ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณบดีศิริราชพยาบาล เผยข้อมูลตัวอย่างจัดการโควิดสายพันธุ์เดลตาใน 7 ประเทศ เห็นชัดประเทศไหนเคยยกเลิกสวมหน้ากากอนามัย กลับต้องออกกฎให้สวมใส่หน้ากากอนามัยเหมือนเดิม เหตุเดลตาระบาดหนักต่อเนื่อง! หนำซ้ำล่าสุดCDC ย้ำ! คนฉีดวัคซีนแล้วสามารถแพร่กระจายเชื้อให้คนอื่นได้ ใกล้เคียงกับคนที่ยังไม่ฉีด

เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงสถานการณ์โรคโควิด 19 ทั่วโลกจากสายพันธุ์เดลตาและการฉีดวัคซีน ผ่านระบบออนไลน์ ว่า สหประชาชาติระบุว่าสายพันธุ์เดลตาแพร่เชื้อได้รวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ โดยวันที่ 2 ก.ค. พบกระจาย 98 ประเทศทั่วโลก แต่วันที่ 30 ก.ค. เพียง 28 วัน กระจาย 132 ประเทศ ใน 1 สัปดาห์มีคนติดเชื้อนี้เกือบ 4 ล้านคน บางพื้นที่ในโลกเพียง 1 เดือน คนติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 80% ขณะที่ข้อมูลในเวิล์ดโดมิเตอร์ถึงวันที่ 8 ส.ค. 2564 พบว่าจากการระบาดที่ลดลงก็เริ่มกลับขึ้นมาใหม่ ตอนนี้อยู่ที่ 5-7 แสนคนต่อวัน ใกล้เคียงช่วงที่มีวัคซีนใหม่ๆ แต่อัตราเสียชีวิตอยู่ที่ 7 พัน -1 หมื่นคนต่อวัน ยังเพิ่มขึ้นไม่เยอะเท่า เพราะมีวัคซีน ซึ่งคนฉีดแล้วลดอัตราเสียชีวิต ขณะนี้ถึงวันที่ 8 ส.ค. ฉีดแล้ว 4,400 กว่าล้านโดส ฉีดวันละประมาณ 42 ล้านโดส

 

(ข่าวเกี่ยวข้อง : “หมอประสิทธิ์” เผยโควิดไทยยังไม่ถึงจุดพีค! ต้องเข้มมาตรการทุกส่วน ยิ่งเจอเดลตา ยิ่งหนัก!)

00 สหรัฐ ประกาศให้กลับมาใส่หน้ากากอนามัย

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาในแต่ละประเทศ คือ 1.สหรัฐอเมริกา หลังฉีดวัคซีนสถานการณ์เริ่มดีขึ้น แต่ตอนนี้กลับขึ้นมาอีก มีการพบสายพันธุ์เดลตาในทุกรัฐและเพิ่มขึ้นรวดเร็ว โดยต้น มิ.ย. พบเดลตา 8-14% แต่เพียงเดือนเดียวพบเดลตาขึ้น 80-87% ตัวเลขติดเชื้อถึงหลักแสนต่อวัน แต่เสียชีวิตไม่เยอะคือไม่ถึง 500 รายต่อวัน ต่างจากช่วงก่อนฉีดวัคซีนที่ตาย 2-3 พันคนต่อวัน เป็นผลจากการฉีดวัคซีนไป 350 กว่าล้านโดส เป็นเข็มแรก 58% ครบ 2 เข็ม 50% ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา หรือ ซีดีซี (CDC) ประกาศให้ประชาชนกลับมาใส่หน้ากากแม้ฉีดวัคซีนครบแล้ว หลังจากที่ 11 สัปดาห์ก่อนประกาศว่าฉีดครบไม่ต้องใส่หน้ากาก ถือเป็นบทเรียนหนึ่ง รวมถึงประกาศให้ร้านค้า สถานประกอบการ หากใครเข้าใช้บริการให้ใส่หน้ากากด้วย และรัฐบาลกลางกำลังเร่งชวนฉีดวัคซีน เพราะมีคนจำนวนมากยังไม่ฉีด เดือนที่แล้วฉีด 1 เข็มแจกแฮมเบอร์เกอร์ เดือนนี้บางรัฐแจกเงิน 100 เหรียญ รวมถึงออกมาตรการบังคับบุคลากรหน่วยงานรัฐต้องรับการฉีดวัคซีน

 

00  CDC ย้ำคนฉีดวัคซีนแล้วแพร่กระจายเชื้อให้คนอื่นได้

"ข่าวจากวอยซ์ออฟอเมริกานิวส์ เมื่อวันที่ 31 ก.ค. รายงานว่า ซีดีซีย้ำว่าคนฉีดวัคซีนเรียบร้อยแล้วก็แพร่กระจายเชื้อให้คนอื่นได้ ใกล้เคียงกับคนที่ยังไม่ฉีด ซึ่งคนฉีดครบคงคิดว่าป้องกันตนเองจากการติดเชื้อ ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่แค่ป้องกันไม่ติดอย่างเดียว แต่อาจกระจายให้คนอื่นด้วย" ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว

 

00 อังกฤษเดลตาระบาด 90% บุคลากรการแพทย์หวั่นไวรัสหลุดจากระบบภูมิคุ้มกันของวัคซีน

2.อังกฤษ หลังฉีดวัคซีนอัตราติดเชื้อลดลง แต่เริ่มติดเชื้อกลับขึ้นมาใหม่ เป็นสายพันธุ์เดลตา 90% แทนที่อัลฟาแล้ว จากเดิมติดเชื้อเหลือ 2 หลัก ขึ้นมา 3-5 หมื่นรายต่อวัน อัตราเสียชีวิตยังต่ำ ซึ่งก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีอังกฤษประกาศวันอิสรภาพวันที่ 19 ก.ค. ว่า อังกฤษฉีดวัคซีนเยอะแล้ว เข็ม 1 ถึง 70% ครบ 2 โดส 60% ถึงเวลาเลิกใส่หน้ากาก มีชีวิตเหมือนก่อน ผับต่างๆ เปิด แต่คนอังกฤษไม่น้อยโดยเฉพาะผู้สูงอายุคุ้นเคยการใส่หน้ากาก ซึ่งการที่บางคนใส่ เชื่อว่ามีส่วนช่วยลดการติดเชื้อ ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์อังกฤษออกมาลงนามร่วมกันเสนอนายกฯ ท้วงติงระวังเรื่องฟรีดอมเดย์ เพราะกลัวการระบาดในคนไม่ใส่หน้ากาก ไม่เว้นระยะห่าง จะเกิดแพร่ระบาดใหม่ และกลัวกัน คือ vaccine resistant varient จากเชื้อกลายพันธุ์ หรือเรียกว่าไวรัสหลุดไปจากระบบภูมิคุ้มกันที่วัคซีนไปกระตุ้น

00 ฝรั่งเศสระดมฉีดวัคซีน ออกมาตรการเข้มคุมระบาด จับปรับ!

3.ฝรั่งเศส ระดมฉีด 77 ล้านโดส ฉีดวันละกว่า 5 แสนโดส เกือบ 70% ฉีดเข็ม 1 แล้ว ฉีดครบ 2 เข็ม 60% เจอการแพร่ระบาดสูงขึ้นจากเดลตาขึ้นมาเป็นหลักหมื่นราย ไม่มีท่าทีลง แต่อัตราเสียชีวิตยังเป็นสองหลัก ฝรั่งเศสประกาศตัวเองเข้าสู่การระบาดรอบที่ 4 ของเดลตา ให้ประชาชนใช้สถานบริการต่างๆ ต้องมี Healtj Pass 1 ใน 3 อย่าง คือ รับวัคซีน 2 โดสครบ หรือช่วงเวลาใกล้ๆ ตรวจแล้วไม่พบโควิด และมีหลักฐานว่าเพิ่งหาย และออกมาตรการปรับหากไม่ทำตามมาตรการ เดิมจะปรับ 4.5 หมื่นยูโร แต่มีการทักท้วงจึงเริ่มต้นปรับ 1.5 พันยูโร

 

00 อิตาลี ออกมาตรการ Health Certificate

4.อิตาลี ฉีดวัคซีน 71 ล้านโดส เป็นเข็มแรก 65.2% เข็มสอง 56.7% ติดเชื้อเพิ่มขึ้นประมาณ 6-7 พันคนต่อวัน แต่การเสียชีวิตตายต่ำ คือ 2 หลัก เนื่องจากสายพันธุ์เดลตา โดยวันที่ 22 มิ.ย. พบเดลตา 22.7% แต่เดือนเดียว วันที่ 20 ก.ค. พบเดลตาแพร่กระจายในอิตาลี 94.8% รัฐบาลออกมาตรการต้องมี Health Certificate คล้ายกับ health pass ของฝรั่งเศสในการเข้าใช้บริการ การเดินทางไปมาระหว่างประเทศ

 

00 อิสราเอล กลับมาใส่หน้ากากอนามัย ขณะที่ผอ.สาธารณสุขชี้ต้องล็อกดาวน์อีก!

5.อิสราเอล ฉีดวัคซีน 11.5 ล้านโดส เป็นเข็มแรก 64.1% และเข็มสอง 59.6% ปลายเดือนที่แล้วประกาศยุติการใส่หน้ากาก กลับมาใช้ชีวิตปกติ แต่หลังเปลี่ยนรัฐบาลพบมีการติดเชื้อเพิ่ม ซึ่งรัฐบาลใหม่ประกาศหากติดเชื้อถึง 3 หลักจะกลับมาใส่หน้ากาก ซึ่งก็พบการติดเชื้อไต่จาก 2 หลักเป็น 3 หลัก โดย 10 วันล่าสุดติดเชื้อหลักพันและยังขึ้นไปไม่หยุด แต่อัตราเสียชีวิตต่ำมาก ผอ.กระทรวงสาธารณสุขระบุว่าอาจต้องล็อกดาวน์อีก เพื่อไม่ให้คนไข้เยอะไปกระทบระบบการดูแลสุขภาพล่ม โดยหากล็อกดาวน์ต้องตัดสินใจเร็วใน ก.ย. เพราะมี Jewish Holliday คือมีวันหยุดเยอะ รีเซตเมืองได้ง่ายกว่า ต.ค.ที่จะกระทบเศรษฐกิจ

 

00 ออสเตรเลียพบเด็กติดโควิดมากขึ้น แต่ไม่รุนแรง มีรายงานสายพันธุ์เดลตารุนแรงขึ้น รัสเซียเร่งฉีดวัคซีน

6.ออสเตรเลีย ก่อนหน้านี้การติดเชื้อลงหลายเดือน จนเกิดขึ้นมาอีก เกิดจากคนซิดนีย์ 2 คนเจอเดลตา และกระจายไปเกือบทั่วประเทศในเวลาไม่นาน พบติดเชื้อใหม่ 3 หลัก อัตราเสียชีวิตต่ำ การฉีดวัคซีนยังไม่เยอะ 13.4 ล้านโดส โดย 1 ใน 3 ฉีดเข็มแรก ครึ่งหนึ่งนี้ฉีดครบ 2 เข็ม ซึ่งออสเตรเลียสบายๆ มาตลอด เดิมไม่ได้ขวนขวายหาวัคซีนมาฉีด พอเกิดเหตุขึ้นก็ต้องหามาฉีด แต่รัฐบาลตัดสินใจเร็ว ใช้ความเข้มในการจัดการ มีการควบคุมตามมลรัฐพื้นที่ต่างๆ บางพื้นที่ก็ล็อกดาวน์ ควบคุมการเข้าออกไม่ให้เดินทางระหว่างเมือง มีการพบเด็กติดเชื้อมากขึ้นแต่ไม่รุนแรง และมีการรายงานว่าสายพันธุ์เดลตาไม่ใช่แพร่เร็วอย่างเดียว อาจมีอาการรุนแรงมากขึ้นด้วย และ 7.รัสเซีย มีการเร่งฉีดมากช่วง 2-3 สัปดาห์ ฉีดวันละเป็นล้านโดส แต่ตอนนี้้ช้าลง ซึ่งเริ่มดึงกราฟติดเชื้อลง ติดเชื้อวันละ 2-3 หมื่นราย เสียชีวิต 3 หลัก รัสเซียฉีดเข็มแรก 25.9%

00 ข้อสรุปแต่ละประเทศ เดลตาแพร่เร็ว และมีหลักฐานรุนแรงมากขึ้น

ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า ข้อสรุปประสบการณ์ประเทศต่างๆ เกี่ยวกับเดลตา คือ 1.เชื้อเดลตาแพร่ระบาดเร็วกว่าอัลฟา 60% มีหลักฐานชัดเจนก่อให้เกิดอาการรุนแรงและอันตรายมากกว่าสายพันธุ์เดิม โดยเฉพาะคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน จึงย้ำว่าอย่ากลัววัคซีน เพราะช่วยป้องกันเราจากอาการรุนแรงและเสียชีวิต 2.ผู้มีอาการรุนแรงพบในกลุ่มคนอายุน้อยลง ออสเตรเลียพบติดเชื้อในเด็ก 25% อาจเกิดจากหลายปัจจัย บางประเทศวิเคราะห์ว่าเพราะผู้สูงอายุฉีดวัคซีนแล้ว จึงเจอในคนอายุน้อยลง และธรรมชาติไวรัสอาจก่อความรุนแรง ประเทศไทยก็เจอคนอายุน้อยลง แต่คนอายุน้อยมีปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะโรคอ้วน ทำให้มีอาการเจ็บป่วยที่รุนแรง

3.คนรับวัคซีนครบยังมีโอกาสติดเชื้อและแพร่เชื้อได้ รายงานจาก ม.วิสคอนซิล คนฉีดครบแล้วในอเมริกา ตรวจปริมาณไวรัสในจมูกและคอไม่แตกต่างไปจากผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน เป็นการศึกษาที่ยังไม่ตีพิมพ์ แปลว่าคนเหล่านี้มีโอกาสแพร่ให้คนอื่นไม่แตกต่างกันเลยกับคนไม่รับวัคซีน แต่ติดเชื้ออาการไม่รุนแรง 4.ระบบการฉีดวัคซีนมีการพูดถึงฉีดในเด็ก เพราะเด็กติดเชื้อเยอะ ไม่มีทางเกิดภูมิคุ้มกันหมู่พอที่จะจัดการไวรัสตัวนี้ ตอนนี้เริ่มมีการผลิตวัคซีนที่ปลอดภัยในเด็กเล็ก หลายประเทศมีแนวทางฉีดไปจนถึงอายุ 12 ปี 5.สัดส่วนประชากรรับวัคซีนมากพอมีส่วนสำคัญลดแพร่ระบาดและเสียชีวิต แต่ไม่ควรเป็นข้อบ่งชี้ยกเลิกหรือผ่อนคลายตนเอง 2-3 ประเทศพอผ่อนคลายก็ต้องกลับมาใส่หน้ากาก รักษาระยะห่าง

6.การแพร่ระบาดในคนจำนวนมาก เช่น วันหนึ่งหลายหมื่น อาจพบสายพันธุ์ใหม่ในประเทศนั้น เพราะติดต่อผ่านคนไปเรื่อยๆ มีโอกาสเกิดการกลายพันธุ์ง่าย หากกลายพันธุ์ใหม่และแพร่เร็วกว่าเดิมจะแทนสายพันธุ์เดิม ซึ่งศึกโควิดเราไม่รู้ปลายทางอยู่ตรงไหน หวังว่าเทคโนโลยีเราจะชนะกับความสามารถไวรัสที่กลายพันธุ์ แต่ประชาคมโลกต้องช่วยกัน ตราบใดปล่อยให้แพร่ระบาดเยอะๆ มีโอกาสกลายพันธุ์ใหม่ได้เรื่อยๆ ความปลอดภัยในประเทศใดประเทศหนึ่งเกิดไม่ได้ หากสถานการณ์โลกยังเกิดมากมาย ประเทศฉันปลอดภัยแต่ประเทศอื่นยังติดเยอะ ยืนยันว่าไม่เกิด เพราะการเดินทางระหว่างประเทศง่ายมาก ของ 1 ชิ้นส่งจากที่หนึ่งไปที่หนึ่งมีโอกาสนำไวรัสเข้าไปด้วย และมีโอกาสเข้ามาโดยไม่รู้ตัว

00 ไทยต้องเร่งฉีดวัคซีน และรีบลดความเสียหายจากการเกินศักยภาพระบบบริการสุขภาพ

ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า ประเทศไทย เราฉีด 20 กว่าล้านโดส โดย 22% ฉีดแล้ว 1 เข็ม ครบ 2 โดสประมาณ 6.1% จึงต้องเร่งฉีด แนวทางจัดการโควิดเดลตา เราต้องรีบลดความเสียหายจากการเกินศักยภาพระบบบริการสุขภาพ ตอนนี้ รพ.เบ่งเตียงมากขึ้น ศิริราชกำลังเพิ่มเตียงไอซียูอีก นี่คือปลายทางที่ต้องทำ แต่ดีที่สุดคือต้นทางลดคนติดเชื้อลงให้ได้ ต้องอาศัยการตรวจหาผู้ติดเชื้อ บริหารจัดการเตียงสถานพยาบาล เราจึงลงมาทำเรื่องรักษาที่บ้าน เข้มมาตรการส่วนบุคคล มาตรการสังคม รักษาระยะห่าง ล้างมือ ใส่หน้ากาก ทำคู่กันไป ทำอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ เร่งฉีดวัคซีนเพื่อลดการติดเชื้อ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง การเร่งค้นหาผู้ติดเชื้อและเสี่ยงแพร่เชื้อ ซึ่งมีการนำ ATK เข้ามาตรวจแล้ว ยี่ห้อต่างๆ ที่ขึ้นทะเบียนมีความแม่นยำเกิน 90%

"การตรวจจะค้นหาคนมีแนวโน้มติดเชื้อ และเข้ากระบวนการไม่ให้แพร่เชื่อและรักษาให้เร็ว ซึ่งมีนโยบายออกมา คนกลุ่มอาการไม่เยอะไม่มีอาการ แต่เสี่ยงที่รุนแรงจะมีการให้ยา แต่ต้องลงทะเบียนเข้าระบบเพื่อติดตามอาการได้ ต้องเพิ่มศักภาพการทำรักษาที่บ้านและชุมชน จากที่พูดคุยผู้ป่วยหลายคน คนไม่น้อยอยากอยู่ที่บ้าน เพราะไม่ต้องไปนอนสถานที่ไม่คุ้นเคย แต่ต้องรู้มาตรการอยู่บ้านอย่างไรจะปลอดภัยไม่แพร่เชื้อไม่ติดเชื้อ มีกระบวนการจัดยาไปให้ รับประทานตามกำหนด มีการติดต่อสอบถามอาการ หากมีข้อบ่งชี้จะรุนแรงมากขึ้นเอาเข้ามาระบบสุขภาพ" ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวและว่า เราต้องประสาน 3 เรื่อง คือ มาตรการสังคม มาตรการปกครอง และเร่งวัคซีน หากเกิน 50% มีแนวโน้มทำให้กราฟตกลงมา

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org