ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส. ถอดรหัสความสำเร็จสถานประกอบการสร้างเริมสุขภาพกว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศ ช่วยยกระดับสุขภาพให้พนักงานกว่า 3 แสนคน มีสุขภาพที่ดีขึ้น ลดสูบ-ลดดื่ม เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน พนักงานลา-ป่วย ลดลง วิกฤตโควิด-19 แรงงานตื่นตัว เลิกสูบ ลดเสี่ยงมากขึ้น 

วันที่ 9 สิงหาคม ดร.ศันสนีย์ กีรติวิริยาภรณ์ ผู้จัดการโครงการส่งเสริมการขยายฐานการสร้างเสริมสุขภาพในสถานประกอบการ  ในฐานะอุปนายกสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวในงานมหกรรมสถานประกอบการสร้างเสริมสุขภาพออนไลน์ จัดโดยสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (ส.พ.ส.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า โครงการพัฒนาสถานประกอบการสร้างเสริมสุขภาพ สนับสนุนโดย สสส. มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพ คือ ลด ละ เลิก ปัจจัยเสี่ยง บุหรี่ เหล้า การพนันและอุบัติเหตุในสถานประกอบการทั่วประเทศไทย ซึ่งได้จัดทำโครงการร่วมกับ สสส. ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน เข้าสู่โครงการระยะที่ 4 โดยมีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการกว่า 2,058 แห่งทั่วประเทศ ในจำนวนนี้ สามารถผลักดันให้เป็นสถานประกอบการต้นแบบปลอดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ 321 แห่ง โดยมีการถอดบทเรียนความสำเร็จเป็นโมเดล 4 ขั้นตอน ประกอบด้วย 1.การทำงานเป็นระบบ 2.การสร้างความมีส่วนร่วมระหว่างพนักงาน สถานประกอบการ และ และ หน่วยงานด้านสุขภาพในพื้นที่ 3.การดำเนินงานแบบครบวงจร  และ 4.การทำงาน ติดตามผลอย่างต่อเนื่อง

“ผลสำเร็จของโครงการฯ สามารถผลักดันให้พนักงานในสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการสามารถเลิกบุหรี่ได้มากกว่า 3,000 คน เลิกสุราได้กว่า 1,000 คน ซึ่งการเลิกยาเสพติดของพนักงานเหล่านี้ ยังส่งผลกระทบต่อการดูแลสุขภาพพนักงานอีกกว่า 300,000 คน การดำเนินงานในระยะต่อไปตั้งเป้าเป็นสะพานเชื่อมระหว่างสถานประกอบการ และหน่วยงานด้านสุขภาพในพื้นที่ ช่วยการขับเคลื่อนการรณรงค์แก้ไขปัญหาการสูบบุหรี่ในสถานประกอบการในต่างจังหวัดมากขึ้น รวมถึงสร้างความร่วมมือกับนิคมอุตสาหกรรมเพื่อผลักดันให้มีนิคมอุตสาหกรรมปลอดบุหรี่และอบายมุขต่อไป” ดร.ศันสนีย์ กล่าว

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้พนักงานในสถานประกอบการเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ ประกอบด้วย 1.การให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายที่มีต่อสุขภาพจากการสูบบุหรี่ 2.เจ้าของสถานประกอบการต้องมีความเข้มงวดในการปฏิบัติตามกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่สถานประกอบการ 3.สถานประกอบการขนาดใหญ่ควรจัดให้มีหน่วยบริการสุขภาพให้คำแนะนำ รักษา เพื่อเลิกสูบบุหรี่ หรือจัดยาเลิกบุหรี่ให้กับพนักงาน ทั้งนี้ การร่วมกันสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้ปลอดบุหรี่ และการออกกฎข้อบังคับที่เข้มงวด มีโอกาสที่จะช่วยลดการสูบบุหรี่ในสถานประกอบการลงได้ และทำให้ผู้ต้องการเลิกบุหรี่มีโอกาสเลิกได้สำเร็จมากขึ้น โดยมีงานวิจัยจากบริษัทผู้ผลิตบุหรี่ในสหรัฐอเมริกา พบว่าการออกกฎห้ามสูบบุหรี่ในที่ทำงาน ทำให้ยอดการจำหน่ายบุหรี่ลดลงกว่าร้อยละ 10  เพราะพนักงานเริ่มสูบบุหรี่น้อยลง และยังเพิ่มโอกาสในการเลิกบุหรี่ได้สำเร็จง่ายขึ้น ขณะที่สถานประกอบการในอังกฤษ ถือเป็นต้นแบบที่ดีในการสร้างแรงจูงใจให้พนักงานเลิกสูบบุหรี่ โดยมีสถานประกอบการจูงใจด้วยการเพิ่มวันลาพักร้อน 7 วัน เพื่อชดเชยให้กับผู้ที่ไม่สูบบุหรี่จะได้วันลาพักร้อนเพิ่มขึ้น

นางวีณา กรแก้ว ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ทสึจิย่า (ประเทศไทย) จำกัด  กล่าวว่า บริษัทได้เข้าร่วมโครงการสถานประกอบการสร้างเสริมสุขภาพเพราะให้ความสำคัญกับสุขภาพของพนักงานในองค์กร และ มองเห็นถึงปัญหาที่เกิดจากพิษภัยของการสูบบุหรี่ต่อตัวพนักงานเอง และสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีในสถานประกอบการ  โดยมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่สูบบุหรี่ภายในสถานประกอบการให้อยู่ไกลจากพื้นที่ทำงาน ทำให้การสูบุหรี่ในระหว่างเวลางานทำได้ยากขึ้น พร้อมกับรณรงค์ให้ความรู้ และจัดกิจกรรมด้านสุขภาพ โดยพบว่าพนักงานที่เข้าร่วมโครงการฯ สามารถเลิกบุหรี่ได้จริง พนักงานป่วยน้อยลง ลางานน้อยลง สมรรถนะในการทำงานดีขึ้น ผลผลิตในองค์กรดีขึ้น นอกจากนี้ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้พนักงานหันมาดูแลใส่ใจสุขภาพมากขึ้น พนักงานตระหนักถึงโทษของการสูบบุหรี่มากขึ้น เพราะการสูบบุหรี่อาจทำให้แพร่ชื่อ หรือติดเชื้อโควิดได้ง่ายขึ้น ในรายที่สูบบุหรี่และติดโควิด-19 อาจทำให้อาการหนักขึ้นจากร่างกายที่ไม่แข็งแรง โดยเฉพาะปอดที่ถูกทำลายจากบุหรี่