก็จะทำการฉีดวัคซีนให้ทันที

ด้าน พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กล่าวว่า รูปแบบในการบริหารจัดการช่วยเหลือผู้ติดเชื้อเป็นเรื่องใหม่ทุกวัน ความรู้ต่างๆ ค่อยๆ พัฒนามาตามประสบการณ์ จากที่ผู้ป่วยต้องเข้าโรงพยาบาลอย่างเดียว ถึงขณะนี้ปริมาณคนไข้มีเป็นจำนวนมาก คนไข้ที่มีความแข็งแรงไม่จำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาลสามารถดูแลตัวเองได้ที่บ้าน เข้า HI เป็นการทำความเข้าใจกับประชาชนว่ามาฉีดวัคซีน มีภูมิต้านทาน ติดเชื้อได้แต่ต้องไม่รุนแรง เป็นสิ่งที่อยากให้ประชาชนเข้าใจ

"ในช่วงที่ทุกคนอยู่บ้านก็เป็นโอกาสที่ดีที่เราเข้าไปให้ความรู้กับประชาชน และนำวัคซีนไปให้กับกลุ่ม 608 เป็นกลุ่มที่เราต้องดูแลเป็นอย่างดีเพราะกลุ่มนี้มีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงของโรคมาก ต้องนำวัคซีนไปให้คนกลุ่มนี้ถึงที่บ้านเพื่อจะได้ลดการเดินทางไม่ต้องมาหาที่ฉีดวัคซีน และทลายความกลัวในเรื่องการฉีดวัคซีน เมื่อเราไปฉีดวัคซีนหน้าบ้านเขาก็รู้สึกผ่อนคลาย ทำให้ได้รับการบริการวัคซีนได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ถ้ามีความเสี่ยงเราก็ตรวจ ATK ให้ด้วย เพื่อให้เห็นว่าถ้าเป็น Home Use ก็สามารถตรวจ ATK ได้ที่บ้าน ก็จะเป็นการเปลี่ยนผ่านการบริหารจัดการที่เราจะอยู่กับโรคนี้ต่อไป"

ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม.กล่าวว่า จำนวนผู้ป่วยสีเขียวซึ่งกักตัวอยู่บ้าน หรือ HI มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น การประเมินที่น่าพอใจคือได้รับยาเร็ว สองได้รับอาหาร สามมีการโทรศัพท์ติดตามทำให้ไม่รู้ว้าเหว่ ส่วนศูนย์พักคอยในชุมชน หรือ CI ก็มีประชาชนเข้าไปอยู่กันเพิ่มมากขึ้น เมีการบริหารจัดการที่ดีมากขึ้น ต้องประเมินกันเป็นระยะๆ ว่ายังมีข้อต่อไหนที่ยังติดขัด