ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

พญ. ศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตระหนักถึงความสำคัญและคุณประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วย “นมแม่” ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ลูกมีความพร้อมในด้านสุขภาพท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19  โดยเฉพาะความพร้อมด้านภูมิคุ้มกันเพราะในน้ำนมแม่นอกจากจะมีภูมิคุ้มกันประเภทเซลล์เม็ดเลือดขาวที่คอยดักจับและย่อยสลายเชื้อโรคแล้ว ยังมีสารต่อต้านการติดเชื้อต่าง ๆ ที่สำคัญยังมีภูมิคุ้มกันที่ได้จากการทำงานของ จุลินทรีย์สุขภาพที่อยู่ในน้ำนมแม่ (human milk microbiome) ซึ่งจุลินทรีย์เหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างและกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในตัวของลูกให้มีความสมบูรณ์

“ในช่วงสัปดาห์นมแม่โลก และวันแม่แห่งชาตินี้ ขอเชิญชวนให้ทุกครอบครัวเห็นความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และการให้อาหารตามวัยที่เหมาะสม ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 3 ขวบ เพื่อสร้างความพร้อมด้านสุขภาพ โดยเฉพาะด้านภูมิคุ้มกัน ทำให้เด็กทารกแข็งแรง ไม่ป่วยบ่อย ยิ่งถ้าแม่เป็นโควิด-19 หรือได้รับวัคซีนโควิด-19 แล้ว ตัวของแม่ย่อมมีภูมิคุ้มกันโควิด-19 สามารถส่งต่อไปให้ลูกผ่านน้ำนมแม่ เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนโควิด-19 สำหรับเด็กทารกและเด็กเล็ก นมแม่จะทำหน้าที่เป็นวัคซีนเฉพาะกิจในยามวิกฤตให้กับลูก จึงถือเป็นทางเดียวที่จะได้รับภูมิคุ้มกันจากแม่ แม้ยังไม่มีผลการศึกษาแน่ชัด แต่ดีกว่าไม่มีเลย ดังนั้นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องช่วยกันส่งเสริมและสนับสนุนผลักดันให้เกิดสังคมนมแม่ขึ้นให้ได้” พญ.ศิริพร กล่าว

ศ.คลินิก พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร เลขาธิการศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า จุลินทรีย์สุขภาพที่อยู่ในน้ำนมแม่ คือจุลินทรีย์ทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในร่างกายของสิ่งมีชีวิตที่อยู่บนผิวหนัง ในเยื่อบุอวัยวะ เช่น ปาก-ทางเดินอาหาร เยื่อบุตา จมูก  ปอด และในสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย น้ำนมแม่ สารคัดหลั่งในช่องคลอด เป็นต้น จุลชีพเหล่านี้หากอยู่กันอย่างสมดุล จะช่วยดูแลปกป้องอวัยวะที่อาศัยอยู่ เช่น ส่วนที่อยู่ในน้ำนมแม่ จะช่วยในการปกป้องการรุกรานของจุลินทรีย์ก่อโรคในเยื่อบุทางเดินอาหาร ทางเดินหายใจ ช่วยย่อยสารอาหาร ช่วยเสริมสร้างและกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยจุลินทรีย์สุขภาพ ตั้งต้นที่อยู่ในร่างกายได้รับการถ่ายทอดมาจากแม่  โดยในระยะก่อนคลอด 3 เดือนสุดท้าย ทารกจะเริ่มกลืนน้ำคร่ำ ก็จะได้รับจุลินทรีย์จากในรก เมื่อคลอดออกมาจะมีปัจจัยอีกมากที่จะมีผลต่อ ชนิด สัดส่วน และความหลากหลายของจุลินทรีย์สุขภาพ เช่น วิธีคลอด การได้รับนมแม่ การได้อาหารตามวัย

ศ.คลินิก พญ.ศิราภรณ์ กล่าวต่อว่า จากการศึกษายังพบว่า ทารกที่คลอดธรรมชาติ และได้รับนมแม่อย่างต่อเนื่อง จะมีระบบภูมิคุ้มกันที่ดีกว่า มีโอกาสเป็นโรคอ้วนน้อยกว่าทารกที่คลอดด้วยวิธีการผ่าและไม่ได้รับนมแม่ เจ็บป่วยบ่อย และการได้รับยาปฏิชีวนะบ่อยก็มีผลต่อ ชนิด สัดส่วน และความหลากหลายของจุลินทรีย์สุขภาพ ที่สำคัญไม่ต้องไปโรงพยาบาลในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่มีความยากลำบาก ดังนั้น นอกจากนมแม่จะมีสารภูมิคุ้มกันทั้งระบบเซลล์ ระบบน้ำเหลือง และสาร bioactive factor ต่างๆ ที่ทราบมาอยู่นานแล้ว การให้ลูกกินนมแม่จะช่วยเสริมทัพจุลินทรีย์สุขภาพ โดยการศึกษาในประเทศสวีเดนพบว่า การส่งเสริมให้ลูกกินนมแม่จะช่วยลดจำนวนการติดเชื้อในศูนย์เลี้ยงเด็กแรกเกิด เช่น เป็นไข้ ท้องร่วงลดลง โดยจุลินทรีย์สุขภาพจะช่วยย่อยน้ำตาล สังเคราะห์ดูดซึมวิตามินแร่ธาตุ และช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของทารกให้มีความสมบูรณ์